xs
xsm
sm
md
lg

ล้าหลัง 30 ปี “มท.” ได้ฤกษ์สังคายนา “กม.อากรรังนกอีแอ่น” ฉบับปี 40 จ่อเพิ่มอำนาจท้องถิ่น 9 จังหวัด เข้มสัมปทาน!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ล้าหลังกว่า 30 ปี “มหาดไทย” ได้ฤกษ์สังคายนา “พ.ร.บ.อากรรังนกอีแอ่น” ฉบับปี 40 จ่อเพิ่มอำนาจท้องถิ่น 9 จังหวัด มีส่วนร่วมดูแล-จัดการเก็บรังนกอีแอ่น บนเกาะ/ในที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน ประเดิมรับฟังความเห็น รัฐ/เอกชน/ปชช. หลังกว่า 30 ปี พบปัญหาเพียบ ทั้งความแตกต่างของ “สัมปทานเก็บรัง” แต่ละจังหวัด ปัญหาลักลอบเก็บรังช่วงวางไข่-ฟักไข่ แถมสิ้นเปลืองงบประมาณใช้กำลัง จนท.ราชการเฝ้าระวัง

วันนี้ (30 ม.ค.) มีรายงานจากกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) เวียนหนังสือด่วนที่สุด ถึงผู้ว่าราชการจังหวัด ทุกจังหวัด เพื่อแจ้งเตรียมการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมายพระราชบัญญัติอากรรังนกอีแอ่น พ.ศ. 2540 หลังประกาศใช้มากว่า 26 ปี

ใช้บังคับกับจังหวัด 9 จังหวัด ได้แก่ ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี พัทลุง กระบี่ ตรัง พังงา สตูล และ ตราด

และเป็นกฎหมายที่กำหนดให้ราชการส่วนท้องถิ่น ได้แก่ องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล และ องค์การบริหารส่วนตำบล เข้ามามีส่วนในการดูแลและจัดการการเก็บรังนกอีแอ่น

เตรียมเปิดทำการรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ภาคเอกชน และประชาชน เพื่อประเมินผลสัมฤทธ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ดังกล่าว ให้เป็นมาตรการทางกฎหมายที่มีความสำคัญ ในการจัดหารายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)

“พบว่า มีบางมาตราที่สมควรต้องมีการแก้ไขเพิ่มเติมให้ครบถ้วน ดังนั้น จึงสมควรให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมให้มีความเหมาะสม เพื่อให้สามารถดำเนินการตา พ.ร.บ.อากรรังนกอีแอ่น พ.ศ. 2540 ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น”

เช่น กรณีขององค์ประกอบของคณะกรรมการพิจารณาจัดเก็บอากรรังนกอีแอ่น ประกอบด้วย ผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธานกรรมการ อัยการจังหวัด หัวหน้าตำรวจภูธรจังหวัด สรรพากรจังหวัด

“ป่าไม้จังหวัด” หัวหน้าคณะผู้บริหารท้องถิ่นทุกราชการส่วนท้องถิ่น ที่มีการจัดเก็บรังนกอีแอ่นอยู่ในเขตราชการ ส่วนท้องถิ่นนั้น

ซึ่งตำแหน่ง “ป่าไม้จังหวัด” ถูกยุบเลิกไป และไม่มีการกำหนดตำแหน่งอื่นแทนป่าไม้จังหวัด ดังนั้น จึงขาดองค์ประกอบของคณะกรรมการพิจารณาจัดเก็บอากรรังนกอีแอ่นตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้

กรณี การให้สัมปทานเก็บรังนกอีแอ่นของแต่ละจังหวัดมีความแตกต่างกัน ไม่เป็นไปในแนวทางเดียวกัน เช่น การกำหนดวงเงินประกันซอง การกำหนดหลักประกันสัญญา ระยะเวลาในการให้ สัมปทานเก็บรังนกอีแอ่น

พ.ร.บ.ฉบับนี้ ได้กำหนดให้การดำเนินการจัดเก็บอากร รังนกอีแอ่น ผู้ได้รับสัมปทานเก็บรัง จะต้องปฏิบัติตามระเบียบที่เกี่ยวข้อง

เช่น ระเบียบ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุพืช ว่าด้วยการอนุญาตให้กระทำการในอุทยานแห่งชาติ วนอุทยาน สวนพฤกษศาสตร์ และสวนรุกขชาติ

