xs
xsm
sm
md
lg

"หมอชูชัย " ดันยกเครื่องสธ. ชูปฏิรูปสุขภาพชุมชน 1 ในนโยบายด่วนพปชร.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



มูลนิธิแพทย์ชนบทผลักดันนโยบายยกเครื่องสาธารณสุข ปฏิรูประบบสุขภาพปฐมภูมิชุมชน จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน มุ่งส่งเสริมสุขภาพป้องกัน-รักษา-ฟื้นฟู-ดูแลแบบประคับประคอง สู่หนทางตายดี

นพ.ชูชัย ศุภวงศ์ ประธานกรรมการมูลนิธิแพทย์ชนบท คนไทยคนแรกเจ้าของรางวัลผู้นำด้านสาธารณสุข (Leadership Award in Public Health Practice) จากโรงเรียนสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด  เปิดเผยหลัง ตอบรับเทียบเชิญจากทีมนโยบายพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) นำเสนอ “ทิศทางการปฏิรูประบบสุขภาพปฐมภูมิ” เพื่อนำไปพิจารณาเป็นนโยบายพรรค ต่อ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ในวันที่ 24 – 25 ม.ค. 66ว่า ได้ชูนโยบายเสาหลักระบบสุขภาพปฐมภูมิ ลดความเหลื่อมล้ำ คือนโยบายการปฏิรูประบบสุขภาพปฐมภูมิ (ชุมชน) อย่างมีคุณภาพ ทั่วถึงและเป็นธรรม ครอบคลุมนโยบายผู้สูงอายุติดเตียง ติดบ้าน - นโยบายพัฒนาเด็กปฐมวัย 0-6 ปี สร้างเด็กไทยเก่งดี มีความสามารถ ข้อมูลแน่นปึ้กกะเทาะปัญหาแตกกระจุย ซึ่ง พล.อ.ประวิตรได้ขานรับนโยบายการปฏิรูประบบสุขภาพปฐมภูมิชุมชนฯ เป็น 1 ใน 3 เรื่องเร่งด่วนของนโยบายพปชร. เตรียมขึ้นเวทีเสวนาหาข้อสรุปแนวนโยบายต่าง ๆ ของพปชร. ต่อไป   
นพ.ชูชัยระบุว่าระบบสุขภาพปฐมภูมิ...ปฏิรูปเชิงรุกจับต้องได้  ว่ากันไปตามจริงระบบสุขภาพปฐมภูมิ...ไม่ใช่ !! การรักษาขั้นพื้นฐาน ราคาถูก คุณภาพต่ำ หรือเพียง การคัดกรองโรคขั้นต้น แต่เป็นการดูแลสุขภาพอย่างมีคุณภาพ เข้าใจชีวิตของผู้คน “จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน” เป็นระบบสุขภาพเชิงรุก ที่ใช้บ้าน ชุมชนเป็นฐาน - มีการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม - การดูแลที่ต่อเนื่องและผสมผสาน - ใช้เทคโนโลยีการแพทย์ทางไกล (Telehealth, Telemedicine) - สร้างการทูตเพื่อสาธารณสุขบริบทอาเซียน (Asean Context Health Diplomacy) เป็นแนวทางปฏิรูปประเทศลดความเหลื่อมล้ำ – สร้างความเสมอภาค – กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น – สร้างความเข้มแข็งของชุมชนเมืองและชนบท เรียกง่าย ๆ เป็นระบบดูแลตนเอง กำหนดสุขภาพชุมชน !! ดูแลถึงครัวเรือน พื้นที่ต่าง ๆ ในชุมชน ใช้งบประมาณก็ไม่มาก แต่มีประสิทธิภาพ ประสิทธิผลสูง ตัวอย่างรูปธรรมในการดำเนินเชิงรุก อาทิ การดูแลผู้สูงอายุติดเตียงที่บ้าน - การทดลองแนวทางปฏิรูปเขตสุขภาพ (Sandboxes) – การดูแลผู้ป่วยอัมพาต - ค้นหาผู้ป่วยกลุ่มโรคไม่ติดต่อในชุมชนเมือง ชุมชนแออัด และชนบท เน้นให้ตรวจด้วยตัวเอง เช่น ชุดตรวจเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โควิด-19 คัดกรองมะเร็ง – งานอนามัยโรงเรียน – ฝุ่นPM 2.5 จากโรงไฟฟ้าชีวมวล         
นพ.ชูชัยชี้ให้เห็นว่า นโยบายการปฏิรูประบบสุขภาพปฐมภูมิ...จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน ได้ยกตัวอย่างนโยบายดูแลผู้สูงอายุติดเตียง ติดบ้าน...โดยมุ่งส่งเสริมสุขภาพ - ป้องกัน - รักษา - ฟื้นฟู - การดูแลแบบประคับประคอง ตลอดจนการตายดี (Good Death) นำพาคนในครอบครัวไปสู่สุคติ ไม่ใช่ทุรนทุรายในไอซียูที่เต็มไปด้วยสายระโยงระยางของอุปกรณ์ทางการแพทย์ ซึ่งตอนนี้มีจำนวน 5 แสนรายทั่วประเทศ โดยกรอบกระบวนการดำเนินงาน และวิธีการขับเคลื่อนนโยบายเชิงรุกถึงครัวเรือน ชุมชน ให้ปรากฏผลจริงภายใน 3 – 6 เดือน เคาะงบประมาณอยู่ที่ 1 หมื่นล้านบาทต่อปี เพื่อลดทุกขภาวะของพี่น้องคนไทยไม่น้อยกว่า 5 แสนครอบครัว พร้อมเร่งฝึกอบรมอาสาสมัครบริบาลท้องถิ่น เพื่อร่วมกันดูแลผู้สูงอายุที่บ้าน ร่วมกับพยาบาล แพทย์ บุคลากรสาธารณสุขที่ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล - โรงพยาบาลชุมชนระดับอำเภอ  - โรงพยาบาลทั่วไประดับจังหวัด ยังเป็นการสร้างงานในชนบทไม่น้อยกว่า 1 แสนตำแหน่งได้อีกด้วย
นพ.ชูชัย กล่าวว่า สำหรับนโยบายพัฒนาเด็กปฐมวัย 0-6 ปี เป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาประเทศ เป็นวัยที่สมองมีการพัฒนา และสำคัญต่อการเรียนรู้มากที่สุด ปัจจุบันมีจำนวน 4.7 ล้านคน และเกือบ 1 ล้านคนในศูนย์เด็กเล็กกว่า 2 หมื่นแห่งทั่วประเทศ ด้านโภชนาการ - การเลี้ยงดู – การส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนาการต่าง ๆ - ฝึกครู – การปรับปรุงสิ่งแวดล้อมเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้แบบลงมือทำ (Active Learning) เพื่อให้เด็กเก่ง ดีและมีคุณภาพ เคาะ 4 ปีใช้งบประมาณ 2 พันล้านบาท นำร่องส่งเสริมสนับสนุน ศูนย์เด็กเล็กกว่า 2 หมื่นแห่งทั่วประเทศ พร้อมทำงานร่วมกับอบจ. - เทศบาล - อบต. เมืองพัทยา และกทม.

