รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 คาด เปิดบริการปี 68 พร้อมเป็นศูนย์กลางระดับเอเชีย รองรับเรือบรรทุกสินค้าใหญ่ที่สุดในโลก ใช้เทคโนโลยีอัตโนมัติเต็มรูปแบบ
วันนี้ (10 ก.พ.) นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ท่าเทียบเรือ F ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการสำคัญตามแผนพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) ดำเนินการโดยการท่าเรือแห่งประเทศไทย มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของท่าเรือแหลมฉบัง รองรับความต้องการขนส่งสินค้าทางทะเลระหว่างประเทศ ซึ่งจะสามารถขยายความจุท่าเรือตู้สินค้าจาก 11 ล้านตู้ต่อปี เป็น 18 ล้านตู้ต่อปี (ทั้งระยะที่ 3) โดยตั้งอยู่บนพื้นที่ 3,600 ไร่ มีมูลค่าการลงทุนทั้งโครงการ 1.09 แสนล้านบาท แบ่งเป็นการลงทุนของภาคเอกชน 6.08 หมื่นล้านบาท และภาครัฐ 4.3 หมื่นล้านบาท ประกอบด้วยสองท่าเรือ ได้แก่ ท่าเรือ F1 และ F2
สำหรับท่าเรือ F1 ได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างทางทะเลแล้ว และอยู่ระหว่างการก่อสร้างงานสาธารณูปโภคและถ้าเทียบเรือ คาดว่า จะสามารถเปิดให้บริการได้ภายในปี 2568 ขณะที่ท่าเรือ F2 จะเริ่มดำเนินการก่อสร้างท่าเทียบเรือภายในปี 2570 ทั้งนี้ โครงสร้างพื้นฐานในท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 นี้ ได้เพิ่มขนาดและความลึกของแอ่งจอดเรือ มีความยาวหน้าท่า 2 กิโลเมตร ความลึก 18.5 เมตร ซึ่งจะทำให้ท่าเรือแหลมฉบังสามารถรองรับเรือขนส่งสินค้ารุ่นใหม่ๆ ที่มีขนาดใหญ่ขึ้น รวมถึงมีระยะกินน้ำลึกเพิ่มขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งกว่าเดิม
นางสาวรัชดา กล่าวถึงการวางระบบการเชื่อมโยงเครือข่ายการขนส่งสินค้าภายในประเทศ ด้วยว่า จะมีการสร้างรางรถไฟเข้าไปถึงหลังท่าเทียบเรือ ซึ่งจะทำให้การขนส่งตู้สินค้าทางรางมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น อีกทั้งจะมีการใช้เทคโนโลยีท่าเรือสมัยใหม่จำนวนมาก อาทิ ระบบยกและขนถ่ายตู้สินค้าอัตโนมัติในลานกองตู้สินค้า ยานพาหนะแบบไร้คนขับ (Automated Guided Vehicle: AGV) ระบบ OCR เพื่อสแกนข้อมูลบนตู้สินค้าโดยอัตโนมัติ ลดความผิดพลาดในการนำส่งข้อมูล
“โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ท่าเทียบเรือ F จะเป็นท่าเรือขนาดใหญ่ มีศักยภาพเป็นศูนย์กลางอีกแห่งของภูมิภาคเอเชีย สามารถรองรับเรือขนาดบรรทุกสินค้าที่ใหญ่ที่สุดในโลก ที่เรียกว่าเรือแม่ได้ และจะมีการบริหารจัดการสินค้าด้วยเครื่องมือที่ทันสมัยเป็นระบบอัตโนมัติเต็มรูปแบบ ใช้แคร่และหุ่นยนต์ดำเนินงาน ปัจจุบันมีประมาณ 20 ท่าเรือทั่วโลก ที่ใช้ระบบนี้” นางสาวรัชดา กล่าว