วันนี้ (1 ก.พ.) นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) เปิดเผยว่า จังหวัดภูเก็ต เป็นจังหวัดเดียวที่มีลักษณะภูมิประเทศเป็นเกาะ และเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงระดับโลก ซึ่งเป็นที่รู้จักในเรื่องของหาดทรายที่สวยงาม น้ำทะเลใสเหมาะสำหรับการดำน้ำดูปะการัง ความสวยงามของทะเลอันดามัน จึงเป็นจุดดึงดูดให้ผู้คนจากทั่วโลกเข้ามาเยือนทั้งบนเกาะและใต้ทะเล เป็นเหตุผลที่ทำให้นักดำน้ำปักหมุดมุ่งหน้ามาดำน้ำในพื้นที่ทะเลจังหวัดภูเก็ต
นายวราวุธ เผยว่า สำหรับนักดำน้ำที่หลงใหลบรรยากาศความเงียบสงบและความสวยงามของโลกใต้ทะเล คงไม่อยากให้สิ่งเหล่านี้ถูกทำลายไป ความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องในการปฏิบัติตัวของนักดำน้ำและนักท่องเที่ยวจึงจำเป็นต้องเรียนรู้ก่อนเสมอ โดยผู้ประกอบการจะต้องให้ความรู้ด้านการดำน้ำอย่างถูกวิธีแก่นักดำน้ำก่อนจะลงดำน้ำดูปะการัง รวมถึงเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ที่ต้องประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้และเข้าใจด้านกฎ ระเบียบ ข้อบังคับของการดำน้ำดูปะการัง ตลอดจนอบรมให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการและอาสาสมัครพิทักษ์ทะเล เพื่อย้ำเตือนให้นักดำน้ำและนักท่องเที่ยวปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด
นายวราวุธ เผยต่อว่า ในการนี้ ตนได้สั่งการให้ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ขยายความร่วมมือกับภาคส่วนอื่นๆ เพื่อแก้ไขปัญหาอย่างเป็นองค์รวม โดยยึดหลักการท่องเที่ยวอย่างปลอดภัยใส่ใจสิ่งแวดล้อม ไม่หยิบจับอะไรไปจากทะเล ไม่เหยียบ เตะ หรือยืนบนปะการัง ไม่ให้อาหารสัตว์ทะเล ไม่ทิ้งอะไรไว้ในทะเล ไม่เก็บอะไรมาจากทะเล รักษาระยะห่างจากสัตว์ทะเล ไม่ส่องแสงไฟไปยังสัตว์ทะเลโดยตรง ไม่บริโภคและส่งเสริมการค้าสัตว์ทะเลหายากหรือสัตว์ต้องห้าม ให้เก็บเพียงภาพถ่ายไว้ในความทรงจำจะดีที่สุด เพื่อลดการทำลายระบบนิเวศใต้ทะเล อีกทั้งเพิ่มความคงอยู่และความสมบูรณ์ของทรัพยากรทางทะเลเป็นสำคัญ
“นอกจากนี้ ได้มอบหมายให้ นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กำชับให้หน่วยงานในกระทรวง ทส. ที่เกี่ยวข้อง เร่งขยายพื้นที่บังคับใช้กฎหมายคุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ตลอดจนประสานความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในพื้นที่ทั้ง 24 จังหวัดชายฝั่งทะเล ดำเนินการให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ต่อไป” รมว.ทส. กล่าว
ด้าน นายอภิชัย เอกวนากุล รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รักษาราชการแทนอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวว่า กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) เป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ในการอนุรักษ์ และฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง โดยเฉพาะทรัพยากรปะการังของไทยซึ่งมีพื้นที่แนวปะการังประมาณ 149,182 ไร่ แบ่งออกเป็นทะเลอ่าวไทยประมาณ 75,426 ไร่ และฝั่งทะเลอันดามัน 6 จังหวัดประมาณ 73,756 ไร่
นายอภิชัย กล่าวอีกว่า โดย กรม ทช. รับผิดชอบพื้นที่แนวปะการังนอกเขตอุทยานแห่งชาติทางทะเลครึ่งหนึ่งหรือประมาณ 70,906 ไร่ ซึ่งในประเทศมีพื้นที่แนวปะการังอยู่ทั่วไป 17 จังหวัด ในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตมีแนวปะการังประมาณ 13,732 ไร่ อยู่ตามเกาะ และอ่าวต่างๆ รอบเกาะภูเก็ต เช่น เกาะราชาใหญ่ ราชาน้อย เกาะเฮ เกาะโหลน อ่าวป่าตอง กะตะ กะรน รวมถึงบริเวณไม้ท่อน เป็นต้น
