xs
xsm
sm
md
lg

“บิ๊กตู่” ต้อนรับนายกมาเลย์ ขับเคลื่อนความร่วมมือทุกมิติ เน้นการค้า พัฒนาพื้นที่ชายแดนสองชาติ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายกฯให้การต้อนรับนายกรัฐมนตรีมาเลเซียเยือนไทยอย่างเป็นทางการ ย้ำ ความสัมพันธ์ในฐานะเพื่อนบ้านที่ใกล้ชิด พร้อมขับเคลื่อนความร่วมมือระหว่างกันในทุกมิติ โดยเฉพาะการค้า และการพัฒนาพื้นที่ชายแดนไทย-มาเลเซีย


วันนี้ (9 ก.พ.) เวลา 16.30 น. ณ บริเวณสนามหญ้าหน้าตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้การต้อนรับ ดาโตะ เซอรี อันวาร์ อิบราฮิม (The Honourable Dato’ Seri Anwar Ibrahim) นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ในโอกาสเยือนไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของรัฐบาลไทย

โดยผู้นำไทยและมาเลเซียได้ร่วมตรวจแถวกองทหารเกียรติยศ ณ บริเวณสนามหญ้าหน้าตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล จากนั้น นายกรัฐมนตรีเชิญนายกรัฐมนตรีมาเลเซียไปยังห้องสีงาช้างด้านนอก เพื่อลงนามในสมุดเยี่ยมและชมของที่ระลึกที่ทั้งสองฝ่ายมอบให้แก่กัน ก่อนหารือข้อราชการเต็มคณะ ในเวลา 17.20 น. ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล โดยฝ่ายไทยมีบุคคลสำคัญเข้าร่วม ดังนี้

พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เลขาธิการนายกรัฐมนตรี พลเอก สุพจน์ มาลานิยม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ และ นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ภายหลังเสร็จสิ้นการหารือ นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยสาระสำคัญของการหารือ ดังนี้

นายกรัฐมนตรียินดีและเป็นเกียรติที่ได้ให้การต้อนรับนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย และคณะผู้แทน ในโอกาสเดินทางเยือนประเทศไทยเป็นประเทศแรกในอาเซียนภาคพื้นทวีป สะท้อนความสัมพันธ์ในฐานะหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์โดยธรรมชาติ (Natural Strategic Partners) และการเป็นเพื่อนบ้านที่ใกล้ชิดในครอบครัวอาเซียน โดยการเยือนในครั้งนี้เป็นโอกาสอันดีที่ทั้งสองฝ่ายจะได้หารือเพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกัน และผลักดันโครงการที่คั่งค้างให้มีความคืบหน้าเป็นรูปธรรมโดยเร็ว โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีชื่นชมวิสัยทัศน์ “มาเลเซีย มาดานี” (Malaysia Madani) ของนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ในการขับเคลื่อนประเทศสู่ความก้าวหน้าโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดของรัฐบาลไทย และเป็นพื้นฐานที่สำคัญในความร่วมมือระหว่างกัน ทั้งนี้ รัฐบาลไทยพร้อมสนับสนุนการดำเนินงานของนายกรัฐมนตรีมาเลเซียอย่างเต็มที่ เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างกันให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

นายกรัฐมนตรีมาเลเซียขอบคุณนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลไทยที่ต้อนรับอย่างอบอุ่น ยินดีที่ไทยและมาเลเซียมีความสัมพันธ์และความร่วมมือที่แน่นแฟ้นในทุกมิติ โดยไทยถือเป็นเพื่อนบ้านที่ใกล้ชิดและเป็นมิตรประเทศที่สำคัญของมาเลเซีย นายกรัฐมนตรีมาเลเซียชื่นชมความมุ่งมั่นของนายกรัฐมนตรีในการส่งเสริมและผลักดันความร่วมมือระหว่างกันให้มีก้าวหน้าอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งมาเลเซียพร้อมให้ความร่วมมือกับฝ่ายไทยอย่างเต็มที่เช่นกัน นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีชื่นชมศักยภาพของไทยในด้านความมั่นคงทางด้านอาหาร และการแสวงหาความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนจากนานาประเทศ โดยมาเลเซียพร้อมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์และแนวปฏิบัติที่ดีจากไทย และขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของทั้งสองฝ่ายทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดต่อไป

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ได้หารือร่วมกันในประเด็นความร่วมมือที่สำคัญ ดังนี้

