รมว.คมนาคม ตรวจเยี่ยมและติดตามข้อสั่งการ การอำนวยความสะดวกผู้โดยสารภายหลังสาธารณรัฐประชาชนจีนเปิดประเทศ และติดตามความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาการขนถ่ายกระเป๋าสัมภาระล่าช้า
วันนี้ (9 ก.พ.) นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ตรวจเยี่ยมและติดตามข้อสั่งการการอำนวยความสะดวกผู้โดยสารภายหลังสาธารณรัฐประชาชนจีนเปิดประเทศ และติดตามความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาการขนถ่ายกระเป๋าสัมภาระล่าช้า โดยมี นางสุขสมรวย วันทนียกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม นายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน รองปลัดกระทรวงคมนาคม นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม นายองอาจ ฉัตรชัยพลรัตน์ โฆษกประจำรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. นายกิตติพงศ์ กิตติขจร ผู้อำนวยการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และผู้บริหารระดับสูงหน่วยงานในสังกัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมต้อนรับ ในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2566 ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
.
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ตามนโยบายรัฐบาล โดย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในการเปิดรับนักท่องเที่ยวอย่างเต็มรูปแบบ เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ พร้อมทั้งสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามและประเมินสถานการณ์ให้มีความเหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบันอย่างต่อเนื่อง เพื่อเตรียมความพร้อมมาตรการรองรับนักท่องเที่ยว และเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศ ซึ่งในส่วนของกระทรวงคมนาคมได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานมีความพร้อมทั้งมาตรการให้บริการจราจรทางอากาศและการให้บริการภาคพื้น เพื่อรองรับจำนวนผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ภายหลังจากสาธารณรัฐประชาชนจีนเปิดประเทศ เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2566 ที่ผ่านมา ส่งผลให้มีปริมาณเที่ยวบินและนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น และมีแนวโน้มจะมากขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง ซึ่งจากข้อมูลปริมาณเที่ยวบินและจำนวนผู้โดยสารของ ทอท. (ตั้งแต่วันที่ 8-31 มกราคม 2566) ทอท. มีเที่ยวบินในภาพรวม จำนวน 43,300 เที่ยวบิน หรือเฉลี่ย 1,800 เที่ยวบิน/วัน และผู้โดยสารในภาพรวม 6.89 ล้านคน หรือเฉลี่ย 287,000 คน/วัน โดยเป็นเที่ยวบิน ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จำนวน 25,690 เที่ยวบิน และผู้โดยสารจำนวน 4.3 ล้านคน ซึ่ง ทอท. มีเป็นเที่ยวบินเส้นทางจากสาธารณรัฐประชาชนจีน จำนวน 2,000 เที่ยวบิน หรือเฉลี่ย 80 เที่ยวบิน/วัน โดยมีผู้โดยสาร จำนวน 255,000 คน หรือเฉลี่ย 11,000 คน/วัน ซึ่งเป็นเที่ยวบิน ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จำนวน 1,126 เที่ยวบิน และผู้โดยสารขาเข้า-ขาออก จำนวน 238,374 คน
ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ซึ่งเป็นท่าอากาศยานหลักของประเทศ พบว่า ในเดือนมกราคม 2566 มีปริมาณเที่ยวบิน เฉลี่ย 829 เที่ยวบิน/วัน ฟื้นตัวร้อยละ 84 แบ่งเป็น เที่ยวบินระหว่างประเทศ 561 เที่ยวบิน/วัน ฟื้นตัวร้อยละ 139 และเที่ยวบินภายในประเทศ 268 เที่ยวบิน/วัน ฟื้นตัวร้อยละ 24 และมีผู้โดยสารเดินทางเข้า - ออก เฉลี่ย 138,287 คน/วัน ฟื้นตัวร้อยละ 317 แบ่งเป็นผู้โดยสารระหว่างประเทศ 101,551 คน/วัน ฟื้นตัวร้อยละ 981 และผู้โดยสารภายในประเทศ 36,736 คน/วัน ฟื้นตัวร้อยละ 55 จากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2565
.
จากการประชุมติดตามความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาการขนถ่ายกระเป๋าสัมภาระล่าช้า ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิของผู้ประกอบการภาคพื้นทั้ง 2 ราย (TG และ BFS) ที่ใช้เวลามากกว่า 30 นาที เมื่อเดือนธันวาคม 2565 ซึ่งมีประมาณ 50 เที่ยวบินต่อวัน ปัจจุบัน (เดือนกุมภาพันธ์ 2566) ลดลงเหลือประมาณ 15 เที่ยวบินต่อวัน ซึ่งจะเห็นว่ามีแนวโน้มที่ดีขึ้นตามลำดับ โดยการแก้ไขปัญหาในระยะเร่งด่วนนั้น บริษัทผู้ให้บริการภาคพื้น ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ทั้ง 2 ราย มีการเพิ่มจำนวนบุคลากรและอุปกรณ์ให้สอดคล้องกับจำนวนเที่ยวบินที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วหลังจากการเปิดประเทศ รวมทั้ง ทอท. ได้ขยายระยะเวลาให้บางสายการบินบริการภาคพื้นด้วยตนเอง (Self Handling) เป็นการชั่วคราว สำหรับการแก้ไขปัญหาในระยะยาว ทอท. อยู่ระหว่างการสรรหาผู้ให้บริการภาคพื้นรายที่ 3 เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาที่เกิดขึ้น และเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับปริมาณเที่ยวบิน จำนวนผู้โดยสารที่จะเพิ่มขึ้นอีกในอนาคตได้อย่างยั่งยืน
.
ในส่วนของการจัดระเบียบพื้นที่จุดนัดพบของบริษัทท่องเที่ยว (กรุ๊ปทัวร์) ภายในอาคารผู้โดยสาร ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ซึ่งปัจจุบันมีการเดินทางเป็นหมู่คณะเพิ่มขึ้น ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิได้ดำเนินการจัดระเบียบพื้นที่สำหรับกรุ๊ปทัวร์ตั้งแต่กลางเดือนธันวาคม 2565 เพื่อเป็นการลดความแออัดบริเวณหน้าเคาน์เตอร์เช็กอิน ไม่ให้กีดขวางทางเดินผู้โดยสาร โดยจัดพื้นที่รองรับกรุ๊ปทัวร์ขาออกโดยเฉพาะไว้ที่บริเวณชั้น 4 ประตู 10 ซึ่งจากการดำเนินการมาประมาณ 1 เดือนกว่า บริษัทท่องเที่ยวให้ความร่วมมือในการดำเนินการตามแนวทาง การจัดระเบียบพื้นที่เป็นอย่างดี ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวไม่ทำให้เกิดปัญหาความแออัดของพื้นที่บริเวณชั้น 4 ประตู 10 เนื่องจากปัจจุบันกรุ๊ปทัวร์หนาแน่นในช่วงเวลากลางคืน ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับเที่ยวบินขาออกในเส้นทางยุโรป ญี่ปุ่น เกาหลี เป็นต้น ส่วนกรุ๊ปทัวร์ของนักท่องเที่ยวชาวจีนส่วนใหญ่จะเดินทางขาออกช่วงเวลากลางวัน ซึ่งเป็นคนละช่วงเวลากับกรุ๊ปทัวร์หนาแน่นในช่วงเวลากลางคืน
.
สำหรับประเด็นที่มีการเผยแพร่ทางสื่อออนไลน์จากนักท่องเที่ยวว่าจุดทำ VISA ON ARRIVAL (VOA) มีการเรียกเก็บค่าบริการนั้น กระทรวงคมนาคมได้ตรวจสอบข้อมูลจาก ทอท. และผู้แทนกองบังคับการตรวจคนเข้าเมือง 2 พบว่า ไม่มีการเรียกเก็บค่าบริการดังกล่าว โดยสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองจะเรียกเก็บเพียงค่าธรรมเนียมการขอรับตรวจลงตรา ณ ช่องทางอนุญาตของด่านตรวจคนเข้าเมือง (VOA) ตามกฎหมายเท่านั้น รวมไปถึงการให้บริการช่องทาง Fast Track VISA ซึ่งเป็นการอำนวยความสะดวกแก่ผู้โดยสารทั้ง 10 ประเภท ไม่มีการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมเช่นกัน
ทั้งนี้ ท่าอากาศยานทุกแห่งมีความพร้อมในการรองรับนักท่องเที่ยวภายหลังเปิดประเทศ โดยได้ประสานข้อมูลกับหน่วยงานด้านการท่องเที่ยวเพื่อเตรียมความพร้อมในการเปิดประเทศ ทั้งด้านบุคลากร และสิ่งอำนวยความสะดวก อุปกรณ์ต่าง ๆ ทั้งในส่วน Landside และ Airside ของท่าอากาศยาน เพื่อรองรับผู้โดยสารที่จะเดินทางผ่านเข้า-ออก ท่าอากาศยาน ให้ได้รับความสะดวก รวดเร็วที่สุด โดยได้กำชับให้ผู้ให้บริการภาคพื้น ที่ให้บริการขนถ่ายสัมภาระผู้โดยสาร ดำเนินการขนถ่ายสัมภาระให้ตรงตามเวลาที่กำหนด
.
