ปลัดมหาดไทย เวียนหนังสือ “บอร์ดวินิจฉัยภาษีที่ดินสิ่งปลูกสร้าง” ไฟเขียว กทม. ยกร่างข้อบัญญัติ จดเก็บภาษีที่ดิน “เพิ่มอำนาจ” ในส่วนอัตราเกษตรกรรมในเพดานสูงสุด 0.01% เป็น 0.15% ตามมาตรา 37 วรรคหก พ.ร.บ. ภาษีที่ดิน แต่ต้องไม่เกินอัตราที่กำหนด มีเงื่อนไข “จะแยกตามประเภทใช้ประโยชน์/เงื่อนไข” แตกต่างจากพระราชกฤษฎีกาไม่ได้ เหตุกฎหมายไม่ได้ให้อำนาจไว้
วันนี้ (12 ม.ค.) มีรายงานจากกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เวียนหนังสือ คำปรึกษาหรือคำแนะนำเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง แจ้งถึงผู้ว่าราชการจังหวัด ทั่วประะทศ
ภายหลัง กทม. ได้ทำหนังสือ ขอหารือตรงถึงคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่มีปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธาน ผ่านกระทรวงมหาดไทย ตามพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562
ในประเด็น ที่ กทม. จะสามารถออก “ข้อบัญญัติ จดเก็บภาษีที่ดิน” ในส่วนอัตราเกษตรกรรมในเพดานสูงสุด จาก 0.01% เป็น 0.15% ได้หรือไม่
หนังสือ ระบุว่า กทม.มีอำนาจตราข้อบัญญัติท้องถิ่นกำหนดอัตราภาษีที่ใช้จัดเก็บภายในเขต กทม. ได้
โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 37 วรรคหก แห่งพระราชบัญญัติ ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 (พ.ร.บ. ภาษีที่ดินฯ)
“ทั้งนี้ ต้องไม่เกินอัตราที่กำหนด ในมาตรา 37 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ. ภาษีที่ดินฯ แต่จะกำหนดอัตราภาษีแยกตามประเภท การใช้ประโยชน์หรือตามเงื่อนไขในแต่ละประเภทการใช้ประโยชน์ไม่ได้
(จะกำหนดอัตรา ภาษีแยกตามประเภทการใช้ประโยชน์หรือตามเงื่อนไขในแต่ละประเภทการใช้ประโยชน์ ที่แตกต่างจากพระราชกฤษฎีกาไม่ได้) เนื่องจากกฎหมายไม่ได้ให้อำนาจไว้”
หนังสือฉบับดังกล่าว ลงวันที่ 26 ก.ย. 2565 ก่อนสิ้นปีงบประมาณ พ.ศ. 2565
สำหรับความคืบหน้าดังกล่าว สำนักคลัง กทม. ได้ “ยกร่างข้อบัญญัติ กทม. เรื่อง กำหนดอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ...” ตามนโยบายคณะผู้บริหาร กทม.
