“อดีตรองอธิการ มธ.” แนะไม่ต้องปฏิรูปสถาบันฯ แค่ทุกคนเริ่มจากตัวเรา สังคมไทยจะดีในทันที เลขาฯ องค์กรต้านคอร์รัปชัน แฉ “ซื้อ-ขาย” ตำแหน่งบิ๊ก ขรก. ราคาสูงถึง 400 ล้าน อธิบดีบางกรมแพงกว่าปลัดฯ
น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง วันนี้ (10 ม.ค. 66) รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคล ม.ธรรมศาสตร์ (มธ.) โพสต์เฟซบุ๊ก Harirak Sutabutr ระบุว่า
“ไม่ต้องคิดปฏิรูป ไม่ต้องคิดล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์เพื่อสังคมที่ดีกว่า พระองค์ท่านไม่ได้ทรงเกี่ยวข้องอะไรด้วยเลย
ตั้งแต่วันนี้ หากเราทุกคนยึดหลักปฏิบัติ 16 ข้อต่อไปนี้ สังคมไทยก็จะเป็นสังคมที่ดีได้ในทันที
1. หยุดรถให้คนเดินเท้าข้ามถนนบนทางม้าลายทุกครั้ง
2. เดินข้ามถนนบนทางม้าลาย หรือสะพานคนข้ามเท่านั้น ยกเว้นทางม้าลายหรือสะพานคนข้ามอยู่ไกลเกินกว่า 100 เมตร
3. ขับรถโดยเคารพกฎจราจร ไม่เบียดเบียนคนอื่น รู้จักเคารพสิทธิของผู้อื่น ไม่ขับรถวิ่งบนไหล่ทางแล้วไปเบียดคนที่เขาอยู่ในช่องที่ถูกต้อง ไม่แซงออกซ้ายแล้วเบียดขวา แย่งชิงทางของผู้อื่น เข้าช่องจราจรให้ถูกต้อง อยู่ช่องเลี้ยวต้องเลี้ยว อยู่ช่องตรงต้องตรง ไม่จอดรถขวางผู้อื่น
4. ขับรถให้ทางแก่รถฉุกเฉิน รถพยาบาลที่กำลังพาผู้ป่วยหนัก หรือผู้ประสบอุบัติเหตุไปโรงพยาบาล ทุกครั้ง
5. รถมอเตอร์ไซค์ไม่วิ่งย้อนศร ไม่ออกรถขณะมีสัญญานไฟแดง ไม่วิ่งบนทางเท้า ไม่ชิงแซงซ้ายขณะรถยนต์กำลังเลี้ยวซ้าย
6. พนักงานขับรถประจำทางจอดรับส่งผู้โดยสารชิดขอบถนน ไม่จอดกลางถนน
7. ทิ้งขยะลงในถังขยะหรือที่ที่ควรทิ้งทุกครั้ง ไม่ทิ้งขยะลงในแม่น้ำลำคลอง หรือในทะเล หรือบนชายหาด โดยเด็ดขาด
8. ไม่สร้างเรื่องโกหกที่ทำให้คนอื่นเสียหาย ไม่ใส่ร้ายคนอื่น ไม่สร้าง fake news ที่ทำให้คนเข้าใจผิด และเป็นผลลบต่อส่วนรวม
9. ไม่ทำอะไรเพื่อความสะดวกของตัวเอง แต่เป็นภาระหรือความไม่สะดวกต่อผู้อื่น เช่น ไม่จอดรถเข็นขวางทางผู้อื่นในซุปเปอร์มาร์เก็ต ไม่แย่งชิงที่จอดรถผู้อื่นที่เขามาก่อน ไม่แซงคิว ยึดหลักมาก่อนได้ก่อนอย่างเคร่งครัด ไม่จอดรถติดเครื่องเปิดแอร์ให้ตัวเองเย็นสบายแต่เป็นอันตรายต่อผู้อื่น เป็นต้น
10. ไม่ติดสินบนเจ้าหน้าเพื่อให้ตัวเองรอดพ้นจากการทำความผิด หรือเพื่อให้ได้ผลประโยชน์ที่ไม่พึงได้
