xs
xsm
sm
md
lg

​ครม.รับทราบรายงานผลการประชุม รมต.แรงงานอาเซียน ครั้งที่ 27 เดินหน้าฟื้นฟูแรงงานหลังโควิด แก้ปัญหาการจ้างงาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยผลการประชุมคณะรัฐมนตรี รับทราบรายงานผลการประชุม รมต.แรงงานอาเซียน ครั้งที่ 27 เดินหน้าฟื้นฟูแรงงานหลังโควิด แก้ปัญหาการจ้างงาน พัฒนาทรัพยากรมนุษย์และคุณภาพชีวิตในการทำงาน พร้อมเห็นชอบรับรองเอกสาร 2 ฉบับ ร่างแถลงการณ์ร่วม รมต.แรงงานอาเซียนครั้งที่ 27 และร่างถ้อยแถลงร่วมรมต.แรงงานอาเซียนบวกสาม

วันนี้ (25 ม.ค.) น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 24 มกราคม 2566 ว่า ที่ประชุม ครม.มีมติรับทราบรายงานผลการประชุมรัฐมนตรีแรงงานอาเซียน (ASEAN Labour Ministers’ Meeting: ALMM) ครั้งที่ 27 และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ณ สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ภายใต้หัวข้อหลัก “รวมกันเป็นหนึ่ง พลิกโฉมโลกแห่งการทำงานในประชาคมอาเซียนสู่การเติบโต และฟื้นฟูด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างมีส่วนร่วมและยั่งยืน” และเห็นชอบต่อการรับรองเอกสาร 2 ฉบับ คือ ร่างแถลงการณ์ร่วม (Joint Communique) ของการประชุมรัฐมนตรีแรงงานอาเซียน ครั้งที่ 27 และร่างถ้อยแถลงร่วม (Joint Statement) ของการประชุมรัฐมนตรีแรงงานอาเซียนบวกสาม (ASEAN Plus Three Labour Ministers’ Meeting: ALMM+3) ครั้งที่ 12

การประชุมรัฐมนตรีแรงงานอาเซียนครั้งที่ 27 มีสาระสำคัญของการประชุม เช่น เน้นย้ำวัตถุประสงค์ของการประชุมรัฐมนตรีแรงงานอาเซียนที่จะนำปัญหาของแรงงานมาแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม เช่น การจ้างงาน การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และคุณภาพชีวิตในการทำงาน และนโยบายเพื่อรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยกระทรวงแรงงานได้กล่าวถ้อยแถลงเกี่ยวกับมาตรการทางสาธารณสุขของไทย เช่น การดูแลแรงงานให้เข้าถึงการรักษา บริการทางการแพทย์และสถานพยาบาลอย่างเท่าเทียมและทั่วถึงโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย การดำเนินการโครงการ Factory Sandbox และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอีก 3 การประชุม ดังนี้

1. การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสแรงงานอาเซียน (Senior Labour Officials’ Meeting: SLOM) ครั้งที่ 18 โดยมีสาระสำคัญของการประชุม เช่น การติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานของกรอบความร่วมมือบูรณาการระหว่างภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เช่น กรอบคุณวุฒิอ้างอิงของอาเซียนควรมีการวางแผนร่วมกันระหว่างประเทศสมาชิกเพื่อให้มีแนวทางที่เอื้อต่อการเคลื่อนย้ายแรงงานในภูมิภาคโดยคำนึงถึงความแตกต่างของระดับทักษะ การรายงานผลการดำเนินงานตามปฏิญญาอาเซียนและแถลงการณ์ของรัฐมนตรีแรงงานอาเซียนที่เกี่ยวข้อง จำนวน 8 ฉบับ เช่น การรับรองปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยการเชื่อมโยงสิทธิประกันสังคมสำหรับแรงงานข้ามชาติในภูมิภาคอาเซียนโดยประเทศสมาชิกแล้ว

2. การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสแรงงานอาเซียนบวกสาม (Senior Labour Officials’ Meeting + 3: SLOM + 3) ครั้งที่ 20 โดยมีสาระสำคัญของการประชุม เช่น การหารือและรายงานความคืบหน้าความร่วมมือ/โครงการ/กิจกรรมที่เกี่ยวข้องภายใต้กรอบความร่วมมือด้านแรงงาน รวมถึงหารือเกี่ยวกับการจัดการประชุม SLOM + 3 ครั้งที่ 21 ที่จะจัดขึ้นในเดือนตุลาคม 2566 โดยมีประเทศบรูไนเป็นเจ้าภาพ โดยจีนสนับสนุนด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และการให้ความคุ้มครองสิทธิของแรงงาน ญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน และเกาหลีใต้ให้ความสำคัญกับบทบาทของภาครัฐในการสร้างงานสร้างอาชีพและปัญหาภาวะโลกร้อน

