xs
xsm
sm
md
lg

อุทยานฯ เผยภาพสัตว์ทะเลสุดแปลก หายากในไทย “เม่นทะเล” หรือเม่นหมวกกันน็อก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



อุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เผยภาพสัตว์ทะเลสุดแปลก จัดเป็นสัตว์ทะเลหายากในประเทศไทย เม่นทะเลเรียกว่าเม่นหมวกกันน็อก หรือเม่นหมวกเหล็ก พบที่เกาะราชา จังหวัดภูเก็ต

วันนี้ (22 ม.ค.) เพจ "ประชาสัมพันธ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช" ได้เผยภาพเม่นหมวกกันน็อก โดยระบุว่า “รู้จักเม่นหมวกกันน็อก เม่นหมวกเหล็กหรือยัง ถ้ายังเรามาทำความรู้จักกับสัตว์ทะเลชนิดนี้กัน เม่นหมวกกันน็อก หรือเม่นหมวกเหล็ก (Colobocentrotus atratus) พวกมันไม่ใช่ “หอย” แต่เป็น “เม่นทะเล” ซึ่งจัดเป็นสัตว์ในกลุ่มผิวลำตัวเป็นหนาม (Echinoderm) เช่นเดียวกับ ดาวทะเล ดาวขนนก ดาวเปราะ และปลิงทะเล จัดเป็นสัตว์ทะเลหายากในประเทศไทย ตามลำตัวไม่มีหนามแหลมเหมือนเม่นทะเลทั่วๆ ไป ลักษณะเป็นแผ่นหรือเกล็ดคลุมลำตัว คล้ายกระเบื้องมุงหลังคาบ้าน

ถิ่นอาศัย : ปกติแล้วสามารถพบได้ทั่วไปในเขตอินโด-แปซิฟิก และมหาสมุทรอินเดีย ในประเทศไทยจะพบได้ยากมาก ลักษณะของเม่นหมวกกันน็อกแปลกกว่าเม่นชนิดอื่นๆ หนามที่ปกคลุมลำตัวปรับรูปร่างไปเป็นแผ่นเหมือนกระเบื้องมุงหลังคาแทน เพื่อให้เหมาะกับถิ่นที่อยู่อาศัย เม่นชนิดนี้อาศัยในพื้นที่ที่มีคลื่นลมรุนแรงตลอดเวลา การมีหนามแหลมจะเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการดำรงชีวิต และอีกเหตุผลหนึ่งก็คือคลื่นลมที่แรงทำให้มีนักล่าจำนวนน้อยที่จะเข้าถึงตัวพวกมันได้
สืบค้นข้อมูลงานวิจัยพบว่าได้มีงานวิจัยเกี่ยวกับการทดสอบแรงยึดเกาะของเม่นหมวกกันน็อก Santos & Flammang (2007) โดยพบว่าเม่นหมวกกันน็อกสามารถต้านทานแรงปะทะคลื่นได้ตั้งแต่ความเร็ว 17.5 เมตรต่อวินาที ไปจนถึง 27.5 เมตรต่อวินาที ซึ่งหากเปรียบเทียบให้เห็นภาพความเร็ว 27.5 เมตรต่อวินาที คือเป็นแรงที่สามารถถอนต้นไม้ได้ทั้งต้น

การค้นพบสัตว์ชนิดนี้ หอยเม่นหมวกกันน็อกพบได้ทั่วไปตามโขดหินตามชายหาดที่มีคลื่นซัดถึง ในแถบ Indo-West Pacific และฮาวาย แต่ในประเทศไทยมีรายงานการพบหอยเม่นชนิดนี้น้อยมาก โดยรายงานการพบครั้งแรกในปี 2530 โดย ดร.สมชัย บุศราวิช จากโครงการ First PMBC/DANIDA Training course and workshop on taxonomy, biology and ecology of echinoderms และมีรายงานการพบครั้งล่าสุดในปี 2547 โดย ดร.สุเมตต์ ปุจฉาการ สถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล มหาวิทยาลัยบูรพา ในรายงาน Putchakarn.S and Sonchaeng.P (2004). Echinoderm Fauna of Thailand: History and Inventory Reviews. ScienceAsia 30 (2004): 417-428 ซึ่งทั้งสองครั้งพบที่เกาะราชา จ.ภูเก็ต”

คลิกโพสต์ต้นฉบับ








กำลังโหลดความคิดเห็น