นายกฯ แถลงร่วม นายกฯ มาเลเซีย มุ่งพัฒนาพื้นที่ชายแดนร่วม เป็นเสาหลักแห่งความมั่งคั่ง และ “แผ่นดินทอง” ร่วมกัน สร้างความสุขสงบและความเป็นอยู่ที่ดีแก่ประชาชาชนทั้งสองประเทศ
วันนี้ (9 ก.พ.) เวลา 18.20 น. ณ ตึกสันติไมตรีหลังใน ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถ้อยแถลงในการแถลงข่าวร่วมกับ ดาโตะ เซอรี อันวาร์ อิบราฮิม (Dato’ Seri Anwar Ibrahim) นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ในโอกาสเดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ในฐานะแขกของรัฐบาลไทย ภายหลังเสร็จสิ้นการแถลงข่าวร่วม นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวสรุปสาระสำคัญดังนี้
นายกรัฐมนตรียินดีที่ได้ต้อนรับนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ในโอกาสเยือนไทยอย่างเป็นทางการครั้งแรก หลังจากที่เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ซึ่งนายกรัฐมนตรีมาเลเซียถือเป็นมิตรที่เข้าใจไทย มีส่วนสำคัญในการสานสัมพันธ์ไทย-มาเลเซีย ให้แนบแน่น
ในระหว่างการหารือ ทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นและมุมมองครอบคลุมในทุกมิติ เพื่อความมั่นคงและก้าวหน้าให้แก่ประชาชนอย่างยั่งยืน เห็นพ้องถึงการผสานความร่วมมือ ผลักดันความเชื่อมโยงทุกมิติเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมทั้งแสวงหาความร่วมมือในสาขาใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์ โดยเฉพาะการพัฒนาพื้นที่บริเวณชายแดนไทยและมาเลเซีย ให้เป็นเสาหลักแห่งความมั่งคั่ง เพื่อให้พื้นที่ชายแดนร่วมเป็น “แผ่นดินทอง” ที่มีความสุขสงบ ซึ่งมีผลลัพธ์สำคัญ ดังนี้
ด้านการส่งเสริมการเชื่อมโยงกันในทุกมิติ ทั้งสองฝ่ายมีเจตนารมณ์ร่วมกันที่จะสนับสนุนการไปมาหาสู่และการค้าขายระหว่างไทยและมาเลเซีย โดยเฉพาะการสร้างถนนเชื่อมต่อระหว่างด่านศุลกากรสะเดาแห่งใหม่ของไทยกับด่านศุลกากรบูกิตกายูฮิตัมของมาเลเซีย ตลอดจนการสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโก-ลกแห่งใหม่ รวมถึงการเชื่อมโยงที่ครอบคลุม ทั้งในกรอบทวิภาคีและไตรภาคีอย่าง IMT-GT ที่ช่วยให้การพัฒนาเศรษฐกิจเป็นไปอย่างยั่งยืน และสามารถยังประโยชน์ถึงประชาชนได้ทุกระดับถึงรากหญ้า
ด้านการยกระดับความร่วมมือด้านเศรษฐกิจอย่างรอบด้าน ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องว่า การค้าและการลงทุนระหว่างไทยกับมาเลเซียยังมีศักยภาพและโอกาสในการพัฒนาได้อีกมาก จึงต้องร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดเพื่อเพิ่มมูลค่าและพลวัตของการค้าและการลงทุนระหว่างกัน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการค้า คือ 3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2568
ด้านการพัฒนาพื้นที่บริเวณชายแดนของทั้งสองประเทศ ทั้งสองฝ่ายหารือถึงแนวทางการเชื่อมโยงระหว่างเขตเศรษฐกิจพิเศษในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย และรัฐชายแดนภาคเหนือของมาเลเซีย เพื่อส่งเสริมและดึงดูดการลงทุนระยะยาว และยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชน ในสาขาที่มีศักยภาพ เช่น อุตสาหกรรมยางพารา วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ตลอดจนการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เป็นต้น
