xs
xsm
sm
md
lg

“มท.” อ้างกระทบแบ่งเขตเลือกตั้งท้องถิ่น-บริการสาธารณะ สั่ง! แก้ปมแนวเขตทับซ้อนพื้นที่เฉพาะ “เทศบาล-อบต.” ทั่ว ปท.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



มหาดไทย ได้ฤกษ์ สั่งแก้ปมแนวเขต อปท.พื้นที่ข้างเคียง เหตุพบทับซ้อน-เกิดพื้นที่ว่าง ระดับพื้นที่ เทศบาล-อบต. 7,773 แห่ง ยกเว้น แนวเขต อบจ. หลังรับแจ้งจากหลายหน่วยงาน กระทบบริการสาธารณะ-จัดเก็บภาษี รวมถึง “ปม” แบ่งเขตเลือกตั้งผู้บริหาร/สภาท้องถิ่น สั่งตั้งกรรมการ 3 ชุด 3 ระดับ เน้นพื้นที่ “หาข้อยุติ” ตามพิกัด GPS เทียบเคียงแนวเขตตามกฎหมาย สืบค้นเอกสาร หลักฐานพิสูจน์ ถึงขั้นสอบพยานผู้นำชุมชน-ปราญช์ ที่สามารถชี้แจงประวัติความเป็นมาในอดีต

วันนี้ (18 ม.ค.) มีรายงานจากกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ลงนามในคำสั่งที่ 133 /2566 แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาและแก้ไขแนวเขต หรือเปลี่ยนแปลงแนวเขตขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) พร้อมแนวทางปฏิบัติในการจัดทำและแก้ไขแนวเขต อปท.ทั่วประเทศ (ยกเว้น องค์การบริหารส่วนจังหวัด-อบจ.)

สำหรับการแต่งตั้ง คณะกรรมการดังกล่าว มท. ได้เวียนหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัด ทุกจังหวัด ภายหลังรับแจ้งจากหลายหน่วยงานขอให้แก้ไขปัญหาแนวเขตของ อปท.

“พบว่า บาง อปท. เกิดความทับซ้อน และเกิดพื้นที่ว่าง กับ อปท.พื้นที่ข้างเคียง อันส่งผลให้มีปัญหาบริการสาธารณะแก่ประชาชนในพื้นที่ การจัดเก็บภาษีเป็นรายได้ของ อปท. รวมถึงการแบ่งเขตเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่น หรือสมาชิกสภาท้องถิ่น”

มีรายงานว่า กระทรวงมหาดไทย ได้ตรวจสอบและพบข้อบกพร่องของการกำหนดแนวเขตของ อปท.หลายแห่ง ที่ยังไม่มีความชัดเจนและถูกต้องกับสภาพความเป็นจริง จนทำให้เกิดปัญหาในการจัดบริการสาธารณะและกิจกรรมสาธารณะตามหน้าที่และอำนาจของ อปท.

ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบโดยตรงกับประชาชนในพื้นที่ที่มิได้รับการจัดบริการสาธารณะพื้นฐานอันเป็นสิทธิ ตามรัฐธรรมนูญที่ได้รับรองไว้ และเกิดปัญหาในการจัดเก็บรายได้และภาษีของ อปท. ทำให้ขาดโอกาสในการพัฒนา

โดยมีหลักการในการจัดทำแนวเขต คือ ต้องเป็นการจัดทำเป็นไปเพื่อให้ได้มาซึ่งเป็นแนวเขต ที่มีมาแต่เดิมในขณะจัดตั้งแนวเขต

“มิใช่เป็นการจัดทำแนวเขตเพื่อให้ตรงกับข้อเท็จจริง ซึ่งปรากฏขึ้นภายหลัง จากที่มีแนวเขต อปท.ที่ชัดเจนอยู่แล้ว และยังคงสามารถตรวจสอบแนวเขตนั้นได้อยู่ในป้จจุบัน”