การส่งเสริมการพัฒนาพื้นที่ชายแดนไทย-มาเลเซีย ซึ่งเป็นพื้นที่โอกาสทางเศรษฐกิจร่วมกัน โดยทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องวางรากฐานพื้นที่บริเวณชายแดนให้เป็น “เสาหลักแห่งความมั่งคั่งร่วมกัน” (pillar of prosperity) พร้อมยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย และ 4 รัฐภาคเหนือของมาเลเซีย ให้มีความสงบสุข มั่งคั่ง มีความเจริญ เป็น “แผ่นดินทอง” (golden land) ที่แท้จริง โดยนายกรัฐมนตรีเห็นว่า ทั้งสองฝ่ายควรเร่งรัดโครงการพัฒนาพื้นที่ชายแดนที่สำคัญให้มีความคืบหน้า ได้แก่ การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษบริเวณชายแดนไทยและมาเลเซีย โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งถนนเชื่อมด่านสะเดาแห่งใหม่ของไทยกับด่านบูกิตกายูฮิตัมของมาเลเซีย และการก่อสร้างสะพานสุไหงโก-ลก - รันเตาปันยัง แห่งที่ 2 ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกด้านการขนส่งและการค้าข้ามแดน กระตุ้นเศรษฐกิจไทยและมาเลเซีย ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนในพื้นที่ของทั้งสองประเทศ ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีมาเลเซียพร้อมร่วมมือกับฝ่ายไทยอย่างใกล้ชิด โดยมาเลเซียจะเร่งดำเนินการลดอุปสรรคต่างๆ ซึ่งจะทำให้โครงการเหล่านี้มีความคืบหน้าและประชาชนของทั้งสองประเทศจะได้ใช้ประโยชน์โดยเร็ว

สถานการณ์จังหวัดชายแดนภาคใต้และความมั่นคงในพื้นที่ชายแดนไทย-มาเลเซีย ซึ่งรัฐบาลไทยให้ความสำคัญเป็นวาระแห่งชาติ โดยเน้นการสร้างความมั่นคงควบคู่กับการพัฒนาอย่างรอบด้าน บนพื้นฐานของการเคารพความเป็นสังคมพหุวัฒนธรรม ตามหลักการ “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” และพยายามดำเนินการใน 3 ด้าน ได้แก่ 1) การพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้เป็นเมืองเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวที่เข้มแข็ง พร้อมทั้งพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ รวมถึงสนับสนุนกิจกรรมแลกเปลี่ยนระดับเยาวชนระหว่างทั้งสองประเทศ 2) ความมั่นคง โดยมีเป้ามายหลักในการยุติความรุนแรงในพื้นที่ และ 3) การพูดคุยเพื่อสันติสุข โดยทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องร่วมกันแก้ปัญหาอย่างจริงจัง เพื่อผลประโยชน์ของทั้งสองประเทศ ทางด้านนายกรัฐมนตรีมาเลเซียพร้อมมีความร่วมมือกับฝ่ายไทย ซึ่งรวมถึงความร่วมมือในการเชื่อมโยงข้อมูลและบูรณาการด้านข่าวกรองระหว่างกัน ตลอดจนการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมายกระดับประสิทธิภาพความมั่นคงชายแดน ซึ่งจะช่วยสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกัน อันเป็นรากฐานสำคัญในการแก้ปัญหาอย่างสันติวิธี

ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องเพิ่มพูนความร่วมมือทางเศรษฐกิจเพื่อบรรลุเป้าหมายทางการค้ามูลค่า 30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2568 โดยให้ความสำคัญกับการขจัดหรือลดอุปสรรคทางการค้าการลงทุนทั้งระบบ พร้อมทั้งใช้ประโยชน์จากกลไกที่มีอยู่ร่วมกันเพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายดังกล่าว นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีเห็นว่า ทั้งสองฝ่ายยังมีศักยภาพที่จะขยายความร่วมมือระหว่างกันได้อีกมาก โดยเฉพาะด้านความมั่นคงพลังงาน และการซื้อขายพลังงาน รวมถึงความร่วมมือในสาขาใหม่ที่มีศักยภาพ อาทิ เศรษฐกิจดิจิทัลและเทคโนโลยีสีเขียว ซึ่งทางนายกรัฐมนตรีมาเลเซียพร้อมขยายความร่วมมือกับฝ่ายไทยมากขึ้น รวมถึงความร่วมมือในการส่งออกน้ำมันปาล์ม

สำหรับประเด็นการสมัครเป็นเจ้าภาพจัดงาน Expo 2028 Phuket ของไทย นายกรัฐมนตรีขอให้มาเลเซียสนับสนุนไทยในการสมัครเป็นเจ้าภาพจัดงานดังกล่าวด้วย ซึ่งจะเป็นโอกาสสำคัญของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งยังไม่เคยได้รับเลือกเป็นเจ้าภาพจัดงานในระดับ Expo ตลอดจนเป็นพื้นที่ให้ทุกประเทศได้มีส่วนร่วมสร้างสรรค์นวัตกรรม นำเสนอจุดแข็งของตัวเอง ตลอดจนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และความร่วมมือเพื่อสร้างอนาคตและคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืนร่วมกัน ซึ่งนายกรัฐมนตรีมาเลเซียพร้อมให้การสนับสนุนไทยอย่างเต็มที่ โดยเห็นว่าจังหวัดภูเก็ตของไทยมีความพร้อมในทุกด้าน ซึ่งนายกรัฐมนตรีมาเลเซียมีโอกาสเดินทางมาท่องเที่ยวหลายครั้ง เปรียบเสมือนบ้านหลังที่สอง

นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นเกี่ยวกับสถานการณ์ในเมียนมาอย่างเปิดกว้างและสร้างสรรค์ ทั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายต่างเห็นพ้องกันในการกระชับความร่วมมือระหว่างกันให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น เพื่อรับมือกับผลกระทบจากความท้าทายในสถานการณ์โลก














กำลังโหลดความคิดเห็น