เมืองไทย 360 องศา
ได้เห็นหัวข้อพาดหัวข้างบนอาจดูหวือหวา พร้อมกับการตั้งคำถามว่า “เป็นไปได้หรือ” คำตอบก็คือ มันก็เป็นไปได้ แม้ว่าโอกาสที่จะเกิดขึ้นแบบนั้นจะยากไปหน่อยก็ตาม ดังนั้น เมื่อ “เป็นไปได้” ก็ต้องมาพิจารณากันต่อว่า เป็นไปได้อย่างไร
อย่างไรก็ดี ต้องพิจารณาจากสถานการณ์ และบรรยากาศภายในพรรคพลังประชารัฐ ของ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ก่อน ว่า มีสภาพเป็นอย่างไร เพราะต้องยอมรับว่า มี “เลือดไหล” ออกมาตลอด และหากสำรวจกันแล้ว ต้องยอมรับว่า ไหลออกมากกว่าใคร โดยไหลกระจายไปแทบทุกพรรค ไม่ว่าจะไปภูมิใจไทย เพื่อไทย และล่าสุด ก็คือ พรรครวมไทยสร้างชาติ ของ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งคาดว่า ยังมีอีกลอตใหญ่ที่จะไหลไปพรรคนี้ รวมไปถึงไหลเข้าพรรคเพื่อไทย อีกประปราย
การไหลออกแม้ว่ายังไม่อาจสรุปเป็นตัวเลขแน่ชัด แต่หากประมาณก็น่าจะเกินยี่สิบคนไปแล้ว ซึ่งเป็นเพียงลอตแรกเท่านั้น ยังมีลอตต่อไปอีก โดยที่ออกไปก็มีทั้งพวก “บ้านใหญ่” เกรดเอ เกรดบี ไปไม่น้อย
ขณะเดียวกัน อีกด้านหนึ่งมันก็ “ไหลเข้า” เช่นเดียวกัน แต่ดูตามตัวเลขแล้วเทียบกันไม่ได้กับไหลออก เช่น กลุ่มเศรษฐกิจไทยของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ที่ย้ายกลับบ้านเก่า หลังจากไปไม่รอดที่บ้านหลังใหม่ ยังขาดแต่เพียงตัว “ผู้กอง” ที่คาดว่า รอจังหวะย้ายกลับในอีกไม่นานข้างหน้า รวมไปถึง ส.ส.จากประชาธิปัตย์ อีกบางคน
ด้วยสภาพการณ์เท่าที่เห็นทำให้หลายคนประเมินตรงกันว่า พรรคพลังประชารัฐ ในการเลือกตั้งครั้งหน้า ไม่น่าจะรักษาสภาพความเป็นพรรคใหญ่เอาไว้ได้แน่นอน โดยอาจจะลดขนาดลงมากลายเป็นพรรคขนาดกลาง ส่วนจะกลางระดับไหน ค่อยมาว่ากันอีกทีหนึ่ง
สำหรับรายชื่อกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ชุดปัจจุบัน เหลือ 22 คน ได้แก่ 1. พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค 2. นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รองหัวหน้าพรรค 3. นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองหัวหน้าพรรค 4. นายไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรค 5. นายวิรัช รัตนเศรษฐ รองหัวหน้าพรรค 6. นายสันติ พร้อมพัฒน์ เลขาธิการพรรค 7. นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ เหรัญญิกพรรค 8. นายสุรสิทธิ์ นิธิวุฒิวรรักษ์ นายทะเบียนสมาชิกพรรค 9. นายสมศักดิ์ เทพสุทิน กรรมการบริหารพรรค 10. พล.อ.ธัญญา เกียรติสาร กรรมการบริหารพรรค
11. พล.อ.กฤษณ์โยธิน ศศิพัฒนวงษ์ กรรมการบริหารพรรค 12. นายอิทธิพล คุณปลื้ม กรรมการบริหารพรรค 13. นายพรชัย ตระกูลวรานนท์ กรรมการบริหารพรรค 14. นายสรวุฒิ เนื่องจำนงค์ กรรมการบริหารพรรค 15. นายนิโรธ สุนทรเลขา กรรมการบริหารพรรค 16. นายสัมพันธ์ มะยูโซ๊ะ กรรมการบริหารพรรค 17. นางประภาพร อัศวเหม กรรมการบริหารพรรค 18. นายยงยุทธ สุวรรณบุตร กรรมการบริหารพรรค 19. นายรงค์ บุญสวยขวัญ กรรมการบริหารพรรค 20. นายอรรถกร ศิริลัทธยากร กรรมการบริหารพรรค 21. นายสมเกียรติ วอนเพียร กรรมการบริหารพรรค และ 22. นายอนุชา นาคาศัย กรรมการบริหารพรรค
รายชื่อคณะกรรมการบริหารพรรคดังกล่าว มีบางคนที่มีท่าทีชัดเจนแล้วว่ายังอยู่กับพรรคต่อไป เช่น นายสันติ พร้อมพัฒน์ เลขาธิการพรรค นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ ที่เพิ่งยืนยันล่าสุด รวมไปถึง “กลุ่มชลบุรี” ที่นำโดย นายอิทธิพล คุณปลื้ม และ นายสรวุฒิ เนื่องจำนงค์ ก็มีท่าทีชัดเจนแล้วว่าอยู่ต่อ รวมไปถึง “กลุ่มปากน้ำ”
ขณะที่บางคน เช่น กลุ่ม “สามมิตร” ที่มี นายสมศักดิ์ เทพสุทิน นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ และ นายอนุชา นาคาศัย แม้ยังมีชื่อเป็นกรรมการบริหารพรรค แต่ที่ผ่านมา พวกเขายังไม่เคยมีท่าทีชัดเจน ซึ่งยังมีโอกาสย้าย หรือไม่ย้ายพอๆ กัน ขึ้นอยู่กับว่ามีการประเมินสถานการณ์ในช่วงสุดท้าย รวมไปถึงประโยชน์ทางการเมืองในอนาคตที่พวกเขาจะได้ เพราะหากนับตามไทม์ไลน์แล้ว ยังพอมีเวลาให้ตัดสินใจได้อีกพักใหญ่ จนถึงปลายเดือนมีนาคม ก่อนสภาครบวาระวันที่ 23 มีนาคม กันเลยทีเดียว
เพราะล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็เพิ่งให้สัมภาษณ์ยืนยันชัดเจน เมื่อวันที่ 11 มกราคม แล้วว่า “จะยุบสภาโดยให้ ส.ส.ได้สังกัดพรรคใหม่ได้ทัน” ยืนยันไม่ให้พวกเขาเสียประโยชน์ ดังนั้น หากพิจารณาตามนี้ก็มีโอกาสยุบสภาในเดือนกุมภาพันธ์หลังจากปิดสมัยประชุมไปแล้ว หรือเดือนมีนาคม ช่วงก่อนวันที่ 23 มีนาคม เพื่อเปิดทางให้ ส.ส.ได้หาสังกัดใหม่ได้ ไม่น้อยกว่า 30 วัน
เอาเป็นว่าเมื่อพิจารณาจากรายชื่อคณะกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ ที่เห็นกันอยู่ตรงหน้า ยังถือว่ายังไม่ชัวร์ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ถึงอย่างไรก็ถือว่าเริ่มชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ว่า มีใครบ้างที่อยู่ต่อ
