ฝ่ายกฎหมายมหาดไทย เปิดช่อง “กทม.” ยกร่างข้อบัญญัติ บริหารจัดการจัดระเบียบการจอดรถในเขตในพื้นที่เมืองหลวง เทียบ พ.ร.บ.จัดระเบียบการจอดรถในเขต อปท. ฉบับปี 2562 ให้อำนาจ “ผู้บริหาร กทม.” ตั้งพนักงานจัดระเบียบ-พิจารณาฐานความผิด ทั้ง “ค่าปรับ-ค่าจอดรถ-อัตราโทษตามกฎหมายจราจร”
วันนี้ (11 ม.ค.) มีรายงานจากกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ประชุมคณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายกระทรวงมหาดไทย คณะที่ 1 ได้พิจารณาข้อหารือ ของกรุงเทพมหานคร (กทม.)
กรณีการขอนำหลักเกณฑ์และวิธีการของพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามกฎหมายว่าด้วยการจราจรทางบก มาใช้กับกฎหมายว่าด้วยการจัดระเบียบการจอดรถในเขตองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)
มีความเห็นว่า ตามพระราชบัญญัติจัดระเบียบการจอดรถในเขตองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2562 (พ.ร.บ.จัดระเบียบการจอดรถในเขต อปท.) ได้ให้อำนาจในการตราข้อบัญญัติท้องถิ่นเพื่อประโยชน์ในการจัดระเบียบการจอดรถ
อันเกี่ยวกับ ประเภทของรถ ระเบียบการจอดรถในที่จอดรถ กำหนดระยะเวลาจอดรถ ระยะเวลาที่ต้องเสีย ค่าธรรมเนียม อัตราค่าธรรมเนียม วิธีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียม และการยกเว้นค่าธรรมเนียม
กำหนดให้ อปท. มีหน้าที่เป็นผู้ดูแลเพื่อประโยชน์ในการจัดเก็บค่าธรรมเนียมจอดรถ ในที่จอดรถตามอัตราและวิธีการที่กำหนดไว้ในข้อบัญญัติท้องถิ่น
เมื่อ อปท. ได้ออกข้อบัญญัติท้องถิ่นเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ต่างๆ ในเรื่องดังกล่าวข้างต้นแล้ว การดำเนินการใดๆ จะอยู่ภายใต้หลักเกณฑ์ตามข้อบัญญัติท้องถิ่นนั้นๆ ที่ได้กำหนด
โดย อปท.จะต้องทำความตกลงกับหัวหน้าหน่วยงานของเจ้าพนักงานจราจร ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบตามพระราชบัญญัติ จราจรทางบก พ.ศ. 2522 (พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ) เพื่อกำหนดว่าบริเวณพื้นที่ใดที่ให้เป็นที่จอดรถซึ่งอยู่ในความดูแลรับผิดชอบของ อปท.
เพื่อจะได้ไม่เกิดการบังคับใช้กฎหมายในลักษณะที่เป็นการซํ้าซ้อน กับ พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ เนื่องจาก “การจอดรถในที่ห้ามจอดบางกรณี” ไม่ได้อยู่ในพื้นที่รับผิดชอบตามกฎหมายว่าด้วยจราจรทางบก แต่อยู่ในพื้นที่ที่ อปท.ทำการจัดระเบียบไว้จึงไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ
เมื่อ อปท.จะทำการกำหนดระเบียบการจอดรถในพื้นที่นั้น จึงชอบที่จะตราข้อบัญญัติ ซึ่งมีบทบังคับ กำหนดโทษได้ แต่บางกรณีเป็นการจอดรถในพื้นที่รับผิดขอบตามกฎหมายว่าด้วยจราจรทางบก
อีกทั้งอยู่ในเขตพื้นที่ ซึ่ง อปท.ได้ทำการจัดระเบียบการจอดรถไว้ด้วย จึงเป็นความผิดและมีความเกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ และ พ.ร.บ.จัดระเบียบการจอดรถในเขต อปท.
อันถือเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท และด้วยเหตุที่ อปท.เป็นผู้มีอำนาจกำกับดูแลท้องถิ่นนั้น มาตรา 9 วรรคสาม จึงได้ให้อำนาจในการดำเนินการตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ใข้บังคับกับพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยการจราจรทางบกในการดำเนินการเพื่อลงโทษผู้ที่กระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท
ดังนั้น จึงควรพิจารณาเปรียบเทียบระหว่างอัตราโทษตามข้อบัญญัติท้องถิ่นและโทษตามกฎหมายจราจร ที่กำหนดไว้ในเรื่องนั้น
โดยให้ใช้กฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดลงโทษแก่ผู้กระทำความผิด เช่น กรณีผู้ขับขี่ หยุดรถในลักษณะกีดขวางการจราจร
“ตาม พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ ต้องระวางโทษ ปรับไม่เกินห้าร้อยบาท แต่หากข้อบัญญัติท้องถิ่น ได้กำหนดโทษในกรณีดังกล่าว โดยมีโทษจำคุก จะต้องใช้โทษตามอัตราที่กำหนดไว้ในข้อบัญญัติท้องถิ่น ซึ่งเป็นบทลงโทษที่หนักที่สุด”
นอกจากนี้ เนื่องจาก กทม.ยังไม่ได้มีการออกข้อบัญญัติในเรื่องดังกล่าว จึงเสนอแนะให้ทำการศึกษาและเปรียบเทียบ กับกรณีการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ ว่ามีการกำหนดอัตราโทษ ที่เกี่ยวข้องกับการจอดรถในที่ห้ามจอดในกรณีต่างๆ เพียงใด
เพื่อให้สามารถพิจารณาตราข้อบัญญัติท้องถิ่น กำหนดจัดระเบียบการจอดรถและอัตราโทษ ที่จะลงแก่ผู้ฝ่าฝืนได้ โดยพิจารณากรณีต่างๆ ว่า มีความสำคัญมากน้อยเพียงใดเพื่อจะได้พิจารณากำหนดบทลงโทษสำหรับผู้ที่ฝ่าฝืนข้อบัญญัติในเรื่องนั้น
หากเป็นกรณีที่มีความสำคัญ เมื่อมีการฝ่าฝืน โทษที่จะลงแก่ผู้กระทำความผิดจะมีอัตราโทษที่สูง ซึ่งจะเป็นไปตามกรอบ กำหนดเพดานโทษที่กฎหมายจัดตั้ง อปท.นั้นๆ ให้อำนาจไว้ โดยโทษที่จะลงแก่ผู้ฝ่าฝ่นในแต่ละกรณีก็จะลดหลั่นกันลงไปตามลำดับความสำคัญ
สำหรับประเด็นเรื่องการมอบอำนาจในฐานะพนักงานเจ้าหน้าที่ในการว่ากล่าวตักเตือนและเปรียบเทียบ ตามกรณีในมาตรา 9 วรรคสี่ แห่ง พ.ร.บ.จัดระเบียบการจอดรถในเขต อปท.
เห็นว่า พ.ร.บ.ดังกล่าวไม่ได้กำหนด เรื่องการมอบอำนาจไว้เป็นการเฉพาะ จึงสามารถนำเอาหลักการมอบอำนาจตามกฎหมายจัดตั้ง อปท.นั้นๆ มาใช้ได้
ดังนั้น กทม.สามารถอาศัยบทบัญญัติเรื่อง การมอบอำนาจที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราขการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 81 วรรคสาม ประกอบมาตรา 8(1) แห่ง พ.ร.บ.จัดระเบียบการจอดรถในเขต อปท.
“เพื่อให้ผู้บริหารท้องถิ่นสามารถมอบอำนาจ ในฐานะพนักงานเจ้าหน้าที่ในการว่ากล่าวตักเตือนและเปรียบเทียบดังกล่าวให้แก่ข้าราชการตำแหน่งต่างๆ ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ต่อไปได้”