11. ไม่เอาเงินหรือทรัพย์สินของผู้อื่นมาเป็นของตัวเอง โดยที่เจ้าของไม่ยินยอมพร้อมใจ หรือไม่เต็มใจ
13. ไม่เอาตัวเองหรือพวกตัวเองเป็นศูนย์กลาง จนมองคนที่คิดไม่เหมือนตัวเอง หรือพวกตัวเอง เป็นคนโง่หรือ
คิดผิด
14. ใช้เวลาค้นหาข้อมูลเพื่อพิสูจน์ความจริง ก่อนที่จะเชื่อและแชร์ข้อมูลที่ได้รับใน social media ทุกครั้ง
15. รู้จักให้แบบไม่มีเงื่อนไข โดยไม่ต้องรอให้มีการรณรงค์เรี่ยไร ให้ตามกำลังที่เรามี ไม่ใช่ให้เพื่อให้ได้หน้า หรือหวังผลตอบแทนใดๆ
16. รู้จักให้อภัยกับคนที่สมควรให้อภัย
สังคมที่ดีไม่ได้เกิดขึ้นจากใครอื่น แต่เกิดขึ้นจากตัวเราเอง”
ขณะเดียวกัน ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันประเทศไทย โพสต์เฟซบุ๊ก มานะ นิมิตรมงคล ระบุว่า
“คอร์รัปชันในการซื้อขายตำแหน่งราชการ
ประหลาดใจกันไหมครับ! ทั้งๆ ที่สังคมไทยรับรู้กันมานานเรื่องการซื้อขายตำแหน่งในวงการตำรวจ ข้าราชการ และเกือบทุกหน่วยงานของรัฐ แต่ทำไมถึงไม่เคยมีใครโดน ป.ป.ช. เล่นงาน หรือถูกศาลลงโทษด้วยความผิดนี้เลย ทุกวันนี้การซื้อขายตำแหน่ง เขาทำกันอย่างไรจึงแพร่ระบาดและจับผิดยาก
แน่นอนว่า ในตลาดซื้อขายตำแหน่งมีทั้งเรื่องจริงและต้มตุ๋น ทั้งการซื้อและการฝาก (คนฝากจะได้อะไร?) มีทั้งจ่ายเป็นเงินและเกิดบุญคุณต้องตอบแทน กลายเป็นเครือข่ายคนรู้กันที่ง่ายต่อการจับมือช่วยกันโกงต่อไป ทั้งหมดเป็นเรื่องสมประโยชน์ของคู่กรณีที่ต่างรับราชการมานาน หากถูกเปิดโปงหรือจับได้ย่อมมีความผิดไปด้วยกัน ดังนั้นพยานหลักฐานจึงหายาก
ข้อมูลเท่าที่ผมทราบจากคำบอกเล่าและเรื่องร้องเรียนของข้าราชการ ตำรวจ ทหาร และพนักงานรัฐวิสาหกิจ มีดังนี้
1. ตำแหน่งที่ซื้อขาย..
1.1 มักเป็นตำแหน่งสำคัญที่มีอำนาจและผลประโยชน์มาก เช่น ปลัดฯ อธิบดี ผู้อำนวยการ ผู้ว่าฯ เลขาธิการ ผู้บัญชาการ ผู้กำกับ ฯลฯ
1.2 ตำแหน่งที่เปิดให้ซื้อขาย อาจเป็นตำแหน่งที่ว่างจากการโยกย้ายตามฤดูกาลหรือนอกฤดูกาล เพื่อทดแทนคนเกษียณ ลาออกหรือถูกย้าย หลายปีก่อนในวงการตำรวจมีเทคนิคทำให้ตำแหน่งสำคัญว่างลง หรือที่เรียกว่าเกิด “หลุม” แล้วเปิดขายให้ใครก็ตามที่ต้องการลงหลุมนั้นเช่น จ้างให้คนเดิมลาออกจากราชการ จ้างให้ Early Retire จ้างให้ขอย้ายตัวเอง เป็นต้น
2. ผู้มีอำนาจ..
