xs
xsm
sm
md
lg

“ดร.เอ้” ปัดให้คะแนน “ชัชชาติ” ยันไม่ทิ้ง กทม.ชี้หาบเร่ต้องแก้ทางเท้าคนเดินไม่สะดวกถือว่าสอบตก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“สุชัชวีร์” ปัดให้คะแนนการทำงาน “ชัชชาติ” บอกเคยเป็นคู่แข่งกัน ยันไม่ทิ้ง กทม. ยังใส่รองเท้าคู่เดิม หัวใจเดิม พร้อมพัฒนานโยบายระดับชาติ เสริมการทำงานท้องถิ่น มองปัญหาหาบเร่บนทางเท้ามีไว้แก้ไข ย้ำ ขึ้นชื่อว่าทางเท้า คนต้องเดินสะดวกก่อน หากเดินไม่ได้ถือว่าสอบตก

วันนี้ (8 ม.ค.) นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ประธานคณะทำงานนโยบาย กทม. พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงความพร้อมของพรรคประชาธิปัตย์ในการเลือกตั้งพื้นที่กรุงเทพมหานคร ว่า พรรคมีความพร้อมอย่างมาก โดยเฉพาะการลงพื้นที่ของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคอย่างต่อเนื่อง แสดงให้เห็นว่า พรรคเอาจริงเอาจังกับพื้นที่ กทม. และแม้ว่าการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. จะผ่านไปแล้ว แต่ก็มีความตั้งใจออกแบบนโยบายระดับชาติ เพื่อสนับสนุนการทำงานของระดับท้องถิ่นของ กทม. ด้วย

“บางทีผู้ว่าฯ กทม. อาจจะต้องการได้รับการสนับสนุน เพราะฉะนั้น อะไรที่ดีๆเราพร้อมสนับสนุนเต็มที่และเป็นสัญลักษณ์ว่าเราทำพื้นที่ กทม.”

นายสุชัชวีร์ กล่าวว่า นโยบายของพรรคที่ออกแบบว่า “สร้างคน สร้างเงิน สร้างชาติ” ออกแบบมาเพื่อ กทม. พร้อมย้ำว่า ชาว กทม.จะไม่ผิดหวังกับนโยบายการศึกษาทันสมัยที่ตนเป็นผู้รับผิดชอบ เพราะได้นำผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้ความสามารถมาร่วมออกแบบ

“กทม. พื้นที่ที่ผมรับผิดชอบ ผมไม่มีทางทิ้ง ผมยังใส่รองเท้าคู่เดิม หัวใจเดิม เต็มที่”

ผู้สื่อข่าวถามว่า ประเมินการทำงานของ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. อย่างไร หลังรับตำแหน่งมาแล้วหลายเดือน นายสุชัชวีร์ กล่าวว่า ตนอยู่ในสถานะที่วิจารณ์ได้ลำบาก เพราะเคยอยู่ในสถานะที่แข่งขันกันแต่ได้ติดตามการทำงานอยู่ตลอดที่สำคัญตอนได้บอกกับนายชัชชาติไปแล้วหลังผลเลือกตั้งออกมาว่าตนแสดงความยินดีและพร้อมสนับสนุนการทำงาน หากประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหา คน กทม. ทุกคนจะได้รับประโยชน์รวมถึงตัวเองและครอบครัวด้วย

“ผมไม่ขอประเมินว่าจะให้คะแนนการทำงานกี่คะแนน เพราะอาจไม่เป็นธรรมมากนักในฐานะอดีตผู้ที่เคยแข่งขันกันในการเลือกตั้ง บทบาทของผมที่ทำพื้นที่กทม.ระดับชาติ หากย้อนมาช่วยท้องถิ่นได้ก็อยากจะช่วย”

ผู้สื่อข่าวถามว่า มีพูดถึงปัญหาหาบเร่แผงลอย ที่ดูเหมือนมีปัญหามากขึ้นหลัง นายชัชชาติ เข้ารับตำแหน่ง ในฐานะนายสุชัชวีร์ เป็นหนึ่งที่ทำงานในพื้นที่ กทม. มีมุมมองต่อเรื่องนี้อย่างไร นายสุชัชวีร์ ระบุว่า ร้านอาหารริมทางเป็นเอกลักษณ์หนึ่งของ กทม. ที่ตนก็ใช้บริการ เพราะเป็นสิ่งที่ทุกคนเข้าถึงได้ง่าย สะดวก ราคาไม่สูง มีเสน่ห์ต่อนักท่องเที่ยว เพราะฉะนั้นสิ่งนี้ต้องคงอยู่ด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจ การเพิ่มโอกาส และการท่องเที่ยว แต่จะบริหารจัดการอย่างไร เพราะขึ้นชื่อว่าเป็นทางเท้า คนก็ยังต้องเดินอย่างสะดวกได้ก่อน ถ้าเดินไม่ได้ทุกอย่างก็สอบตกหมด อยากให้ดูตัวอย่างในต่างประเทศที่เขาทำได้ มองว่า ทางเท้าที่กว้างและมีการจัดการที่ดีก็สามารถขายได้ แต่หากเป็นทางแคบจนคนเดินไม่ได้จำเป็นต้องมีการจัดระเบียบ ปัญหาพวกนี้มีไว้แก้ไข


กำลังโหลดความคิดเห็น