ด้านการเสริมสร้างความสัมพันธ์ระดับประชาชน โดยเฉพาะด้านสังคมและวัฒนธรรม ผ่านความร่วมมือ ด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ซึ่งชาวมาเลเซีย ถือเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติกลุ่มใหญ่ที่สุดที่มาท่องเที่ยวไทยในปี 2565 และคนไทยจำนวนไม่น้อยต่างชื่นชอบที่จะไปท่องเที่ยวที่มาเลเซีย
ด้านการร่วมมือกันในระดับภูมิภาคและในเวทีระหว่างประเทศ เพื่อรักษาสันติภาพ ความมั่นคง เสถียรภาพ และความเจริญรุ่งเรืองในภูมิภาค ทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนมุมมองของการพัฒนาในภูมิภาคและในระดับโลก พร้อมย้ำความมุ่งมั่นในการรักษาความเป็นแกนกลางของอาเซียนและการมีเอกภาพในการทำงานร่วมกัน เพื่อรับมือกับความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงทางภูมิรัฐศาสตร์ เศรษฐกิจ และสังคมของโลก
ในช่วงท้าย นายกรัฐมนตรียืนยันเจตนารมณ์ของประเทศไทยในการทำงานร่วมกับนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย และรัฐบาลมาเลเซียอย่างเต็มที่ในทุกระดับ เพื่อขับเคลื่อนความร่วมมือให้เกิดผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมในสาขาที่มีผลประโยชน์ร่วมกัน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ มาเลเซียมาดานี (Malaysia Mandani) ของนายกรัฐมนตรีมาเลเซียที่มุ่งขับเคลื่อนประเทศสู่ความก้าวหน้าอย่างโปร่งใสและมีธรรมาภิบาล โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังเช่นกัน รวมทั้งได้สนับสนุนให้เอกชนมีปฏิสัมพันธ์กันมากขึ้น ช่วยดูแลนักลงทุนไทยในมาเลเซียเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจระหว่างกัน
ภายหลังเสร็จสิ้นการแถลงข่าวร่วม นายกรัฐมนตรี และนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย เยี่ยมชมนิทรรศการศิลปหัตถกรรม ณ โถงกลาง ตึกสันติไมตรี และนายกรัฐมนตรีเป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารค่ำเพื่อเป็นเกียรติแก่นายกรัฐมนตรีมาเลเซียและภริยา ณ ตึกสันติไมตรีหลังนอก
อนึ่ง นายกรัฐมนตรีของทั้งสองประเทศได้ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีแลกเปลี่ยนความตกลง 4 ฉบับ ได้แก่
1. บันทึกความเข้าใจระหว่างการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และ Tenaga Nasional Berhad (TNB) ในการจัดตั้งคณะทำงานร่วมเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ของข้อเสนอในการเสริมสร้างศักยภาพการเชื่อมต่อโครงข่ายสายส่งไฟฟ้าระหว่างคาบสมุทรมาเลเซียและไทย
2. บันทึกความเข้าใจระหว่าง TNB Renewable Sdn. Bhd. (“TRe”) และ Planet Utility Co., Ltd. (“Planet Utility”) เกี่ยวกับข้อเสนอในการร่วมมือสำรวจศักยภาพของเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนและการผลิตพลังงานในประเทศไทย
3. บันทึกความตกลงระหว่าง TNB Power Generation Sdn. Bhd. (“GenCo”) และ B Grimm Power Public Co. Ltd. (“B Grimm”) ซึ่งเกี่ยวกับข้อเสนอในการแสวงหาโอกาสในการทำงานร่วมกัน การมีส่วนร่วม และการพัฒนาโครงการพลังงานหมุนเวียนต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
4. บันทึกความเข้าใจระหว่าง Malaysia Digital Economy Corporation SDN. BHD. (MDEC) และสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa)