ส.ส.พลังธรรมใหม่ ซัด “ประยุทธ์” อยู่มาเกือบ 4 ปี ยังสางปัญหา มสธ.ไม่จบ ปล่อยปมโปรดเกล้าฯ ตำแหน่งอธิการบดี ยืดเยื้อ ไม่มีอธิการตัวจริงกว่า 5 ปี แถมยังมีกรณีส่อใช้เงินหลวงสร้างผลประโยชน์ทับซ้อน
วันนี้ (15 ก.พ.) เมื่อเวลา 15.20 น. นพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส.พรรคพลังธรรมใหม่ อภิปรายในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 28 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง) เป็นพิเศษ เพื่อพิจารณาญัตติของพรรคร่วมฝ่ายค้าน ขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อซักถามข้อเท็จจริงหรือเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152 ถึงการบริหารราชการของนายกรัฐมนตรี ที่ไร้ปัญหาความไร้ธรรมาภิบาลของ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.) กรณี นายวิจิตร ศรีสอ้าน นายกสภา มสธ. กรรมการสภา มสธ. และคณะกรรมการบริหารเงินรายได้และทรัพย์สิน มสธ. มีมติเห็นชอบ และดำเนินการนำเงินรายได้ของมหาวิทยาลัยจำนวน 5,500 ล้านบาท ไปลงทุนกับบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์จัดการกองทุน โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งปัจจุบัน มสธ.นำเงินไปลงทุนกับบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม ทั้งหมด 3 บริษัท ได้แก่ บลจ.กสิกรไทย, บลจ.กรุงไทย และ บลจ.บัวหลวง ไม่เป็นไปตามระเบียบแบบแผนของทางราชการ และอาจมีผลประโยชน์ทับซ้อน ดังนี้
1. มสธ.ไม่มีอำนาจนำเงินไปลงทุน เพราะมาตรา 11 และ 12 แห่งพระราชบัญญัติ มสธ.2521 ไม่ได้ให้อำนาจ มสธ. นำเงินไปลงทุน
2. มสธ.ไม่ปฏิบัติตามระเบียบแบบแผนของทางราชการ เนื่องจาก มสธ.เองเป็นฝ่ายมีหนังสือหารือไปยังกรมบัญชีกลาง เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2560 และกรมบัญชีกลาง ตอบกลับมาว่า ในส่วนของการจ้างบริษัทเงินทุนจัดการเงินทุนของ มสธ. ย่อมที่จะขอความเห็นชอบไปยังสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาก่อนดำเนินการ แต่ มสธ.กลับไม่ดำเนินการตามหนังสือของกรมบัญชีกลาง
3. ประวัติของประธานคณะกรรมการบริหารเงินรายได้และทรัพย์สินของมหาวิทยาลัย เคยทํางานและเกี่ยวพันกับบริษัททางธุรกิจหรือสถาบันการเงินหลายแห่งจนถึงปัจจุบัน ความเกี่ยวพันนี้ อาจมีผลทําให้กระบวนการพิจารณาตัดสินใจนำเงิน มสธ. ไปลงทุนโดยไม่เป็นกลาง และอาจมีลักษณะผลประโยชน์ทับซ้อน หรือไม่
นพ.ระวี กล่าวต่อว่า นายกสภา มสธ. ได้มีคำสั่งแต่งตั้งกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ คือ รองศาสตราจารย์ ดร.มานิตย์ จุมปา ข้าราชการสังกัดคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาดำรงตำแหน่งรักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2564 เป็นต้นมา ปรากฏว่า ยังคงทำงานทั้งที่จุฬาฯ และที่ มสธ. จึงมีคำถามว่า การแต่งตั้งให้ ดร.มานิตย์ มาดำรงตำแหน่งรักษาการแทนอธิการบดี มสธ. ได้มีขั้นตอนและกระบวนการอย่างไร มีการแจ้งขอยืมตัวกับหน่วยงานใด ใครเป็นผู้ขอยืมตัว และมีเหตุผลและความจำเป็นอย่างไร มีการกำหนดระยะเวลาในการขอยืมตัวเป็นไปตามแนวปฏิบัติการยืมตัวข้าราชการไปช่วยราชการที่ถูกต้อง หรือไม่ ที่สำคัญ ได้รับอนุมัติจากปลัดกระทรวงการอุดมศึกษาฯ แล้วหรือยัง
“มสธ. ที่ไม่มีอธิการบดีตัวจริง มานานกว่า 5 ปี แล้ว ทั้งๆ ที่มีการสรรหาได้ผู้สมควรดำรงตำแหน่งอธิการบดีคนใหม่เสร็จนานแล้ว แต่ทว่า สภา มสธ. ไม่ยอมเสนอชื่อส่งต่อให้กระทรวงการอุดมศึกษาฯ โดยอ้างว่า ให้รอคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดก่อน หากแต่กรณีนี้ศาลไม่คุ้มครองชั่วคราว อีกทั้งผู้ได้รับการสรรหาไม่ได้เป็นผู้ถูกฟ้องร้องใดๆ เลย เหตุใดกระทรวงการอุดมศึกษาฯจึงเพิกเฉย ละเลย ล่าช้า ไม่เข้าไปแก้ไขปัญหา มสธ. โดยเร็ว เป็นการเลือกปฏิบัติหรือไม่”
นพ.ระวี กล่าวทิ้งท้ายว่า รัฐบาลจะครบวาระ 4 ปีแล้ว แต่ยังทำอะไรไม่ได้เลยกับ มสธ. ถึงแม้จะมีแนวปฏิบัติตามหลักธรรมาภิบาลในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ. 2564 โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว.เป็นผู้ลงนามแล้ว ตนจึงขอให้นายกรัฐมนตรี ใช้อำนาจและหน้าที่ สั่งการ เร่งรัดการปฏิบัติตามกฎหมายกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทันที ไม่ต้องรอกลับเข้ามาสมัยหน้า แล้วค่อยมาแก้ปัญหา โดยท่านต้องไม่ทิ้งปัญหาธรรมาภิบาล มสธ. ไว้ข้างหลัง