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้สั่งการให้สร้างความรับรู้ในการปรับปรุงบริการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชนรับทราบ จัดทำวิดีโอคลิปประชาสัมพันธ์บนเครื่องบินเพื่อประชาสัมพันธ์ให้ผู้โดยสาร รวมทั้งมีการพัฒนา service mind ของเจ้าหน้าที่เพื่อยกระดับคุณภาพการบริการของท่าอากาศยานและมีจัดเจ้าหน้าที่คอยให้ความช่วยเหลือ สนับสนุน ผู้โดยสารเมื่อเวลาเกิดปัญหา เพื่อช่วยลดความกังวลให้แก่ผู้โดยสารที่ประสบปัญหา พิจารณาเร่งรัดการดำเนินการโครงการต่างๆ ของ AOT เพื่อให้สามารถดำเนินการแก้ไขปัญหาได้ทันท่วงที ปรับลดขั้นตอนการทำงานในองค์กรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน และมอบให้ ทอท. สนับสนุนข้อมูลสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ในการขยายอัตรากำลังเพื่อรองรับการตรวจคนเข้าเมืองให้สอดคล้องกับการเพิ่มจำนวนของนักท่องเที่ยว มอบให้สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยบริหารจัดการ จัดสรรตารางการบิน ให้แก่สายการบินต่างๆ ปรับเส้นทางบินตรงไปยังท่าอากาศยานในภูมิภาคและปรับช่วงเวลาการเดินทางเพื่อลดความแออัดของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและท่าอากาศยานดอนเมือง รวมถึงกระตุ้นให้เกิดการกระจายการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ และใช้ระบบ IT และ automation มาช่วยปรับปรุงขั้นตอนการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพ
.
ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมความพร้อมดำเนินการตามมาตรการบริหารจัดการ ทั้งการให้บริการและการจราจรทางอากาศ ให้สามารถรองรับปริมาณเที่ยวบินและจำนวนผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นได้ รวมทั้งประสานงานอย่างใกล้ชิดกับสายการบิน และผู้ประกอบการภาคพื้น (Ground Handling) ให้การบริการเป็นไปด้วยความเรียบร้อย และกำชับให้ผู้ประกอบการภาคพื้นจัดหาบุคลากรและยานพาหนะให้เพียงพอแก่การให้บริการผู้โดยสาร เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์กรณีรถ Shuttle Bus ไปรับผู้โดยสารลงจากเครื่องล่าช้าอีกในอนาคต เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้โดยสาร และสายการบิน ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดความปลอดภัยสูงสุด รวมทั้งเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินในทุก ๆ ด้าน อันจะเป็นการสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมการบิน เศรษฐกิจ และการท่องเที่ยวให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของประเทศต่อไป
.
สำหรับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมการบิน กระทรวงคมนาคมมีกำหนดการเปิดให้บริการ SAT-1 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ในเดือนกันยายน 2566 โดยท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเตรียมทดสอบความพร้อมการเปิดให้บริการ (Operational Readiness and Airport Transfer: ORAT) ในช่วงเดือนมีนาคม 2566 เป็นเวลา 6 เดือน ซึ่งปัจจุบันอยู่ในระหว่างผู้ประกอบการภายในอาคาร SAT-1 ดำเนินการตามขั้นตอนเพื่อเข้าปรับปรุงพื้นที่ คาดว่าจะแล้วเสร็จก่อน กันยายน 2566 ในส่วนของรถไฟฟ้า APM ดำเนินงานแล้วเสร็จ 100% ตั้งแต่เดือนกันยายน 2565 มีความพร้อมในการให้บริการในช่วง ORAT และเปิดใช้ SAT-1 สำหรับงานที่อยู่ในระหว่างการทดสอบร่วมกับระบบเดิมที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ คือระบบสายพานลำเลียงกระเป๋า (BHS) และระบบตรวจอาวุธและวัตถุระเบิด (EDS) ขาออก ปัจจุบันดำเนินการไปแล้ว 96%
.
นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ยังกำชับให้ ทอท. ประสานอำนวยความสะดวกจุดรับ-ส่งผู้โดยสาร และบริหารจัดการรถโดยสารสาธารณะและ Taxi ให้เพียงพอ รวมถึงมอบนโยบายให้ ทอท.จัดทำศุนย์บริการข้อมูลระบบขนส่งมวลชน ล้อ-ราง-เรือ ของกรุงเทพมหานคร เพื่อให้บริการข้อมูลการเดินทางและบัตรโดยสารพร้อมทั้งส่วนลดพิเศษให้แก่นักท่องเที่ยวเพื่อส่งเสริมการเดินทางด้วยระบบการขนส่งมวลชนสำหรับประชาชนและผู้ใช้บริการท่าอากาศยานของ ทอท. สามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน SAWASDEE by AOT เพื่อดูข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับท่าอากาศยานและจองการใช้บริการ