xs
xsm
sm
md
lg

“ปานเทพ” เปิดชื่อ ส.ส.ทำสภาล่มซ้ำซาก จี้ลาออก อย่าอยู่เปลืองภาษีประชาชน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ปานเทพ” เปิดรายชื่อ ส.ส.ไม่รายงานตัวจนองค์ประชุมสภาล่มซ้ำซาก ทำร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ ค้างเติ่ง แนะ ส.ส.ไม่พร้อมควรลาออกไป อย่าให้เปลืองภาษีประชาชน

วันนี้ (3 ก.พ.) นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลัยรังสิต ในฐานะโฆษกคณะกรรมการสื่อสารและประชาสัมพันธ์การใช้กัญชาอย่างเข้าใจ กระทรวงสาธารณสุข โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก เปิดเผยถึงรายชื่อ ส.ส.ที่ไม่รายงานตัวเข้าประชุมสภาจนทำให้สภาล่มเมื่อวันที่ 1 ก.พ.ที่ผ่านมา โดยมีรายละเอียดระบุว่า เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2566 ได้ปรากฏว่า ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ได้มีการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ กัญชา กัญชง พ.ศ…. ซึ่งคณะกรรมาธิการ (จากตัวแทนทุกพรรคการเมือง) ได้พิจารณาเสร็จสิ้นแล้ว จึงได้มีการพิจารณาต่อจากการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2566

การประชุมสภาผู้แทนราษฎรมี ส.ส.เหลือทั้งสิ้น 425 คน การจะมีองค์ประชุมครบได้จะต้องมี ส.ส. กึ่งหนึ่ง หรือ ส.ส.มาประชุมทั้งสิ้นไม่น้อยกว่า 213 คน ผลปรากฏว่า มีการอภิปรายลงมติไปได้อีกเพียง 4 มาตรา พอถึงการลงมติมาตราที่ 15 ก็ปรากฏว่า ที่ประชุมสภาเหลือเพียง 203 คนเท่านั้น (ขาดไป 10 คน) ทำให้ไม่ครบองค์ประชุม และต้องปิดประชุมไปในที่สุด

นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องการทำหน้าที่ของ ส.ส. และได้แจ้งว่ามี ส.ส.หลายคนอยู่ในสภาผู้แทนราษฎร แต่ไม่กดรายงานตัว เพราะมีวัตถุประสงค์ให้มีองค์ประชุมไม่ครบ

นั่นแปลว่า มี ส.ส. จำนวนหนึ่งไม่ต้องการให้มีกฎหมายเรื่อง กัญชา กัญชง มาเพื่อใช้ประโยชน์และการบังคับใช้ โดยละทิ้งหน้าที่…

“ไม่ลงมติ” เห็นชอบตามคณะกรรมาธิการเสียงข้างมาก

“ไม่ลงมติ” ไม่เห็นด้วยกับคณะกรรมาธิการเสียงข้างมากที่มีการแก้ไข เพื่อให้กลับไปตามมาตราตามร่างเดิมที่สภาผู้แทนราษฎร (รวมทั้งพรรคเพื่อไทย) เคยเห็นชอบด้วยเสียงข้างมากในวาระรับหลักการมาแล้ว

“ไม่ลงมติ” ให้แก้ไขตามผู้สงวนคำแปรญัตติให้แก้ไข ทั้งจากกรรมาธิการเสียงข้างน้อย และจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

แสดงให้เห็นว่า ส.ส.เหล่านี้พึงพอใจที่จะไม่ให้มีกฎหมายใดๆ ออกมาทั้งสิ้น ใช่หรือไม่

หรือพูดให้เข้าใจง่ายๆ คือ ต้องการสถานภาพกัญชาที่ไม่มีกฎหมายเพื่อมาบังคับใช้เพื่อใช้ประโยชน์และควบคุมอย่างเป็นระบบในระดับพระราชบัญญัติ และต้องการให้สถานการณ์เช่นนี้ดำรงอยู่ต่อไป เพื่อหวังผลประโยชน์ของพรรคการเมืองมากกว่าผลประโยชน์ของประชาชน ใช่หรือไม่?

