xs
xsm
sm
md
lg

วิทยาลัยเทคนิคระยอง จับมือทรู 5G มหาวิทยาลัยบูรพา และมิตซูบิชิ อีเล็คทริค ยกระดับอาชีวศึกษา สร้างคนเก่งด้าน AI ขับเคลื่อนอุตสาหกรรม 4.0

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ดร.อภิชาต ทองอยู่ (กลาง) ประธานคณะทำงานประสานงานด้านการพัฒนาบุคลากรในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC HDC) เป็นประธานในพิธีลงนามความร่วมมือ “โครงการพัฒนาศูนย์ปัญญาประดิษฐ์เพื่อุตสาหกรรมด้วยเทคโนโลยี 5G” ระหว่างวิทยาลัยเทคนิคระยอง โดย นายชาคริต รุ่งรัตน์ (ที่ 2 จากซ้าย) รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหารทรัพยากร และกลุ่มทรู โดยนายพิรุณ ไพรีพ่ายฤทธิ์ (ที่ 2 จากขวา) หัวหน้าคณะทำงานและกรรมการยุทธศาสตร์ 5G บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น ร่วมด้วยมหาวิทยาลัยบูรพา โดย ดร.ไพบูลย์ ลิ้มปิติพานิชย์ (ซ้าย) ผู้อำนวยการอีอีซี ออโตเมชัน พาร์ค และมิตซูบิชิ อีเล็คทริค โดย นายปฤณวัชร ปานสิงห์ (ขวา) เจ้าหน้าที่การตลาดอาวุโส บริษัท มิตซูบิชิ อีเล็คทริค แฟคทอรี่ ออโตเมชัน (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือทางวิชาการด้านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) โดยใช้อุปกรณ์และเทคโนโลยีเครือข่ายอัจฉริยะ ทรู 5G เพื่อยกระดับด้านการศึกษาและพัฒนาทักษะด้าน AI ของนักศึกษาและบุคลากรในภาคอุตสาหกรรม สร้างคนที่มีความรู้ความสามารถที่จะเป็นพลังสำคัญร่วมขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมไทยเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลเต็มรูปแบบ และสนับสนุนการพัฒนาโซลูชันที่ตอบโจทย์และสามารถนำไปใช้งานได้จริงในภาคธุรกิจยุคอุตสาหกรรม 4.0 ซึ่งจะเพิ่มศักยภาพภาคอุตสาหกรรมไทย รองรับการเติบโตของเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี (EEC) ที่เป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศตามนโยบายประเทศไทย 4.0 โดยพิธีลงนามจัดขึ้น ณ วิทยาลัยเทคนิคระยอง เมื่อเร็วๆ นี้

ว่าที่เรือตรีชูชีพ อรุณเหลือง ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคระยอง กล่าวว่า วิทยาลัยเทคนิคระยองมุ่งเน้นการสอนด้านอาชีวศึกษาที่ก้าวทันเทคโนโลยีและนวัตกรรมในภาคอุตสาหกรรมที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว พร้อมเพิ่มขีดความสามารถและทักษะวิชาชีพของนักศึกษา เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานในยุคดิจิทัล เราเชื่อว่า นวัตกรรมและดิจิทัลคือความรู้ที่เป็นทั้งอาวุธและเครื่องมือในการดำรงชีวิต สามารถต่อยอดพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศให้เจริญก้าวหน้าต่อไปได้ สังคมต้องการแรงงานที่มี Hard Skills และ Soft Skills การได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล จากสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ภายใต้ความร่วมมือกับ ทรู 5G รวมทั้งศูนย์อีอีซี ออโตเมชัน พาร์ค มหาวิทยาลัยบูรพา และบริษัท มิตซูบิชิ อีเล็คทริค แฟคทอรี่ ออโตเมชัน (ประเทศไทย) จำกัด จะช่วยยกระดับคุณภาพอาชีวศึกษาของไทยไปสู่ความเป็นเลิศในอนาคต โดยวิทยาลัยเทคนิคระยองมีความพร้อมรองรับทั้งในด้านสถานที่และวัสดุอุปกรณ์ และจะจัดทำหลักสูตรการเรียนการสอน รวมทั้งกิจกรรมเสริมทักษะของนักศึกษาและบุคลากรในภาคอุตสาหกรรมให้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์มากยิ่งขึ้น ซึ่งถือเป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์ของการเรียนสายอาชีพให้ดียิ่งขึ้นด้วย