3. การประชุมรัฐมนตรีแรงงานอาเซียนบวกสาม (ASEAN Plus Three Labour Ministers’ Meeting: ALMM+3) ครั้งที่ 12 โดยมีสาระสำคัญของการประชุม เช่น การกล่าวถ้อยแถลงของกระทรวงแรงงานที่มุ่งเน้นความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีในปัจจุบัน เช่น นโยบายเร่งพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานให้มีความรู้ด้านดิจิทัล ปรับรูปแบบการฝึกอบรมแรงงานให้สอดคล้องกับพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น การเข้าถึงการฝึกอบรม ในรูปแบบออนไลน์) รวมถึงการรับรองร่างแถลงการณ์ร่วมฯ ของ ALMM ครั้งที่ 27 และร่างถ้อยแถลงร่วมฯ ของการประชุมรัฐมนตรีแรงงานอาเซียนบวกสาม (ASEAN Plus Three Labour Ministers’ Meeting: ALMM+3) ครั้งที่ 12

น.ส.ทิพานัน กล่าวว่า ร่างแถลงการณ์ร่วม (Joint Communique) ของการประชุมรัฐมนตรีแรงงานอาเซียน ครั้งที่ 27 ที่ครม. มีมติเห็นชอบรับรองวันนี้เป็นเอกสารแสดงความมุ่งมั่นของรัฐมนตรีแรงงานอาเซียนในการขับเคลื่อนถ้อยแถลงร่วมระดับรัฐมนตรีเพื่อตอบสนองต่อการฟื้นฟูด้านแรงงานภายหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
1. ส่งเสริมเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารและส่งเสริมดิจิทัล โดยใช้กรอบการบูรณาการด้านดิจิทัลของอาเซียนในการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันและปรับตัวต่อความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีให้กับแรงงานอาเซียน
2. ส่งเสริมการพัฒนาเกษตรกรรมที่ทันสมัย เพื่อนำไปสู่ความมั่นคงทางด้านอาหาร ยกระดับผลผลิตให้มีประสิทธิผลและประสิทธิภาพ ส่งเสริมกิจการให้มีความยั่งยืนโดยใช้เทคโนโลยีสีเขียว เพื่อก่อให้เกิดการจ้างงานที่สำคัญและมีคุณค่า
3. ปฏิรูประบบการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์แรงงานอาเซียนมีทักษะและพร้อมสำหรับการจ้างงาน รวมทั้งให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะเดิม เพิ่มเติมทักษะใหม่และส่งเสริมวัฒนธรรมการเรียนรู้ตลอดชีวิต
4. ส่งเสริมการปกป้องสิทธิและความเป็นอยู่ที่ดีของแรงงาน รวมถึงให้ความสำคัญกับกระบวนการเคลื่อนย้ายแรงงานในภาพรวมเพื่อปกป้องแรงงานข้ามชาติ
5. การยกระดับฐานข้อมูลระดับภูมิภาคด้านแรงงาน โดยจัดทำดัชนีผลิตภาพแรงงานอาเซียนและสถิติการจ้างงานนอกระบบอาเซียน
6. การรับรองเอกสารในการประชุม 2 ฉบับ ได้แก่ 1. ปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยการเชื่อมโยงสิทธิประกันสังคมสำหรับแรงงานข้ามชาติในภูมิภาคอาเซียน โดยให้ความสำคัญกับการเชื่อมโยงสิทธิประกันสังคมของแรงงานต่างด้าว จากประเทศปลายทางไปยังประเทศบ้านเกิดของตนเองให้เกิดขึ้นได้อย่างเป็นธรรมตามมติ ครม. วันที่ 5 ตุลาคม 2565 และ 2.แนวทางอาเซียนว่าด้วยการให้คำปรึกษาและการตรวจหาเชื้อเอชไอวีในสถานประกอบการ เพื่อสนับสนุนให้ภาคธุรกิจมีส่วนร่วมในการพัฒนาและขับเคลื่อนโยบายไปสู่การปฏิบัติ เพื่อส่งเสริมมาตรฐานด้านสุขภาพและความปลอดภัยในสถานที่ทำงานตามมติ ครม. วันที่ 25 ตุลาคม 2565

“นอกจากนี้ วันนี้ ครม. ยังมีมติเห็นชอบร่างถ้อยแถลงร่วมฯ ของการประชุมรัฐมนตรีแรงงานอาเซียนบวกสาม ครั้งที่ 12 ซึ่งเป็นเอกสารแสดงการแลกเปลี่ยนความร่วมมือระหว่างประเทศอาเซียนบวกสาม เพื่อส่งเสริมความสามารถในการแข่งขัน การพัฒนาฝีมือแรงงาน และความสามารถ ในการปรับตัวของแรงงานในอนาคตของงานภายหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ซึ่งได้รับงบฯ และการสนับสนุนทางวิชาการจากจีน ญี่ปุ่น และประเทศเกาหลีใต้” น.ส.ทิพานัน กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น