ข้อสำคัญคือ ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2566 ฝ่ายค้านคือพรรคเพื่อไทย ได้ให้คำมั่นต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ว่า จะอยู่เป็นองค์ประชุมในการพิจารณากฎหมาย กัญชา กัญชง ให้เพื่อแลกกับการที่พรรคภูมิใจไทยยอมให้มีการแทรกญัตติอภิปรายเร่งด่วนกรณีการประท้วงอดอาหารในเรือนจำของ “แบมและตะวัน” ซึ่งพรรคภูมิใจไทยได้ยอมให้พิจารณาญัตติดังกล่าวโดยไม่คัดค้านก่อนที่จะพิจารณากฎหมาย กัญชา กัญชงต่อไป

และข้อสำคัญ นายชวน หลีกภัย ได้เน้นย้ำว่า สภาผู้แทนราษฎรควรจะช่วยกันเร่งรัดการพิจารณา พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ…. ให้แล้วเสร็จ ไม่ว่าจะเห็นด้วย แก้ไข หรือไม่เห็นด้วยในมาตราใดก็ตาม เพื่อที่จะได้พิจารณากฎหมายที่สำคัญที่ประชาชนรออยู่ได้มีการพิจารณาต่อไป เช่น กฎหมายคู่ชีวิต

แต่ผลลัพธ์ในที่สุด คือ องค์ประชุมสภาไม่ครบอีกครั้งเมื่อพิจารณาถึงมาตรา 15 ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2566 โดยผลของการตรวจสอบองค์ประชุมมีดังต่อไปนี้

อันดับ 1 พรรคเพื่อไทย (อันดับ 1 คงเดิม แต่ ส.ส.ไม่รายตัวเพิ่มขึ้น 15 คน) มี ส.ส. ที่ไม่รายงานตัวมากที่สุดถึง 101 คน จาก ส.ส.ของพรรคเพื่อไทยที่เหลือ 117 คน คิดเป็นสัดส่วน ส.ส.ไม่รายงานตัวของพรรคเพื่อไทยร้อยละ 86.32 ของจำนวน ส.ส.ของพรรคเพื่อไทย

โดยในจำนวนนี้ปรากฏว่า มี ส.ส.หลายคนอยู่ในห้องประชุมแต่ไม่กดรายงานตัวเพื่อต้องการให้องค์ประชุมไม่ครบ เช่น นายอุบลศักดิ์ บัวหลวงงาม, นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาล, นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ฯลฯ

ทั้งนี้ ส.ส.พรรคเพื่อไทย มีการ “ไม่รายงานตัวเพิ่มขึ้น” จากครั้งก่อนหน้า คือ มีการไม่รายงานตัวเพิ่มมากขึ้น 15 คน เทียบเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2566 ที่ไม่รายงานตัว 86 คน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน ส.ส.พรรคไทยที่ไม่รายงานตัวร้อยละ 71.07 ของจำนวน ส.ส.ของพรรคเพื่อไทย

อันดับ 2 พรรคพลังประชารัฐ (อันดับ 2 คงเดิม, รายงานตัวเพิ่มขึ้น 1 คน) มี ส.ส. ไม่รายงานตัว 34 คน จาก ส.ส.ของพรรคพลังประชารัฐ 79 คน คิดเป็นร้อยละ 43.94 โดยการไม่รายงานตัวลดลงหรือมารายงานตัวเพิ่มขึ้น 1 คน จากวันที่ 18 มกราคม 2566 ซึ่งในขณะนั้นมีผู้ไม่รายงานตัวร้อยละ 44.30

อันดับ 3 พรรคประชาธิปัตย์ (อันดับ 3 คงเดิม ส.ส.ไม่เข้าประชุมเท่าเดิม) มี ส.ส.ไม่รายงานตัว 32 คน จาก ส.ส.ของพรรคประชาธิปัตย์ 50 คน ส.ส.ของพรรคประชาธิปัตย์ที่ไม่รายงานตัว คิดเป็นร้อยละ 64 ของ ส.ส.ทั้งหมดของพรรคประชาธิปัตย์ การขาดประชุม “เท่าเดิม” เมื่อเทียบการประชุมเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2566