ขณะเดียวกัน เมื่อพิจารณาจากจำนวน ส.ส.ที่ไหลออกจำนวนมาก ซึ่งเป็นลอตแรกๆ เท่านั้น เพราะเชื่อว่า ยังมีอีกชุดใหญ่ตามมาอีก หลังการยุบสภา อีกทั้งเมื่อพิจารณาจาก “กระแส” ไม่ว่าจะเป็นกระแสพรรค หรือกระแสผู้นำพรรค คือ “ลุงป้อม” ก็ต้องยอมรับความจริงว่า ไม่ดีนัก เมื่อเทียบกับหัวหน้าพรรคหลายพรรค เมื่อพิจารณาจากผลสำรวจที่ออกมาก็เป็นเครื่องพิสูจน์ได้ว่า เขามักอยู่รั้งท้ายเสมอ
ดังนั้น เมื่อกระแสพรรค และกระแสผู้นำพรรคไม่โดดเด่น มันก็หวังได้เฉพาะ ส.ส.เขต เป็นหลัก ซึ่งก็ต้องยอมรับว่า ยังมี “ตัวหลัก” จำนวนหนึ่งเหมือนกัน ทำให้เชื่อกันว่า พรรคพลังประชารัฐ ยังคงลดขนาดลงมาเป็น “พรรคขนาดกลาง” แต่สำหรับในทางการเมือง นี่อาจเป็น “จุดเด่น” ของพวกเขา และกลายเป็นพลังดูดรั้งบรรดานักการเมืองประเภท “เขี้ยว” เอาไว้ได้ เพราะด้วยการ “แบ่งขั้ว” การเมือง โดยเฉพาะสองขั้วหลัก ระหว่าง “ขั้วทักษิณ” กับ “ขั้วประยุทธ์” ที่ทั้งสองพรรค คือ เพื่อไทย กับ รวมไทยสร้างชาติ ไม่มีทางร่วมรัฐบาลกันได้พันเปอร์เซ็นต์ แต่สำหรับพรรคอื่น มันอาจมีความยืดหยุ่น ไม่ว่าจะเป็น ภูมิใจไทย พลังประชารัฐ หรือแม้แต่ประชาธิปัตย์ ที่ในที่สุดแล้วสามารถสวิงไปมาได้ทั้งสองขั้ว
แต่หากโฟกัสที่พลังประชารัฐ ที่การเลือกตั้งครั้งหน้าจะมีการชู “ลุงป้อม” เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี และมีความหวังแบบ “ใจบันดาลแรง” ว่า จะได้เป็นสักครั้งก่อนวางมือ ซึ่งอะไรที่ “บันดาลแรง” ว่า เขามีโอกาส เพราะหากพิจารณาจากแนวโน้มเรื่องจำนวนเสียง ส.ส. ก็คงไม่น่าจะกลายเป็นพรรคใหญ่ ได้ ส.ส.มาเป็นร้อยตามที่บรรดาคนข้างกายวาดฝันเอาไว้ แม้ว่าจะมั่นใจจากจำนวน ส.ว.ที่ตุนอยู่ในมือก็ตาม เพราะตราบใดที่มีจำนวน ส.ส.น้อยนิด มันก็แทบเป็นไปไม่ได้ที่พวก ส.ว. จะฝืนใจโหวตหนุน
ดังนั้น เมื่อพิจารณาจากจำนวน ส.ส.ที่จะมีนับร้อย แทบจะเป็นไปไม่ได้ในความเป็นจริง แต่หากความฝันที่จะเป็นนายกฯสักครั้งของ “ลุงป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นจริงขึ้นมาได้ มันก็ต้องมี “ข้อมูลใหม่” ซึ่งที่ผ่านมามักจะมีข่าวลอยลมมาตลอดในเรื่อง “ดีลลับ” กับ “คนแดนไกล” อย่างต่อเนื่อง มีเงื่อนไขแลกเปลี่ยนต่างตอบแทน และล่าสุด เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ก็เพิ่งลือกันมาหมาดๆ แม้ว่าในความเป็นจริงแล้ว น่าจะเป็นไปได้ยากก็ตาม แต่ในทางการเมืองไทยมันก็มีโอกาสเป็นไปได้เสมอ !!