สำหรับองค์ประกอบของคณะกรรมการ ที่มีการแต่งตั้งใน 3 ระดับ ประกอบด้วย ระดับกระทรวง มี ปลัดกระทรวงมหาดไทย ประธานกรรมการ รองปลัดกระทรวง (หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านพัฒนาชุมชนและส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น) เป็นรองประธานกรรมการ

มี 4 อธิบดีกรมใหญ่ กรมการปกครอง กรมที่ดิน กรมโยธาธิการและผังเมือง และกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นกรรมการ ร่วมกับ นายกสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย นายกองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย เป็นต้น

กรรมการอีก 2 ชุด เป็นกรรมการในระดับจังหวัด มีผู้ว่าราชการจังหวัด 77 จังหวัด เป็นประธาน ปลัดจังหวัด เป็นกรรมการ ร่วมกับ ข้าราชการ จาก 4 กรมในส่วนภูมิภาค

ท้ายสุด เป็นกรรมการในระดับพื้นที่ มีผู้บริการท้องถิ่น /อปท. ทั้ง 7,773 แห่ง เป็นประธาน ร่วมกับผู้แทนหรือข้าราชการ ท้องถิ่นจังหวัด อำเภอ อปท.พื้นที่(แห่งละ 1 คน) ผู้ใหญ่บ้าน หรือประธานชุมชนที่เกี่ยวข้อง (แห่งละ 1 คน) และปลัด อปท.เป็นกรรมการ

กรรมการในระดับพื้นที่ จะเป็นผู้ดำเนินการสำรวจสอบแนวเขต อปท. ด้วยเครื่องมือค้นหาค่าพิกัดด้วยดาวเทียม (GPS) หรือเครื่องมืออื่นๆ ที่สามารถกำหนดค่าพิกัดได้

โดยให้เทียบเคียงแนวเขตตามประกาศ กระทรวงมหาดไทย หรือพระราชกฤษฎีกาที่เกี่ยวข้อง ใช้เป็นหลักในการตรวจสอบ

ให้ตรวจสอบแนวเขตในบริเวณพื้นที่ที่เหลื่อมล้ำทับซ้อน หรือพื้นที่ว่าง โดยสืบค้นเอกสาร หลักฐานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิสูจน์แนวเขตของ อปท.

“ให้มีการสอบถามพยานบุคคล เช่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ราษฎรในพื้นที่ หรือหน่วยงานราชการอื่นๆ ที่สามารถให้ข้อมูลได้ หรือสามารถชี้แจงประวัติความเป็นมาในอดีตได้ ก่อนจัดทำแผนที่และคำบรรยายแนวเขต”

ส่วนในระดับจังหวัด จะเป็นผู้ประสานกำหนดแนวทางและวิธีปฏิบัติ ที่รับมาจากระดับกระทรวง เพื่อพิจารณาและวินิจฉัย ให้ความเห็นชอบ ร่วมกับ ระดับพื้นที่

สำหรับ คำสั่งดังกล่าว ระบุตอนหนึ่งว่า กรณี หาก อปท.พื้นที่ข้างเคียง ไม่เห็นชอบกับแนวเขต ให้ส่งกลับพร้อมด้วยเหตุผลคืนไปยัง อปท.พื้นที่ ที่ส่งมายังระดับจังหวัด

“เพื่อให้มีการจัดประชุมระหว่างคณะกรรมการ ระดับพื้นที่ กับ ระดับพื้นที่ข้างเคียง ที่ไม่เห็นชอบกับแนวเขต เพื่อหาข้อยุติ หากได้ข้อยุติให้จัดส่งให้อำเภอหรือจังหวัด พิจารณารับรองความถูกต้อง แต่ถ้าหากไม่ได้ข้อยุติ ให้ส่งเรื่องไปยังคณะกรรมการ ระดับจังหวัด หรือระดับกระทรวง พิจารณาแก้ปัญหา”


กำลังโหลดความคิดเห็น