อันดับ 4 พรรคก้าวไกล (อันดับ 4 คงเดิม แต่ ส.ส.เข้าประชุมเพิ่มขึ้น 13 คน) มี ส.ส. พรรคก้าวไกล ไม่รายงานตัว 10 คน จาก ส.ส.ของพรรคก้าวไกล 44 คน คิดเป็นร้อยละ 22.72 “มี ส.ส.รายงานตัวเพิ่มขึ้น” 13 คนเทียบกับการประชุมเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2566 ซึ่งในการประชุมครั้งนั้น ส.ส.พรรคก้าวไกล ไม่รายงานตัว 23 คนคิดเป็นสัดส่วน ส.ส.ที่ไม่รายงานตัวร้อยละ 52.27

อันดับ 5 (ร่วม) พรรคประชาชาติ (จากอันดับที่ 7, ส.ส.ขาดประชุมทุกคน ไม่รายงานตัวเพิ่มขึ้น 1 คน) มี ส.ส. ไม่รายงานตัว 7 คนจาก ส.ส.ของพรรคประชาชาติ 7 คน คิดเป็นร้อยละ 100 เทียบกับการประชุมเมื่อวันที่ 18 มกราคตม 2566 มี ส.ส. ไม่รายงานตัวในที่ประชุม 6 คน (มาประชุม 1 คน) คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 85.7

อันดับ 5 (ร่วม) พรรคเศรษฐกิจไทย (จากอันดับที่ 6 คงเดิม, ส.ส.ขาดประชุมเท่าเดิม) พรรคเศรษฐกิจไทย มี ส.ส.ไม่รายงานตัว 7 คนจาก ส.ส.ของพรรคเศรษฐกิจไทย 11 คน คิดเป็นร้อยละ 63 การไม่รายงานตัวคงเดิมเมื่อเทียบกับการประชุมเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2566

อันดับ 5 (ร่วม) พรรคเสรีรวมไทย (อันดับที่ 9, ส.ส.ขาดประชุมเพิ่มขึ้น 2 คน) พรรคเสรีรวมไทย มี ส.ส.ไม่รายงานตัว 7 คนจาก ส.ส.ของพรรคเศรษฐกิจไทย 10 คน คิดเป็นร้อยละ 70 การไม่รายงานตัวเพิ่มขึ้น 2 คน เมื่อเทียบกับการประชุมเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2566 ที่พรรคเสรีรวมไทย มี ส.ส. ขาดประชุม 5 คน คิดเป็นร้อยละ 50

อันดับ 8 พรรคชาติไทยพัฒนา (อันดับคงเดิม ส.ส.ขาดประชุมคงเดิม) มี ส.ส. ไม่รายงานตัวในที่ประชุมคือ 6 คน จาก ส.ส.ของพรรคชาติไทยพัฒนา 12 คน คิดเป็นร้อยละ 50 โดยจำนวน ส.ส.ที่เข้าประชุม และไม่เข้าประชุมเท่าเดิมเมื่อเทียบกับการประชุมเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2566

อันดับ 9 พรรคเพื่อชาติ (ขึ้นมาจากอันดับที่ 10 ) มี ส.ส.ไม่รายงานตัวในที่ประชุม,ขาดประชุม 4 คนจาก ส.ส.ของพรรคเพื่อชาติ 4 คน คิดเป็นร้อยละ 100

อันดับ 10 พรรคภูมิใจไทย (ตกจากอันดับที่ 5) มี ส.ส.ไม่รายงานตัว 3 คน จาก ส.ส.ของพรรคภูมิใจไทย 61 คน คิดเป็น สัดส่วน ส.ส.ที่ไม่รายงานตัวของพรรคภูมิใจไทย ร้อยละ 4.91