นายพิรุณ ไพรีพ่ายฤทธิ์ หัวหน้าคณะทำงานและกรรมการยุทธศาสตร์ 5G บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์เป็นหนึ่งในเทคโนโลยีดิจิทัลล้ำสมัยที่สามารถผสานการทำงานกับอัจฉริยภาพของเทคโนโลยี 5G พัฒนาเป็นนวัตกรรมขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงของภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ในหลากหลายมิติ ความร่วมมือกับวิทยาลัยเทคนิคระยอง และเหล่าพันธมิตรองค์กรชั้นนำในโครงการนี้จึงนับเป็นโอกาสสำคัญที่กลุ่มทรูจะได้มีส่วนร่วมในการสร้างนักศึกษา บุคลากร และผู้มีทักษะดิจิทัลด้าน AI ที่จะร่วมกันทรานส์ฟอร์มภาคอุตสาหกรรมไทยสู่ดิจิทัล โดยกลุ่มทรู พร้อมนำศักยภาพเครือข่ายอัจฉริยะทรู 5G ที่มีความเสถียรและความปลอดภัยของข้อมูลสูง สามารถรับส่งข้อมูลได้แบบเรียลไทม์ รวมถึงอุปกรณ์และเครื่องมือด้านเทคโนโลยีขั้นสูง เช่น 5G Private Network, Network Slicing และ MEC ตลอดจนทีมงานที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ ร่วมแบ่งปันประสบการณ์และให้คำปรึกษา เพื่อสนับสนุนการเรียนรู้และการพัฒนาทักษะของนักศึกษาและบุคลากรในภาคอุตสาหกรรม มั่นใจว่าการร่วมมือกันระหว่างสถาบันการศึกษาที่มีความพร้อมด้านองค์ความรู้ และภาคเอกชนที่มีความแข็งแกร่งด้านเทคโนโลยี ภายใต้การสนับสนุนของภาครัฐในครั้งนี้ จะส่งเสริมการสร้างสรรค์นวัตกรรม AI ที่ตอบโจทย์ตรงความต้องการและสามารถใช้งานได้จริงในภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมการผลิต ยกระดับวงการอุตสาหกรรมของไทยให้พร้อมรองรับการเติบโตของเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งเป็นพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญตามยุทธศาสตร์ “ประเทศไทย 4.0” ของภาครัฐที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันระหว่างประเทศ สอดคล้องกับความตั้งใจของกลุ่มทรูในการสร้างระบบนิเวศ 5G (5G Ecosystem) ด้วยการผสานความร่วมมือกับทุกภาคส่วน เพื่อผลักดันการนำ 5G ไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อคนไทยและประเทศไทย

ดร.ไพบูลย์ ลิ้มปิติพานิชย์ ผู้อำนวยการอีอีซี ออโตเมชัน พาร์ค คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา กล่าวว่า อีอีซี ออโตเมชัน พาร์ค เป็นศูนย์การเรียนรู้และพัฒนากำลังคนด้านออโตเมชันและหุ่นยนต์ เพื่อเสริมสร้างทักษะ ยกระดับเทคโนโลยีการผลิตในประเทศไทยก้าวสู่อุตสาหกรรม 4.0 การทำงานของอีอีซี ออโต เมชัน พาร์ค ไม่ได้เป็นเพียงการทำงานแบบ Standalone แต่เป็นการดำเนินงานร่วมกับพันธมิตรต่างๆ ซึ่งความร่วมมือทั้ง 4 ฝ่ายที่เกิดขึ้น ทางอีอีซี ออโตเมชัน พาร์ค ยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะสนับสนุนทั้งในด้านบุคลากร อุปกรณ์หรือเครื่องมือ รวมถึงการจัดกิจกรรมการพัฒนาบุคลากรด้านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ และ 5G เพื่อนำไปสู่เป้าหมายเดียวกันในด้านการพัฒนาทักษะให้นักเรียน นักศึกษาระดับอาชีวศึกษาเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่ตลาดแรงงานภาคอุตสาหกรรม

นายวิเชียร งามสุขเกษมศรี กรรมการบริหาร บริษัท มิตซูบิชิ อีเล็คทริค แฟคทอรี่ ออโตเมชัน (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า มิตซูบิชิ อีเล็คทริค หนึ่งในฐานะผู้พัฒนาเทคโนโลยีและผลิตอุปกรณ์ด้านระบบอัตโนมัติการผลิต (Factory Automation) ที่ครบวงจรแนวหน้าของโลก โดยบริษัทได้นำความรู้และประสบการณ์ร่วมปรับปรุงด้านระบบการผลิตกับทางผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมทั่วโลกมากว่า 100 ปี เพื่อนำมาเชื่อมต่อกันเพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายและเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการโรงงานอุตสาหกรรม โดยการนำแนวคิดของระบบ e-F@ctory(Smart Factory concepts) ซึ่งเป็นการผนวกเทคโนโลยี Factory Automation กับ IT ผสมผสานและเชื่อมต่อกันได้อย่างสมบูรณ์แบบ ตลอดเวลากว่า 20 ปี ได้พัฒนาเทคโนโลยีและอุปกรณ์ที่ทันสมัยต่างๆ พร้อมขยายความร่วมมือกับกลุ่มพันธมิตรอย่างต่อเนื่อง จนถึงปัจจุบันมีมากกว่า 1,000 บริษัททั่วโลก ทั้งยังร่วมกับพันธมิตรพัฒนาระบบด้านการผลิตให้ภาคอุตสาหกรรมทั่วโลกมาแล้วกว่า 10,000 โรงงาน ซึ่งบริษัทมีความยินดีอย่างยิ่งที่ได้มีส่วนร่วมสนับสนุนการผลักดันอุตสหกรรมในประเทศไทยให้พัฒนาความสามารถด้านการแข่งขันได้ในตลาดโลกและเติบโตได้อย่างยั่งยืน รวมถึงการพัฒนาศักยภาพครูอาจารย์ นักเรียน นักศึกษา และบุคลากรที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สามารถตอบโจทย์สถานการณ์การขาดแคลนแรงงานด้านนี้ของภาคอุตสาหกรรม และถือยังว่าเป็นการช่วยส่งเสริมศักยภาพให้เด็กไทยสามารถแข่งขันทักษะด้านระบบอัตโนมัติได้ในระดับเวทีสากลอีกด้วย โดยทางบริษัทยินดีให้การสนับสนุนด้านอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องต่างๆ และรวมถึงการส่งทีมงานวิศวกรผู้ชำนาญการเข้าร่วมกิจกรรมการฝึกอบรมตามแผนงานความร่วมมือนี้ด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น