xs
xsm
sm
md
lg

แบงก์ชาติลาวเอาจริงจับมือญี่ปุ่นทดลอง “เงินกีบดิจิทัล”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


พิธีเซ็น MOU ระหว่างธนาคารแห่ง สปป.ลาว กับตัวแทนองค์กรทางเศรษฐกิจ 3 แห่ง จากประเทศญี่ปุ่น ในโครงการทดสอบการออกเงินสกุลดิจิทัลมาใช้ในลาว
MGR Online - 3 องค์กรเศรษฐกิจจากญี่ปุ่นสนับสนุนแบงก์ชาติลาว เดินหน้าออกเงินสกุลดิจิทัล จับมือร้านค้าทดสอบระบบการใช้เสมือนจริงจนถึงสิ้นเดือน ก.พ. ตั้งเป้าหมายในอนาคตให้เป็นสังคมไร้เงินกระดาษ

วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา กรมควบคุมระบบชำระบัญชี ธนาคารแห่ง สปป.ลาว (ทหล.) ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับบริษัท Soramitsu จากประเทศญี่ปุ่น ในโครงการทดสอบความเป็นไปได้ (Proof of Concept) การใช้เงินสกุลดิจิทัลของธนาคารกลาง โดยมีวัดทะนา ดาลาลอย รองผู้ว่าการ ทหล. Kenichi Kobayashi เอกอัครราชทูตญี่ปุ่น ประจำลาว ตัวแทนจากกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมญี่ปุ่น ซึ่งเป็นองค์กรที่สนับสนุนการทดสอบ ตัวแทนจากสถาบันวิจัย Mitsubishi กับบริษัท Soramitsu ผู้ดูแลการทดสอบ ตลอดจนตัวแทนหน่วยงานรัฐของลาวเข้าร่วม


วัตถุประสงค์ของการเซ็น MOU ครั้งนี้ เพื่อกำหนดเงื่อนไขและขอบเขตความร่วมมือในการทดสอบการออกเงินสกุลดิจิทัลมาใช้ และเป็นส่วนหนึ่งของการค้นคว้าลงลึกทางเทคนิคในโครงสร้างพื้นฐานของระบบชำระบัญชีของ ทหล. ว่าสามารถรองรับการออกเงินสกุลดิจิทัลมาใช้ได้ในอนาคต

คณะผู้ร่วมทดสอบ ประกอบด้วย ตัวแทนจากสถานทูตญี่ปุ่น ประจำลาว ตัวแทนองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JICA) ประจำลาว พนักงาน ทหล. และร้านค้าภายในลาวอีกจำนวนหนึ่ง ระยะเวลาทดสอบเริ่มจากวันที่ 7 กุมภาพันธ์ไปจนถึงสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2566 มีการฝึกอบรมให้แก่ผู้เข้าร่วมทดสอบ และมีการออกเงินสกุลดิจิทัลมาทดลองใช้แบบเสมือนจริง โดยผลการทดสอบจะถูกนำไปเป็นข้อมูลสำหรับ ทหล. เพื่อวางแผนออกเงินสกุลดิจิทัลมาใช้ในระบบ

ตามข่าวที่เผยแพร่ในเพจทางการของ ทหล. ระบุว่า การวางแผนออกเงินสกุลดิจิทัลของ ทหล. เป็นไปตามพัฒนาการของเทคโนโลยีทางการเงินในปัจจุบัน ที่ธนาคารกลางของหลายประเทศกำลังตื่นตัว ศึกษาการออกเงินสกุลดิจิทัลมาใช้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อลดการใช้ธนบัตรที่เป็นกระดาษ

นอกจากนี้ ทหล.ยังมีเป้าหมายที่จะทำให้โครงสร้างระบบชำระบัญชีของประเทศมีความครบถ้วน สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติในแขนงการเงินและเงินตรา และยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบชำระบัญชีในแขนงการธนาคาร-การเงิน ระยะ 5 ปี (2564-2568) ที่เน้นเป้าหมายลดการใช้เงินสด (Cashless Society) และขับเคลื่อนสังคมให้ก้าวสู่เศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy).




กำลังโหลดความคิดเห็น