โดยในการประชุมครั้งนี้ ส.ส. พรรคภูมิใจไทยเข้าประชุมรายงานตัวเพิ่มขึ้น 9 คน เทียบกับการประชุมเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2566 ซึ่งในครั้งนั้นมี ส.ส.ผู้ไม่รายงานตัว 12 คน มีสัดส่วนร้อยละ 12.9 ของ ส.ส.พรรคภูมิใจไทยพ.ร.บ.กัญชาฯ (อันดับ 10 คงเดิม, ส.ส.ขาดประชุมคงเดิม) มี ส.ส. ไม่รายงานตัว 2 คนจาก ส.ส.ของพรรคเศรษฐกิจใหม่ 6 คน คิดเป็นร้อยละ 33.33

อันดับ 11 พรรคเศรษฐกิจใหม่ (อันดับ 10 คงเดิม, ส.ส.ขาดประชุมคงเดิม) มี ส.ส. ไม่รายงานตัว 2 คนจาก ส.ส.ของพรรคเศรษฐกิจใหม่ 6 คน คิดเป็นร้อยละ 33.33

อันดับที่ 12 พรรคโอกาสไทย (จากอันดับที่ 14) ไม่เข้าประชุม 2 คน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 100 จากเดิมเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2566 ที่เข้าประชุม 1 คน จาก ส.ส. 2 คน

อันดับที่ 13 พรรครวมพลัง (จากอันดับ 11 มี ส.ส. เข้าประชุมเพิ่มขึ้น 1 คน) ทำให้การประชุมครั้งนี้มี ส.ส. พรรครวมพลังไม่รายงานตัว 1 คนจาก ส.ส.ของพรรครวมพลัง 4 คน คิดเป็นร้อยละ 25

อันดับที่ 14 พรรคชาติพัฒนากล้า (จากอันดับ 13 เข้าประชุมเพิ่มขึ้น 2 คน) มี ส.ส. ไม่รายงานตัว 1 คนจาก ส.ส.ของพรรคชาติพัฒนากล้า 3 คน คิดเป็นร้อยละ 33.33 โดยมีการเข้าประชุมเพิ่มขึ้น 2 คน เทียบกับการประชุมเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2566 ที่ ส.ส. ทั้งพรรคไม่เข้าประชุมแม้แต่คนเดียว

อันดับที่ 15 พรรคอื่นๆ (อันดับคงเดิม) ได้แก่ พรรคไทยศรีวิไลย์, พรรคประชาธิปไตยใหม่, พรรคประชาภิวัฒน์, พรรคพลังปวงชนไทย, พรรคเพื่อชาติไทย มี ส.ส.ที่ไม่รายงานตัวพรรคละ 1 คนจา กส.ส. แต่ละพรรค 1 คนคิดเป็นร้อยละ 100

อันดับที่ 16 พรรคพลังธรรมใหม่ และพรรคครูไทยเพื่อประชาชน เข้าประชุม 1 คนจาก จำนวน ส.ส.ทั้งหมดของแต่ละพรรค 1 คน จากเดิมเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2566 ไม่เข้าประชุม

อันดับ 17 พรรคพลังท้องถิ่นไทย (จากอันดับที่ 11) ไม่มี ส.ส.ขาดประชุมแม้แต่คนเดียว โดยมี ส.ส.เข้าประชุมเพิ่มขึ้น 2 คนจากการประชุมเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2566 จึงทำให้ ส.ส. พรรคพลังท้องถิ่นไทยเข้าประชุมทุกคน จาก ส.ส.ของพรรคท้องถิ่นไทย 5 คน

อันดับที่ 18 พรรคพลเมืองไทย มี ส.ส. 1 คน เข้าประชุมครบทั้ง 2 ครั้ง

สรุปคือ พรรคที่มีการปรับตัวดีขึ้นจากวันที่ 18 มกราคม 2566 ในการเข้าร่วมเป็นองค์ประชุมเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน เรียงตามลำดับได้แก่ พรรคภูมิใจไทย, พรรคก้าวไกล, พรรคพลังท้องถิ่นไทย, พรรคชาติพัฒนากล้า, พรรคพลังธรรมใหม่, พรรคครูไทยเพื่อประชาชน ซึ่งต้องขอบคุณทุกพรรคที่ได้แสดงเจตนาในการปรับตัวในการทำงานในสภาผู้แทนราษฎรดีขึ้นกว่าเดิม