“กทม.มีนโยบายจัดเก็บภาษีที่ดิน หรือ สิ่งปลูกสร้าง ที่ใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรม ในอัตราภาษีที่สูงกว่าอัตราที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา เพื่อให้มีความเหมาะสมกับการใช้ประโยชน์ที่ดิน”
หลังจากผ่านขั้นตอนการศึกษาพิจารณาในรายละเอียด ที่สำนักการคลัง เข้าสำรวจโซนสีแดง เฉพาะแปลงที่ดินที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาว่า ในพื้นที่ดังกล่าวมีการทำเกษตรกรรมจริงๆ จำนวนเท่าใด
“เพราะเจตนารมณ์ของการยกร่างฯ เพื่อให้เจ้าของที่ดินในพื้นที่ที่มีมูลค่าสูง และไม่ได้ประกอบการอาชีพเกษตรกรรม ดำเนินการชำระภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง รวมถึงเป็นแนวทางการจัดเก็บภาษีอื่นๆ เพิ่มเติม เป็นประโยชน์ให้เกิดกับประชาชนสูงสุด”
ปีที่แล้ว ฝ่ายเลขานุการที่ประชุมคณะผู้บริหาร กทม. มีหนังสือด่วนที่สุด มอบหมายให้ สำนักการคลัง จัดทำข้อมูลเปรียบเทียบรายได้ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ตามพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 มาตรา 37 วรรคหนึ่ง
ที่ให้อำนาจ อปท. ในการจัดเก็บภาษี โดยเฉพาะ ที่ดินประเภทพาณิชยกรรม (โซนสีแดง) ที่ดินประเภทอุตสาหกรรม (โซนสีม่วง) และ ที่ดินประเภทคลังสินค้า (โซนสีเม็ดมะปราง) หากในอนาคต จะมีการคิดอัตราภาษีเพิ่มขึ้น
ล่าสุด ฝ่ายจัดเก็บรายได้ 50 สำนักงานเขต ทยอยรายงานภายหลังเข้าสำรวจแปลงที่ดิน ที่ใช้ประโยชน์ด้านเกษตรกรรมทั้งหมด ทั่ว กทม. ตามแผนผังกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดิน หรือตามโซนของกฎหมาย ว่าด้วยการผังเมือง
ประกอบด้วย ที่ดิน 4 ประเภท โซนสีแดง โซนสีม่วง โซนสีเม็ดมะปราง รวมไปถึงที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นมาก (โซนสีน้ำตาล)
สำหรับการสำรวจแปลงที่ดินที่ใช้ประโยชน์เกษตรกรรมดังกล่าว เนื่องจากการสำรวจแปลงที่ดินในการจัดเก็บภาษีในอนาคต จะดำเนินการตามแผนผังกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดิน หรือ ตามโซนของกฎหมายว่าด้วยการผังเมือง
ขณะที่ พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 มาตรา 37 ให้จัดเก็บภาษีตามอัตราที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรมให้มี อัตราภาษีไม่เกินร้อยละ 0.15 ของฐานภาษี และที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์เป็นที่อยู่อาศัย ให้มีอัตราภาษีไม่เกิน ร้อยละ 0.3 ของฐานภาษี ฯลฯ
อัตราภาษีที่ใช้จัดเก็บตามวรรคหนึ่ง ที่ได้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกา โดยกำหนดเป็นอัตราเดียวหรือหลายอัตราแยกตามมูลค่าของที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้าง
ทั้งนี้ ต้องไม่เกินอัตราภาษีที่กำหนดตามวรรคหนึ่ง และจะกำหนดแยกตามประเภทการใช้ ประโยชน์หรือตามเงื่อนไขในแต่ละประเภทการใช้ประโยชน์ก็ได้
ทั้งนี้ กทม. เห็นว่าการจัดเก็บภาษีแต่ละพื้นที่ไม่เป็นธรรม
“โดยเฉพาะนายทุนที่นำที่ดินทำเลย่านพาณิชยกรรม มาทำเกษตร โดยอาศัยมาตรา 37 วรรค 7 ตามกฎหมายภาษีที่ดิน ที่ให้อำนาจท้องถิ่นสามารถเสนอเรื่องดังกล่าวเพื่อออกข้อบัญญัติฯเพิ่มเพดานจัดเก็บได้ แต่ต้องไม่เกินในอัตราที่กำหนด เช่น อัตราเกษตรกรรม ไม่เกิน 0.15%”
ขณะเดียวกัน ต้องไม่ทำให้เจ้าของที่ดินได้รับความเดือดร้อนจากภาระที่เพิ่มเข้ามา เพราะเจ้าของที่ดินมีหลายกลุ่ม
ทั้งกลุ่มที่ได้รับมรดกแต่ไม่ต้องการขายทิ้ง กลุ่มที่รอนำที่ดินออกพัฒนาแต่ติดผลกระทบจากสถานการณ์โควิด กลุ่มที่รอจังหวะขายแต่เศรษฐกิจไม่เอื้ออำนวย
และที่สำคัญ กทม. ต้องคำถึงถึงสิทธิการใช้ประโยชน์ที่ดินของกลุ่มเหล่านั้นด้วย หากเขายืนยันว่าต้องการใช้ประโยชน์ที่ดินตามที่กฎหมายให้อำนาจ อาจเกิดการฟ้องร้องตามมาได้