รองนายกฯ เผย “ประยุทธ์” มองพรรคการเมืองหาเสียงขายฝัน นโยบายผูกมัด จะเอาเงินมาจากไหน ชี้ งบที่เหลือต้องใช้ถึง ก.ย. ระบุ อภิปราย ม.152 วันแรกหากสภาล่ม ยังถือว่าจบได้
วันนี้ (8 ก.พ.) นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พูดถึงการหาเสียงของพรรคการเมือง ที่บางโครงการใช้ตัวเลขงบประมาณสูง ในวงการประชุม ครม.ว่า เนื่องจากมีประเด็นเกี่ยวกับเรื่องงบประมาณ ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้บอกว่า ระหว่างการหาเสียงที่พูดถึงเรื่องงบประมาณ วันนี้รัฐบาล เงินมีเหลืออยู่เท่านั้นเท่านี้ และยังต้องใช้ไปจนถึงสิ้นปีงบประประมาณเดือนกันยายน ขณะที่งบประมาณใหม่ก็ยังไม่เข้าสภา หากไปเขียนหรือพูดอะไร ที่เป็นการผูกมัด ใช้งบประมาณมาก ซึ่งขณะนี้เท่าที่ฟัง 800,000 ล้านบาท แล้วจะเอาเงินมาจากไหน
“การหาเสียง จะพูดกันเป็นแสน เป็นล้าน ก็ไม่มีใครว่าอะไร เพราะเมื่อถึงเวลา ก็ไม่ทำโดยบอกว่าไม่มีเงินก็เท่านั้นเอง โดยนายกฯ ไม่ได้พูดถึงพรรคการเมืองใด แต่ประเด็นเกิดจากการที่มีคนของบกลางเข้ามามาก นายกฯ บอกว่า งบประมาณเก่าเหลือไม่มาก เหมือนกับการหาเสียง ถ้าเข้ามาช่วงก่อนวันที่ 1 ต.ค.แล้ว มาใช้งบกลางก้อนเดียวกันนี้ ถ้าเราใช้หมด เขาไม่มีอะไรใช้ หากเขาต้องใช้งบประมาณมาก ก็จะใช้ตรงนี้ไม่พอ ซึ่งต้องไปใช่งบประมาณปีหน้า เขาอาจจะมีปัญญาหามาก็ได้” นายวิษณุ กล่าว
นายวิษณุ ยังให้สัมภาษณ์ถึงการอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติ ตามมาตรา 152 ระหว่างวันที่ 15-16 ก.พ.ว่า ทางสำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) จะเป็นผู้เตรียมข้อมูลต่างๆ แต่เชื่อว่าพอถึงเวลารัฐมนตรี มีความชำนาญจะสามารถตอบได้ แม้มีการเตรียมข้อมูลเรื่องตัวเลข แต่ระหว่างพูดอาจไม่ได้ใช้
เมื่อถามว่า ระหว่างการอภิปรายหากองค์ประชุมไม่ครบ ทำให้สภาล่มจะเกิดปัญหาอะไรหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ถ้าล่มตอนอภิปราย ก็ถือว่าจบการอภิปรายก็แค่นั้น แม้จะล่มในการอภิปรายวันแรก ก็ถือว่าจบ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับสภาจะนัดกันว่า หากล่มวันแรก ในวันที่ 2 จะมีการอภิปรายต่อหรือไม่ ซึ่งความจริงไม่จำเป็น เพราะตกลงกันแล้วว่าให้อภิปรายในวันที่ 15-16 ก.พ.นี้ สมมติ หากวันที่ 15 ก.พ. อภิปรายไปถึงเวลา 15.00 น. แล้วมีมือดียกมือขอนับองค์ประชุม ประธานในที่ประชุมอาจจะให้มาอภิปรายต่อในอีกวัน หรืออาจจะเห็นว่าได้มีการอภิปรายกันแล้ว หากองค์ประชุมไม่ครบ ก็แสดงว่า ไม่ติดใจ ก็ถือว่าจบ เพราะการอภิปรายคือ การเปิดโอกาสให้คนที่สงสัยถาม เมื่อจะถามก็ต้องอยู่ ถ้าไม่อยู่ก็แปลว่าไม่มีอะไรจะถาม ไม่เหมือนกับอภิปรายไม่ไว้วางใจ แม้จะล้มก็ต้องให้ครบคนที่ขออภิปราย แต่ครั้งนี้เป็นการอภิปรายทั่วไป ซึ่งไม่รู้ว่าจะอภิปรายใคร เหมือนกับการแถลงนโยบายของรัฐบาล เมื่อแถลงเสร็จก็เปิดให้มีการอภิปราย แต่เมื่ออภิปรายไปสักพักองค์ประชุมก็ล่ม ถือว่าจบการแถลงนโยบาย