2.1 ผู้มีอำนาจแต่งตั้งโยกย้ายคือ รัฐมนตรี ปลัดกระทรวง อธิบดีโดยความเห็นชอบของปลัดฯ และตัวอธิบดีเอง ขึ้นอยู่กับตำแหน่งหรือ “ซี” ของผู้ถูกย้าย ในบางองค์กรอาจมีอำนาจของคณะกรรมการด้วย แต่ในชีวิตจริงเป็นที่ทราบกันดีว่ารัฐมนตรีมักล้วงลูกเสมอ
2.2 กรณีกรมอุทยานฯ มีวิธีที่โหดร้ายโดยอาศัยช่องว่างของกฎหมาย คือ ย้ายไปดำรงตำแหน่ง กับการย้ายไปปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งเป็นอำนาจของอธิบดีที่จะออกคำสั่งเมื่อใดก็ได้ ดังที่เกิดในกรณีกรมอุทยานฯ ตามที่เป็นข่าว
3. ราคาที่ต้องจ่าย..
3.1 มีตั้งแต่หลักแสนบาทถึงหลายร้อยล้านบาท ราคาซื้อขายจะสูงมากหรือต่ำไม่เกี่ยวกับระดับชั้นของตำแหน่ง เช่น ปลัดกระทรวงอาจซื้อ 200 ล้านบาท แต่อธิบดีกรมหลักในกระทรวงนั้นอาจแพงมากถึง 400 ล้านบาทก็มีมาแล้ว ราคาจึงขึ้นอยู่กับผลประโยชน์ที่จะได้รับจากตำแหน่ง ซึ่งโดยมากเป็นหน่วยงานที่มีงบลงทุนหรืองบก่อสร้างมากๆ เช่น สร้างถนน สร้างเขื่อน
หรือเป็นหน่วยงานที่ใช้งบแล้วโอกาสถูกตรวจสอบหาหลักฐานยาก เช่น กรมเกี่ยวกับฝนเทียม ขุดน้ำบาดาล งบแก้ปัญหาภัยพิบัติ
หรือมีอำนาจจัดเก็บหรือหารายได้ เช่น ค่าเข้าอุทยาน เปิดสัมปทาน ประเมินเก็บภาษี หรือหน่วยงานที่มีเขตอำนาจในทำเลทอง เช่น มีโรงงานหรือมีธุรกิจผิดกฎหมายตั้งอยู่มาก ฯลฯ
3.2 ล่าสุด กรณีกรมอุทยานฯ ทำให้เราได้ยินคำว่า “ค่ารักษาตำแหน่ง” และการประมูลตำแหน่ง
4. เงินมาจากไหน..
เงินที่เอามาจ่ายกันอาจเป็นของครอบครัว เงินสะสมจากการทำงานสุจริตหรือเงินที่คดโกงเขามาหรือเงินที่พ่อค้าลงขันให้
5. วิธีจ่าย ขึ้นอยู่กับขนาดของหน่วยงานและความใกล้ชิดของคู่กรณี
5.1 จ่ายตรงผู้มีอำนาจทั้งนักการเมืองหรือข้าราชการระดับสูง จ่ายให้ผู้ทำหน้าที่ศูนย์กลาง จ่ายผ่านนายหน้าที่ได้รับมอบหมาย จ่ายผ่านผู้ใหญ่หรือผู้มีอิทธิพลเพื่อให้เขาไป “ฝาก” ผู้มีอำนาจตัวจริง
5.2 ผ่อนส่งเป็นงวดหรือรายเดือน หรือคนที่นายเชื่อมือแต่ไม่มีเงินก้อนก็สามารถรับเป้าหาเงินส่งนายเมื่อได้ตำแหน่งแล้ว
คนที่ซื้อตำแหน่งบ้างหวังร่ำรวยหรือโอกาสเติบโตในหน้าที่ บ้างก็อยากสบายหรืออยู่ใกล้ครอบครัว โดยรู้ดีว่าแม้จ่ายเงินแล้วก็ไม่แน่ว่าจะได้ตำแหน่งที่ต้องการและจะได้ครองตำแหน่งนั้นนานแค่ไหน
อีกมุมหนึ่ง ยังมีคนโชคร้ายจำนวนมากที่จำยอมจ่ายเงินเพียงขอให้มีงานทำ แม้ตำแหน่งเล็กๆ รายได้ไม่มาก เช่น คนติดรถเก็บขยะ ครูช่วยสอน ผู้ดูแลคนชรา นายสิบตำรวจ ฯลฯ
คอร์รัปชันในการซื้อขายตำแหน่งราชการ ทำลายศักดิ์ศรีข้าราชการ ทำร้ายคน ทำลายระบบ ทำลายชาติ หากทนยอมปล่อยไว้ สักวันเหล่าคนโกงจะครองเมืองได้อย่างย่ามใจ
#คอร์รัปชัน #ซื้อขายตำแหน่ง #ACTกันไว้เถิด #VoiceOfChange #watchdog #คอร์รัปชัน #หมาเฝ้าบ้าน”
แน่นอน, ประเด็นที่น่าคิดก็คือ คนไทยอาจต้องทบทวนตัวเองมากขึ้น ว่าปัญหาทั้งหมดที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ที่ทำให้คนไทยไม่พอใจ ไม่มีความสุข และโทษคนอื่น โทษสิ่งอื่น ที่ไม่ใช่ตัวเรา แท้จริงมันใช่ทั้งหมดหรือไม่?
