ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม โพสต์ขอบคุณกลุ่มชาวประมงหลังลงอวนและจับปลาโรนัน ซึ่งป็นปลาหายากได้ และจากนั้นได้ปล่อยคืนลงทะเล
เมื่อวันที่ 15 ม.ค. มีผู้ใช้เฟซบุ๊ก "ภักดี นวไพบูลย์" โพสต์คลิปวิดีโอลงในกลุ่ม "GenePoolAquarium V.3" วินาทีของกลุ่มชาวประมงลงอวนและได้ปลาโรนันตัวใหญ่ จากนั้นกลุ่มชาวประมงปล่อยปลาตัวดังกล่าวลงคืนทะเล เพราะทราบดีว่าเป็นปลาที่หายาก โดยผู้โพสต์ะบุข้อความว่า "โชคดีของเอ็ง ขอบคุณชาวประมงลำนี้ที่ไม่เอาชีวิต"
ต่อมาเฟซบุ๊ก “Thon Thamrongnawasawat” หรือ ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้แชร์โพสต์ดังกล่าว พร้อมระบุข้อมูลเพิ่มเติมว่า "พี่ๆ ชาวประมงลงอวนแล้วได้ปลาโรนันตัวใหญ่ขึ้นมา พี่ๆ ทราบดีว่าเป็นปลาหายาก แม้ไม่ผิดกฎหมายแต่ปล่อยดีกว่า ความเข้าใจแบบนี้แหละครับสำคัญกว่าใดๆ เพราะปลาใหญ่ที่พี่ปล่อยไป หมายถึงหลายสิบหลายร้อยลูกปลาโรนันในอนาคต ขอบคุณพี่ๆ ทุกท่านที่ช่วยกันดูแลไทย น่ารักน่าชื่นชมจริงๆ ครับ
ปลาโรนัน - เป็นปลากระดูกอ่อน กึ่งฉลามกึ่งกระเบน ความยาวอาจมากกว่า 2 เมตร พบได้ทั้งอ่าวไทยและอันดามัน ปลากลุ่มนี้ออกลูกเป็นตัว แต่ละครั้งมีจำนวนไม่มาก จึงมีจำนวนลดน้อยลง ปลาฉนาก ญาติของโรนัน ปัจจุบันสูญพันธุ์จากทะเลไทยแล้ว ปลาโรนันหายากมาก ปัจจุบันเป็นสัตว์คุ้มครอง โรนันพอเหลืออยู่บ้าง เป็นปลาที่นักดำน้ำชอบมาก มีความพยายามผลักดันให้เป็นสัตว์คุ้มครอง แต่ยังไม่สำเร็จ ปัจจุบันยังมีปลา/เนื้อปลาขายอยู่บ้าง เป็นปลาหายาก เราไม่ควรซื้อครับ"