เทศบาล-อบจ. ใน 61 จังหวัด จ่อรับเงินอุดหนุน เพิ่ม 100 ล้าน ใช้ซ่อมแซมสถานีขนส่งผู้โดยสาร 96 แห่ง ที่ได้รับการถ่ายโอน ด้าน “มหาดไทย” ย้ำผ่านผู้ว่าฯ กำชับ อปท. จัดบริการห้องน้ำสาธารณะภายในอาคาร ตามแนวทางฉบับเดิม ตั้งแต่ปี 58 ทุก บขส. ต้องไม่เก็บค่าบริการ เน้น “ฟรี” ทุกพื้นที่ ตัดสิทธิช่อง “เอกชน” ยื่นประมูล ขอเข้าดำเนินการจัดเก็บค่าบริการห้องน้ำแทน
วันนี้ (17 ม.ค.) มีรายงานจากกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น (สถ.) มีหนังสือด่วนที่สุด ถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ผ่านผู้ว่าราชการจังหวัด 61 จังหวัด
กำชับ อปท. ตั้งแต่ระดับเทศบาลเมือง เทศบาลนคร และ องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) กว่า 96 แห่ง ในพื้นที่ 61 จังหวัด ที่ได้รับการถ่ายโอนภารกิจสถานีขนส่งผู้โดยสาร (สถานี บขส.) จากกรมการขนส่งทางบก ตั้งแต่ปี 2558
“พิจารณาดำเนินการจัดให้มีบริการห้องน้ำสาธารณะภายในอาคารสถานีขนส่งผู้โดยสาร โดยไม่ต้องเสียค่าบริการห้องน้ำ และมิให้เอกชนอื่น ยื่นขอเป็นผู้ดำเนินการจัดเก็บค่าบริการห้องน้ำแทน”
โดยให้ อปท.จัดหางบประมาณท้องถิ่นเพื่อจ้างเหมาทำความสะอาดห้องนํ้าและค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง พร้อมดำเนินการควบคุม ดูแลการดำเนินการให้เป็นไปตาม แนวทางปฏิบัติที่กรมการขนส่งทางบก กำหนด
สำหรับ 61 จังหวัด ที่ได้รับการถ่ายโอนสถานี บขส. ให้ อปท. แล้วประกอบด้วย จ.กาญจนบุรี กำแพงเพชร ขอนแก่น จันทบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ชัยนาท ชัยภูมิ ชุมพร เชียงราย เชียงใหม่ ตรัง ตราด ตาก
นครพนม นครราชสีมา นครศรีธรรมราช นครสวรรค์ นราธิวาส น่าน บึงกาฬ บุรีรัมย์ ปัตตานี ปราจีนบุรี พระนครศรีอยุธยา พะเยา พังงา พัทลุง พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์
แพร่ ภูเก็ต มหาสารคาม แม่ฮ่องสอน ยโสธร ยะลา ร้อยเอ็ด ระนอง ระยอง ราชบุรี ลพบุรี ลำปาง ศรีสะเกษ สกลนคร สงขลา สตูล สระแก้ว สระบุรี
สิงห์บุรี สุโขทัย สุพรรณบุรี สุราษฎร์ธานี สุรินทร์ หนองคาย หนองบัวลำภู อำนาจเจริญ อุดรธานี อุตรดิตถ์ อุทัยธานี และอุบลราชธานี
สำหรับ สถานีขนส่งผู้โดยสาร ทั้ง 96 แห่ง จะได้รับการอุดหนุนงบประมาณประจำปี รายการเงินอุดหนุน สำหรับปรับปรุงซ่อมแซมที่ได้รับการถ่ายโอนจากกรมการขนส่งทางบก วงเงินงบประมาณ 100,000,00 บาท
ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 พบว่า สำนักงบประมาณ สงป. ได้จัดสรรงบประมาณให้แล้วเป็นจำนวน 4,266,000 บาท
มีข้อสังเกต จากที่ประชุมคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ก.ก.ถ.) เมื่อเร็วๆ นี้ ว่า การซ่อมสถานีขนส่ง ขึ้นอยู่กับความจำเป็น ซึ่งสถานีขนส่ง 96 แห่ง ได้รายงานความจำเป็นมา
ถ้ามีชำรุดเสียหาย ก็สามารถที่จะของบประมาณเป็นรายปีได้ ดังนั้น ปีงบประมาณต่อไปได้ดำเนินการไปครบถ้วนแล้ว.