นพ.ชูชัย กล่าวเมื่อครั้งขึ้นรับรางวัลผู้นำด้านสาธารณสุข ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด โดยยก 8 ข้อปฏิรูประบบสุขภาพปฐมภูมิ ประกอบด้วย 1. การกระจายอำนาจและจัดสรรงบประมาณสู่รัฐบาลท้องถิ่น (อบจ. เทศบาลและอบต.) เพื่อสนับสนุนระบบสุขภาพปฐมภูมิ และระบบดูแลตนเองของครอบครัว โดยจัดสรรทุนให้นักเรียนในพื้นที่ระดับอำเภอ พิจารณาให้โควต้าบุตรหลานของอสม. มุ่งลดความเหลื่อมล้ำที่ดำรงอยู่ 2. กระจายงบประมาณสำหรับระบบสุขภาพปฐมภูมิ โดยจัดสรรงบประมาณต่อหัวประชากรต่อปีผ่าน สำนักงานประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพื่อทำงานเชิงรุกให้แก่ในพื้นที่ ในลักษณะการใช้บ้านและชุมชนเป็นฐาน - การดูแลสุขภาพแบบองค์รวม – การดูแลที่ต่อเนื่องและผสมผสาน 3. ทำการศึกษาวิจัยเชิงระบบ เพื่อพัฒนาระบบสุขภาพปฐมภูมิและระบบดูแลตนเองของชุมชน โดยการสนับสนุนของสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) อาทิ ลำสนธิโมเพล ที่สังเคราะห์องค์ความรู้ระบบดูแลผู้สูงอายุติดเตียง นำไปสู่การปรับแก้ระเบียบและประกาศกระทรวง ฯ 4 ฉบับ 4. เร่งผลิต อบรมอาสาสมัครบริบาลท้องถิ่น ในหลักสูตรอนามัยเพิ่มขึ้น เพราะยังมีสัดส่วนน้อยมากเมื่อเทียบกับผู้สูงอายุติดเตียงทั่วประเทศกว่า 1.5 แสนคน - ผู้สูงอายุติดบ้านราว 1 ล้านคน จากจำนวนผู้สูงอายุเกิน 60 ปี ทั่วประเทศประมาณ 13 ล้านคน

และ 5. การทดลองแนวทางปฏิรูปเขตสุขภาพ (Sandbox) และขยายพื้นที่ ในโรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลเสริมสุขภาพตำบลในพื้นที่ 8 แห่งทั่วประเทศ รวมทั้งการศึกษา พัฒนาระบบสารสนเทศและการสื่อสาร เชื่อมประสานระหว่างครัวเรือน ชุมชน กับโรงพยายามเครือข่าย ในการติดตามดูแล – ระบบส่งต่ออย่างมีประสิทธิภาภ พ 6. สถานการณ์มลภาวะทางอากาศ ที่ต้องเผชิญกับปัญหาฝุ่นPM 2.5 สารก่อมะเร็ง จากโรงไฟฟ้าชีวมวล โรงงานอุตสาหกรรม และอื่น ๆ มีผลกระทบร้ายแรงต่อสุขภาพของผู้คน เป็นปัญหาระดับชาติและภูมิภาคอาเซียนที่ต้องร่วมกันหาทางออกร่วมกัน พึ่งพาช่วยเหลือซึ่งกันและกันอย่างจริงใจ 7. ร่วมกันขับเคลื่อนผลักดัน “ร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีด้วยการเสริมสร้างชุมชนเข้มแข็ง หรือสมัชชาพลเมืองตำบล อำเภอ จังหวัด...” ให้ทุกภาคส่วนในพื้นที่ร่วมกำหนดทิศทางการพัฒนาท้องถิ่น โดยความสมัครใจในการสร้างสุขภาวะของชุมชนในทุกด้าน ตามอำนาจอธิปไตยที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญไทย และ8. พัฒนาและขยายเครือข่ายไปยังหน่วยงาน องค์กรต่าง ๆ อาทิ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล สถาบันพระปกเกล้า เครือข่ายสิ่งแวดล้อม เครือข่ายสื่อมวลชน สื่อสังคมออนไลน์ ร่วมขับเคลื่อนการปฏิรูประบบสุขภาพปฐมภูมิทั้งระบบมีความเข้มแข็งและยั่งยืน
         
 
 
 
 
         
 


กำลังโหลดความคิดเห็น