นายอภิชัย กล่าวต่อว่า ส่วนใหญ่อยู่ในสภาพสมบูรณ์ปานกลาง หรือประมาณร้อยละ 53 มีหลายแห่งที่อยู่ในสภาพเสียหายหรือเสื่อมโทรม โดยเฉพาะในพื้นที่ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว และที่ทราบกันดีว่ากิจกรรมท่องเที่ยว การทิ้งสมอเรือ และภัยธรรมชาติ คือสาเหตุหลักที่ทำให้ปะการังในภูเก็ตเสื่อมโทรม รูปแบบความเสียหายในหลายพื้นที่เป็นการสูญเสียพื้นที่อย่างถาวร หมายความว่าแต่ก่อนเคยมีแนวปะการัง ต่อมาเมื่อปะการังตายจากสาเหตุต่างๆ โดยเฉพาะพื้นที่แนวปะการังเขากวางเมื่อตายก็จะผุกร่อนยุบตัวลง หรือถูกคลื่นซัดออกไปเหลือแต่พื้นที่ทรายหรือในหลายพื้นที่มีการเหยียบย่ำของนักท่องเที่ยวตลอดเวลาจนทำให้พื้นที่ที่เดิมเหลือแต่ทราย เกิดความไม่เหมาะสมไม่มีฐานให้ตัวอ่อนปะการังธรรมชาติที่ล่องลอยในน้ำลงยึดเกาะ ก่อเป็นตัวใหม่หรือสามารถฟื้นฟูกลับมาได้ด้วยตัวเอง จึงจำเป็นต้องดำเนินการฟื้นฟูโดยนำวัสดุรูปแบบต่างๆ จัดวางเป็นฐานให้ตัวอ่อนลงเกาะ
นายอภิชัย กล่าวเสริมว่า ดังเช่นในครั้งนี้ จึงเป็นหน้าที่ของกรม ทช. ที่จะต้องดำเนินการ เช่น ในพื้นที่เกาะไม้ท่อน เกาะราชาใหญ่ และอีกหลายพื้นที่มีพื้นที่ว่างหรือที่เคยเป็นแนวปะการัง เกาะไม้ท่อนมีพื้นที่แนวปะการังรวมประมาณ 329 ไร่ และมีพื้นที่ต้องฟื้นฟูโดยจัดวางฐานประมาณ 80 ไร่ กรม ทช. จึงได้หาวิธีการพัฒนารูปทรงให้มีความสวยงามและกลมกลืนเข้ากับธรรมชาติ จึงได้ร่วมกับบริษัท เอสซีจี นำเทคโนโลยี 3D Printing มาออกแบบวัสดุคอนกรีต โดยได้นำไปทดลองจัดวางพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ เกาะไม้ท่อน เกาะราชาใหญ่ จ.ภูเก็ต, เกาะเต่า จ.สุราษฎร์ธานี และเกาะสีซัง จ.ชลบุรี ซึ่งก็ได้ผลดีมีตัวปะการังลงเกาะ และสัตว์น้ำเข้าไปอาศัยมากขึ้น
อย่างเช่น วันนี้ (1 ก.พ.) กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ร่วมมือกับจังหวัดภูเก็ต กรมเจ้าท่า องค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต และสโมสรโรตารีเหมืองแร่ภูเก็ต ลงนามในพิธีบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการบูรณาการความร่วมมือเพื่อฟื้นฟูแนวปะการังจังหวัดภูเก็ต ซึ่งตนเป็นผู้แทนกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงฯ กับ นายณรงค์ วุ่นซิ้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต , นายณชพงศ ประนิตย์ ผู้อำนวยการสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาภูเก็ต , นายเรวัต อารีรอบ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต และ นายศาสวัส หลิมพานิชย์ นายกสโมสรโรตารีเหมืองแร่ภูเก็ต
นายอภิชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการลงบันทึกข้อตกลงฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดวางวัสดุฐานลงเกาะตัวอ่อนปะการังจำนวน 39 ชุด โดยมีรูปทรงสวยงามและกลมกลืนเข้ากับธรรมชาติ เป็นการนำเอาเทคโนโลยี 3D Printing มาออกแบบวัสดุคอนกรีต สำหรับนำไปฟื้นฟูแนวปะการังในพื้นที่เกาะไม้ท่อน ตำบลวิชิต อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต และฟื้นฟูแนวปะการังธรรมชาติ ในรูปแบบการจัดวางฐานลงเกาะตัวอ่อนปะการัง เพิ่มความสมบูรณ์ความสวยงามของแนวปะการังและท้องทะเล รวมทั้งส่งเสริมสร้างศักยภาพแหล่งท่องเที่ยวของจังหวัดภูเก็ต อีกทั้งสร้างการมีส่วนร่วม และส่งเสริมการสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์และฟื้นฟูแนวปะการัง ให้กับเยาวชนและประชาชนในจังหวัดภูเก็ตต่อไปในอนาคต เพื่อให้เกิดความสมบูรณ์และใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนตามเจตนารมณ์ของทุกฝ่าย
“อย่างไรก็ตาม ความร่วมมือและการสนับสนุน รวมถึงการมีส่วนร่วมระหว่างหน่วยงานภาครัฐในพื้นที่ อย่างจังหวัดภูเก็ต องค์กรบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต สโมสรโรตารีเหมืองแร่ภูเก็ต ซึ่งเป็นหน่วยงานพันธมิตรในพื้นที่ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในการฟื้นฟูแนวปะการังของจังหวัดภูเก็ต อันเป็นทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศทางทะเล เป็นแหล่งรายได้ทั้งด้านการท่องเที่ยว และการประมงของประชาชนในจังหวัดภูเก็ต ภายใต้ข้อตกลงบูรณาการความร่วมมือ เพื่อฟื้นฟูแนวปะการังจังหวัดภูเก็ตให้เกิดความสมบูรณ์และใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนตามเจตนารมณ์ของทุกฝ่ายในอนาคตต่อไป” นายอภิชัย กล่าวทิ้งท้าย