ส่วนพรรคฝ่ายรัฐบาล ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ มีสัดส่วนการไม่รายงานตัวมากที่สุดถึงร้อยละ 64 ของจำนวนในพรรค รองลงมาคือ พรรคพลังประชารัฐไม่รายงานตัวถึงร้อยละ 43.94

ทั้งสองพรรครัฐบาลยังไม่ได้มีการปรับตัวให้ดีขึ้นในเรื่องการรายงานตัวเข้าร่วมประชุมสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าพรรคร่วมรัฐบาลยังไม่ได้ให้ความร่วมมือมากพอในการเป็นองค์ประชุมเพื่อลงมติ เห็นด้วย ไม่เห็นด้วย หรือแก้ไข ในกฎหมาย กัญชา กัญชง ย่อมแสดงให้เห็นถึงความต้องการให้สถานการณ์กัญชาปัจจุบันของกัญชาดำเนินต่อไปโดยปราศจากกฎหมายในระดับพระราชบัญญัติในการใช้ประโยชน์และควบคุมกัญชาอย่างเป็นระบบ

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พรรคเพื่อไทย มี ส.ส. ที่ไม่รายงานตัวเป็นองค์ประชุมเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนจากร้อยละ 71.07 กลายเป็นไม่รายงานตัวถึงร้อยละ 86.32 และยังมี ส.ส. อีกจำนวนไม่น้อยอยู่ในที่ประชุมแต่ไม่รายงานตัว อันแสดงเจตนาเพื่อทำให้องค์ประชุมไม่ครบ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า ส.ส.พรรคเพื่อไทยโดยส่วนใหญ่ได้ละทิ้งในการทำหน้าที่ในการพิจารณาหรือแก้ไข ร่าง พ.ร.บ. กัญชา กัญชง ของคณะกรรมาธิการอย่างชัดเจน อีกทั้งยังไม่ได้ปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาที่มีต่อสภาผู้แทนราษฎรว่าจะเข้าเป็นองค์ประชุมให้ความร่วมมือในการพิจารณากฎหมาย กัญชา กัญชง เพื่อแลกกับการนำญัตติ “แบมและตะวัน” แทรกอภิปรายก่อนในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2566

จึงเรียนมาเพื่อแจ้งต่อประชาชน ตามบัญชีรายชื่อ ส.ส.ที่ได้แนบมานี้ เพื่อให้พี่น้องประชาชนได้รับทราบการทำงานของท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ทำหน้าที่ของตัวเองให้คุ้มค่าต่อภาษีประชาชนหรือไม่

นอกจากนั้น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคนใดที่ไม่เข้าประชุมซ้ำซาก เพื่อหวังจะทำให้ไม่มีกฎหมายออกมาบังคับใช้เพื่อใช้ประโยชน์และควบคุมกัญชา ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ และไม่ลงมติเพื่อเห็นด้วย ไม่เห็นด้วย หรือเห็นด้วยให้แก้ไข รายมาตรานั้น ควรจะสำนึกต่อการทำหน้าที่ของตัวเองว่ายังทำงานคุ้มค่าภาษีของประชาชนอยู่หรือไม่

และถ้าไม่พร้อมจะทำหน้าที่ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ส.ส.เหล่านี้ก็ควรจะลาออกไป เพื่อให้ไม่ต้องเป็นภาระต่อองค์ประชุม และไม่ควรมานั่งกินเงินเดือนจากภาษีของประชาชนโดยไม่ทำหน้านี้เช่นนี้ต่อไป

ขอเรียกร้อง ต่อ ส.ส. ที่เหลืออยู่ และยังเลือกที่จะกินเงินเดือนจากภาษีของประชาชน ได้รักษาเกียรติของตัวเองในการเข้าประชุมสภาผู้แทนราษฎรให้ครบองค์ประชุมและดำเนินการพิจารณาเห็นชอบ แก้ไข ร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง ให้แล้วเสร็จโดยเร็วที่สุดต่อไป





























กำลังโหลดความคิดเห็น