ตามมาตรา 22 วรรคสอง มาตรา 27 วรรคสาม และมาตรา 34 แห่ง พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 พ.ศ. 2564

และระเบียบกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุพืช ว่าด้วยการเก็บ ทำอันตราย หรือมีไวัในครอบครองซึ่งรังนกของผู้ซึ่งได้รับอนุญาตเก็บรังนก ตามกฎหมายว่าด้วยอากรรังนกอีแอ่น พ.ศ. 2564

“จึงทำให้ผู้รับสัมปทานเก็บรังนกอีแอ่น ไม่สามารถเข้าไปดำเนินการจัดเก็บอากรรังนกอีแอ่นได้ เนื่องจากการบังคับใช้กฎหมายระหว่างหน่วยงานในพื้นที่เดียวกัน”

ท้ายสุด การดำเนินการประมูลรังนกอีแอ่นเมื่อสิ้นอายุสัมปทาน ทำให้เกิดช่วงว่างเว้นจากสัมปทาน ส่งผลให้การดูแลรักษา อนุรักษ์พันธุนกอีแอ่นไม่ต่อเนื่อง

อีกทั้งมีการลักลอบเก็บรังนกอีแอ่นในช่วงวางไข่และฟักไข่ ลูกนกอีแอ่นอาจสูญพันธุ์ และการใช้กำลังเจ้าหน้าที่ของทางราชการเฝ้าระวัง เป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณ

ทั้งนี้ การประเมินดังกล่าว สืบเนื่องจาก พ.ร.บ.หลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 กำหนดให้หน่วยงานชองรัฐที่รับผิดชอบการบังคับใช้กฎหมายฉบับใด

เป็นผู้รับผิดชอบการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมายฉบับนั้น ว่าการบังคับใช้กฎหมายได้ผลตรงตามวัตถุประสงค์ ของการตรากฎหมายนั้นมากน้อยเพียงใด

คุ้มค่ากับภาระที่เกิดขึ้นแก่รัฐและประชาชนหรือไม่ เพื่อประโยชน์ ในการพัฒนากฎหมายให้สอดคล้องและเหมาะสมกับบริบทที่เปลี่ยนแปลงไป

“ภายในปี 2566 จะต้องประเมินผล ของ พ.ร.บ.อากรรังนกอีแอ่น พ.ศ. 2540 เพื่อเป็นการสร้างการรับรู้และรับฟังความคิดเห็น ตั้งแต่วันที่ 30 ม.ค.นี้ ถึง 16 ก.พ. 2566 ผ่านทางระบบกลางทางกฎหมาย (www.law.go.th)”

สำหรับมาตรการสำคัญของกฎหมายฉบับนี้ เพื่อให้ราชการส่วนท้องถิ่นสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการเข้าไปดูแล และจัดการการเก็บรังนกอีแอ่นในพื้นที่บนเกาะ หรือในที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินที่มีรังนกอยู่ตามธรรมชาติ

โดย รังนกอีแอ่นถือเป็นทรัพยากรธรรมซาติที่มีอยู่ในท้องที่ของราชการส่วนท้องถิ่นนั้น ซึ่งจำเป็นต้องดูแลรักษาไว้

ส่วนเงินอากรที่จัดเก็บได้เป็นรายได้ของราชการส่วนท้องถิ่นนั้น เพื่อนำไปจัดทำบริการสาธารณะ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อประโยชน์ในการให้เอกชนสัมปทานรังนกอีแอ่นในพื้นที่

สำหรับผู้สัมปทานในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา เฉพาะพื้นที่ หมู่เกาะสี่ เกาะห้า ท้องที่ ต.เกาะหมาก อ.ปากพะยูน จ.พัทลุง ก่อนหมดสัญญา พบว่า การจัดเก็บรังนกอีแอ่นในพื้นที่หมู่เกาะสี่ เกาะห้า จังหวัดพัทลุง

สัญญาสัมปทาน 5 ปี เก็บรังนกขาวได้กว่า 8 ตัน มูลค่ากำไรไม่ต่ำกว่า 180 ล้านบาท

ไม่บวกราคารังนกดำที่มีการจัดเก็บ โดยราคาประมูลรังนกขาวจะตกอยู่ที่กิโลกรัมละ 60,000 บาท ส่วนรังนกดำที่ไม่มีการประมูลราคาจะอยู่ที่กิโลกรัมละ 30,000 บาท.


กำลังโหลดความคิดเห็น