xs
xsm
sm
md
lg

นายกฯ ปลื้มกำหนดอัตราค่าจ้างมาตรฐานฝีมือเพิ่ม หนุนต่อยอดงาน ตปท.- สร้างธุรกิจเอง ชี้ จนแพ้คนขยัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ประยุทธ์” ยินดีกำหนดอัตราค่าจ้างมาตรฐานฝีมือเพิ่มเติมอีก 3 สาขาอาชีพ รวมเป็น 17 อาชีพ ได้สูงกว่าขั้นต่ำ คุ้มครองสิทธิหนุนยกระดับฝีมือ สร้างขวัญกำลังใจ นายจ้างมีตัวเลือกเพิ่ม สร้างความเชื่อมั่นนักลงทุน พร้อมหนุนทำงาน ตปท.- สร้างธุรกิจเอง ยกความจนแพ้คนขยัน

วันนี้ (1 ก.พ.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แฟนเพจเฟซบุ๊กของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม โพสต์ข้อความถึงเรื่องแรงงาน มีเนื้อหาดังนี้ พี่น้องประชาชนชาวไทยที่รักครับ

ผมมีความยินดีอย่างยิ่ง ที่รัฐบาลได้บรรลุเป้าหมายไปอีกขั้นหนึ่ง ในการดูแลพี่น้องแรงงานชาวไทย ด้วยการกำหนด “อัตราค่าจ้างมาตรฐานฝีมือ” เพิ่มเติมอีก 3 สาขาอาชีพ ได้แก่ (1) ช่างอุตสาหการ เช่น ระบบงานเชื่อมด้วยหุ่นยนต์ งานเมคาทรอนิกส์และหุ่นยนต์อุตสาหการ (2) ช่างเครื่องกล เช่น งานซ่อมรถแทรกเตอร์การเกษตร งานควบคุมเครื่องจักรรถขุด-รถตัก-รถลาก (3) อาชีพภาคบริการ เช่น การดูแลเด็กปฐมวัย ช่างเครื่องช่วยคนพิการ และนักส่งเสริมสุขภาพต่างๆ เป็นต้น รวมทั้งสิ้น 17 สาขา ให้มีอัตราค่าจ้างในช่วง 465-715 บาท/วัน ตามลักษณะงาน ที่ต้องอาศัยทักษะความรู้แต่ละงานแตกต่างกันไป ซึ่งทั้งหมดจะได้รับค่าตอบแทนที่สูงกว่าค่าจ้างขั้นต่ำที่เป็นเกณฑ์อ้างอิง สำหรับทั้งแรงงานไทยและแรงงานต่างด้าว

จากการกำหนดอัตราค่าจ้างมาตรฐานฝีมือในครั้งนี้ ทำให้แรงงานไทยมีโอกาสได้รับเงินตอบแทน "รายสาขาอาชีพ" และตามระดับทักษะฝีมือ เพิ่มขึ้นเป็น 129 สาขา (จากเดิม 112 สาขา) ซึ่งรัฐบาลได้มีการทบทวนปรับปรุงให้สอดคล้องกับตลาดแรงงาน ทั้งภายในและภายนอกประเทศ มาอย่างต่อเนื่องทุกปี เพื่อคุ้มครองสิทธิของลูกจ้าง/แรงงาน และส่งเสริมให้มีการยกระดับทักษะฝีมือแรงงานควบคู่กันไปด้วย โดยที่ผ่านมาศูนย์ฝึกอาชีพ ของกระทรวงแรงงาน ได้รับความสนใจอย่างมากจากบริษัทเอกชน ในการส่งแรงงานเข้ามาฝึกฝีมือ ยกระดับทักษะในการทำงานให้มีความเชี่ยวชาญมากขึ้น เพราะต้องการประสิทธิภาพในการทำงาน จากลูกจ้างที่มีศักยภาพสูงขึ้น

ผลดีที่จะเกิดขึ้นจากการกำหนดอัตราค่าจ้างมาตรฐานฝีมือนั้นมีหลายประการ ดังเช่น
(1) แรงงานได้รับค่าตอบแทนสูงขึ้น ขวัญกำลังใจดีขึ้น ส่งเสริมให้มีการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง
(2) นายจ้าง มีโอกาสคัดเลือกลูกจ้างจากผู้ที่มีทักษะ สร้างความเชื่อมั่นในการประกอบธุรกิจ เป็นการลงทุนด้านทรัพยากรบุคคลที่คุ้มค่า โดยเฉพาะในสาขาที่ต้องการทักษะและความเชี่ยวชาญสูง
(3) เสริมสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ที่ตัดสินใจตั้งฐานการผลิต หรือตั้งสถานประกอบการในประเทศไทย ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

ทั้งนี้ รัฐบาลพร้อมที่จะขยายรูปแบบการส่งเสริม ไม่เพียงแรงงานในประเทศ รองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า-รถไฟความเร็วสูง-อากาศยาน แต่รวมถึงการสร้าง “แรงงานไทยคุณภาพระดับโลก” เพื่อส่งออกไปทำงานในต่างแดนที่มีรายได้สูง เช่น ช่างเชื่อมในอู่ต่อเรือเกาหลีใต้ ที่มีรายได้ราว 50,000 บาท/เดือน หรืองานในแท่นขุดเจาะที่ซาอุดีอาระเบีย มีรายได้สูงถึง 70,000-80,000 บาท/เดือน เป็นต้น ซึ่งผมมีความปรารถนาที่อยากจะเห็นพี่น้องแรงงานทุกคน มีความมุ่งมั่นไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ ด้วยวินัยและการไม่หยุดพัฒนาตัวเอง ยกระดับตนเองจากการเสริมทักษะการทำงานของตนขึ้นเป็นแรงงานทักษะสูง และขึ้นไปสู่ระดับผู้คุมงาน หรือสร้างธุรกิจของตนเอง จนประสบความสำเร็จในชีวิต สร้างรายได้ ความกินดีอยู่ดีให้กับตนเอง ครอบครัว ถิ่นฐานบ้านเกิด และประเทศชาติ ดังคำกล่าวที่ว่า “ความจนแพ้คนขยัน” ผมขอเป็นอีกหนึ่งกำลังใจ และจะทำอย่างเต็มที่ ให้พี่น้องแรงงานไปสู่ฝันได้ทุกคนครับ


กำลังโหลดความคิดเห็น