จ่อแล้ว! ร่างประกาศมหาดไทย ฉบับใหม่ ว่าด้วย “การจัดการมูลฝอย” ทั้งระบบในท้องถิ่นทั่วประเทศ เน้นกระบวนการมอบหมายเอกชนเข้าดำเนินการกำจัดขยะอย่างมีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับกฎหมายร่วมลงทุนรัฐ-เอกชน ฉบับปี 62-63 เพิ่มอำนาจ “มท.1” ทั้งขั้นตอนรับทราบหลักการโครงการ/รายงานการศึกษา/วิเคราะห์โครงการที่ “อปท.” เสนอ มีอำนาจแก้ไขเปลี่ยนแปลงหลักการโครงการที่ได้รับความเห็นชอบไปแล้ว รวมถึงอำนาจแก้ไขสัญญาโครงการของท้องถิ่น
วันนี้ (19 ม.ค.) มีรายงานจากกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ คณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมาย กระทรวงมหาดไทย คณะที่ 1
ได้พิจารณา ร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การจัดการมูลฝอย (ฉบับที่ ..) พ.ศ.. ที่ยกร่าง โดย กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.)
ให้ สถ.รับความเห็นของคณะกรรมการ ไปดำเนินการปรับปรุงแก้ไข ก่อนเสนอกลับมาพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง
สำหรับร่างฉบับนี้ มีหลักการเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และมาตรฐานการจัดการมูลฝอยให้ถูกต้องด้วยสุขลักษณะตามหลักวิชาการ
“โดยเฉพาะ การกำหนดกระบวนการมอบหมายให้เอกชน เข้าดำเนินการหรือร่วมดำเนินการกำจัดมูลฝอย ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมทั้งสอดคล้องกับกฎหมายว่าด้วยการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน”
สาระสำคัญของร่างฉบับนี้ นอกจากว่าด้วย การกำหนดมาตรฐาน การคัดแยกและกำจัดมูลฝอย ประเภทต่างๆ ทั้งในครัวเรือน และการคัดแยกเพื่อนำไปกำจัด
โดยไม่กระทบสิ่งแวดล้อมและนำไปใช้ประโยชน์ได้แล้ว จากการฝังกลบ ทำการหมัก กำจัดด้วยพลังงานความร้อน และการแปรสภาพเป็นเชื้่อเพลิง
ที่น่าสนใจ คือ การแก้ไขปรับปรุงกระบวนการมอบหมายเอกชน เข้ามาดำเนินการหรือร่วมดำเนินการ โดยการร่วมลงทุนระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และเอกชนในการจัดการมูลฝอยบางประการ มีประเด็นสำคัญ ได้แก่
1. วัตถุประสงค์ของโครงการ จะต้องสอดคล้องกับแผนพัฒนาท้องถิ่น แผนพัฒนาจังหวัด และการรวมกลุ่มของราชการส่วนท้องถิ่นภายในจังหวัด และความเป็นหุ้นส่วน ระหว่างราชการส่วนท้องถิ่นและเอกชน
ซึ่งต้องมีการจัดสรรความเสี่ยงและผลประโยชน์ตอบแทนให้แก่เอกชนอย่างเป็นธรรม โดยคำนึงถึงความสำเร็จและความคุ้มค่าในการดำเนินโครงการ
2. อปท. ต้องจัดทำรายงานการศึกษาและวิเคราะห์โครงการ เพื่อให้คณะกรรมการจังหวัดหรือคณะกรรมการกลาง แล้วแต่กรณี ให้คำแนะนำ
ทั้งนี้ ให้ อปท. จัดทำหลักการของโครงการ เสนอ “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (มท.1)” ให้ความเห็นชอบด้วย
“เฉพาะวิธีการ กำจัดโดยการแปรสภาพเป็นพลังงาน (การกำจัดมูลฝอยโดยวิธีฝังกลบ การหมักทำปุ๋ยและการหมัก ทำก๊าซชีวภาพ และการกำจัดด้วยพลังงานความร้อน) ไม่ต้องเสนอ มท.1”
3. การแก้ไขเปลี่ยนแปลงหลักการของโครงการ ที่ได้รับความเห็นชอบแล้ว ในสาระสำคัญ ให้ อปท. เจัาของโครงการทำความตกลงกับ “มท.1”
หากมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงโครงการ ซึ่งไม่ถือว่าเป็นการแก้ไขในสาระสำคัญ แต่เป็นไปเพื่อประโยชน์แห่งราชการหรือประโยชน์สาธารณะ ให้ อปท.เจ้าของโครงการทำความตกลงกับ “ผู้ว่าราชการจังหวัด (ผู้ว่าฯ)” สำหรับกรุงเทพมหานคร (กทม.) ให้ขอทำความตกลงกับ “มท.1”
4. การแก้ไขสัญญาโครงการ ต้องอยู่ภายใต้ขอบข่ายแห่งวัตถุประสงค์เดิม กรณีมีการแก้ไขสัญญาโครงการในสาระสำคัญ ให้ อปท.เจ้าของโครงการ ทำความตกลงกับ “มท.1”
และหากมีการแก้ไขสัญญาโครงการซึ่งไม่ถือว่าเป็นการแก้ไข ในสาระสำคัญให้ อปท.เจ้าของโครงการทำความตกลงกับผู้ว่าฯ สำหรับ กทม. ให้ขอทำความตกลงกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
“ทั้งนี้ หากเห็นว่าสัญญาจะมีปัญหาในทางเสียประโยชน์หรือไม่รัดกุมพอ ก็ให้ส่งร่างสัญญาที่แก้ไขนั้นไปให้สำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) พิจารณาให้ความเห็นชอบก่อน”
5. การดำเนินโครงการต่อเนื่อง ให้ อปท.เจ้าของโครงการ เสนอผู้ว่าราชการจังหวัด พิจารณาให้ความเห็นชอบ โดยคำแนะนำของคณะกรรมการจังหวัด สำหรับ กทม.ให้เสนอ มท.1 โดยคำแนะนำของคณะกรรมการกลาง
6. กำหนดให้ อปท.เจ้าของโครงการประกาศเผยแพร่ สรุปข้อมูลโครงการร่วมทุน ในรูปแบบที่เข้าใจง่ายต่อสาธารณชนผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ของ อปท.เจ้าของโครงการ
และเป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยข้อมูลข่าวสารของทางราชการและกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล
สำหรับประเด็น ว่าด้วยการร่วมลงทุนระหว่าง อปท.และเอกชน ที่คณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายฯ คณะที่ 1 ได้ตรวจพิจารณาให้แก้ไขฯ ที่น่าสนใจ
ตั้งแต่ ข้อ 20 ในกรณีโครงการที่จะมอบหมายให้เอกชนดำเนินการหรือร่วมดำเนินการเก็บ ขน และหรือกำจัดมูลฝอยเฉพาะวิธีการแปรสภาพเป็นพลังงาน
ตามข้อ 12 (4) ให้ราชการส่วนท้องถิ่นเจ้าของโครงการ จัดทำหลักการของโครงการเสนอต่อ มท.1 หรือข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งบริหารระดับสูงที่ได้รับมอบหมาย
เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ พร้อมกับรายงานการศึกษาและวิเคราะห์โครงการ รูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างราชการส่วนท้องถิ่นและเอกชน
“ซึ่งอย่างน้อย ต้องประกอบด้วย หน้าที่และความรับผิดชอบของราชการส่วนท้องถิ่นและเอกชน ในการดำเนินโครงการ ระยะเวลาของโครงการ กรรมสิทธในทรัพย์สินชองโครงการ และการแบ่งผลประโยชน์ตอบแทนระหว่างราชการส่วนท้องถิ่นและเอกชน เป็นต้น”
เช่น แก้ไขในข้อ 21 วรรคสอง ควรกำหนดขั้นตอนที่ต้องให้ อัยการสูงสุด ตรวจพิจารณาสัญญา แล้วจึงนำมาลงนามร่วมกับเอกขนต่อไป
แก้ไขในข้อ 21/2 วรรคสอง เห็นว่า ในการแก้ไขสัญญาควรกำหนด ให้ส่งอัยการสูงสุดตรวจพิจารณาก่อน ดำเนินการทุกกรณีว่าราชการเสียประโยชน์หรือไม่
แก้ไขในข้อ 21/3 วรรคหนึ่ง เห็นว่า ควรกำหนดว่ามีโครงการ ประเภทใดบ้าง และควรกำหนดให้สัญญาสิ้นสุดภายในระยะเวลา 1-2 ปีเท่านั้น
เนื่องจาก อปท.มีความหลากหลาย ไม่อาจนำไปเทียบเคียงได้กับประกาศคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน
เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินการโครงการร่วมลงทุนที่มีมูลค่าตํ่ากว่าที่กำหนด ในมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 พ.ศ. 2563