รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 เพื่อรองรับการขนถ่ายก๊าซธรรมชาติและวัตถุดิบเหลวสำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมี คาดเปิดใช้ท่าเรือก๊าซปี 2570
วันนี้ (8 ก.พ.) นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 เพื่อรองรับการขนถ่ายก๊าซธรรมชาติและวัตถุดิบเหลวสำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมี เพื่อความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ ซึ่งมีมูลค่าการลงทุนทั้งโครงการ 6.4 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นการลงทุนของภาคเอกชน 5.2 หมื่นล้านบาท และภาครัฐ 1.2 หมื่นล้านบาท โดยมีแนวทางการดำเนินการแบ่งเป็น 2 ช่วง ได้แก่ ช่วงที่1 เป็นการร่วมทุนระหว่างการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.) กับเอกชนเพื่อขยายพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด เป็นพื้นที่ถมทะเล 1,000 ไร่ (พื้นที่หลังท่าและหน้าท่าพร้อมใช้งาน 550 ไร่ และพื้นที่กักเก็บตะกอนดิน 450 ไร่) และช่วงที่2 เพื่อก่อสร้างท่าเรือสินค้าเหลว (แปลง A) และพื้นที่คลังสินค้าธุรกิจเกี่ยวเนื่อง (แปลงC)
โดยในช่วงที่1 ข้อมูล ณ วันที่ 12 มกราคม 66 ได้มีการดำเนินการออกแบบโครงสร้างพื้นฐานและงานออกแบบรายละเอียดเรียบร้อยแล้ว ส่วนการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน แบ่งเป็น การถมทะเลคืบหน้า ร้อยละ 35.88 เร็วกว่าแผน ร้อยละ 2.91 ขณะที่การดำเนินการก่อสร้างเขื่อนกันทราย (Revetment) ก่อสร้างได้ระยะทาง 5,410 เมตร มีการใช้หินสะสม 1.17 ล้านลบ.ม. และได้เริ่มงานลงหิน Toe Rock & Rock Underlayer ก่อสร้างได้ระยะทาง 240/5,410 เมตร คาดว่าจะแล้วเสร็จเปิดดำเนินการท่าเรือก๊าซได้ในปี 2570
สำหรับความคืบหน้าของช่วงที่2 อยู่ระหว่างกระบวนการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโดยกนอ. เพื่อก่อสร้างท่าเรือสินค้าเหลว (แปลง A) และพื้นที่คลังสินค้าธุรกิจเกี่ยวเนื่อง (แปลงC) เช่น ธุรกิจโลจิสติกส์ คลังเก็บสินค้า ที่เกี่ยวเนื่องกับผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม หรือปิโตรเคมิคอล ธุรกิจคลังเก็บสารเคมีเหลว ธุรกิจโรงไฟฟ้า เป็นต้น
นางสาวรัชดา กล่าวว่า โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ 3 เป็นหนึ่งในโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ( Eastern Economic Corridor : EEC) มีเป้าหมายเพิ่มขีดความสามารถและความจุในการขนถ่ายก๊าซธรรมชาติ และสินค้าเหลวสำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมี เพื่อรักษาความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ โดยเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการลงทุน และนำความเชี่ยวชาญด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการดำเนินงาน ทั้งนี้ เมื่อโครงการฯแล้วเสร็จ จะสามารถรองรับการขนส่งก๊าซธรรมชาติได้ 31 ล้านตันต่อปี และก่อให้เกิดการกระตุ้นและพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศอย่างมาก