ตัวอย่างที่นักวิชาการ อย่าง รศ.หริรักษ์ หยิบยกขึ้นมา แม้ว่า จะเป็นเรื่องในชีวิตประจำวันเป็นส่วนใหญ่ ที่เราสามารถเปลี่ยนแปลงให้สังคมดีขึ้นได้ด้วยทุกคนช่วยกัน อาจทำให้สังคมไทยเปลี่ยนแปลงจากหน้ามือเป็นหลังมือไปเลยก็เป็นได้
แล้วถ้าคนไทยทุกคนปฏิวัติตัวเอง ทำดีจากตัวเอง คนที่อยู่ร่วมสังคมกับคนไทย อย่าง นักการเมือง ข้าราชการ นักธุรกิจ องค์กรเอกชน ฯลฯ ก็ต้องปฏิวัติตาม ไม่เช่นนั้นก็จะกลายเป็น “แกะดำ” ของสังคมไทย ของประเทศไทย เป็น “ตัวถ่วง” หรือ ถูกคนไทยกดดันจนไม่มีที่ยืนได้
แต่วันนี้ คนไทยยัง “โทษคนอื่น” โทษโน่น โทษนี่ ว่า เป็นต้นเหตุให้สังคมไทยไม่ดีขึ้น
อีกทั้งเราอยู่ร่วมกับการ “ทุจริตคอร์รัปชัน” จนชิน จนกลายเป็นเรื่องธรรมดา เรารู้ว่าข้าราชการรับเงินใต้โต๊ะ มีการซื้อ-ขายตำแหน่ง แต่ก็คิดว่า แก้ไม่ได้ มีมานานแล้ว เราก็เป็นส่วนหนึ่งในการจ่ายเงินใต้โต๊ะ เพื่อความสะดวกในการติดต่อราชการ แล้วคนที่โกงกินบ้านเมือง ก็ไม่รู้สึกผิดแต่อย่างใด รวมทั้งเมื่อจับได้ไล่ทัน ก็ลูบหน้าปะจมูกจนทำอะไรไม่ได้ เพราะทำกันทั้งระบบ อะไรทำนองนั้น
ถามว่า ต้องเริ่มที่ใครจึงจะปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชันสำเร็จ คำตอบคือ อยู่ที่ตัวเราของทุกคนที่จะต้อง ไม่รู้สึกชิน ไม่รู้สึกเป็นเรื่องธรรมดา แต่เป็นเรื่องผิดกฎหมาย ที่จะต้อง “เอาผิด” อย่างจริงจัง ถ้าทุกคนทำได้ ใครจะกล้าคอร์รัปชัน
และสุดท้ายก็ไม่จำเป็นต้องมีใครมาชี้นำเปลี่ยนแปลงโน่น นี่ นั่น จึงจะทำให้ทุกอย่างดีขึ้น เพราะทุกคนรู้หน้าที่และความรับผิดชอบที่มีต่อสังคมแล้ว