xs
xsm
sm
md
lg

“อัษฎางค์” ย้อนตำนาน “วังวินเซอร์-สนามศุภชลาศัย” สัญลักษณ์คณะราษฎรย่ำยีสถาบันฯ รับ “แบล็คพิ้งค์”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพ “วังวินเซอร์ ในอดีต และสนามศุภชลาศัย ในปัจจุบัน สถานที่จัดคอนเสิร์ตของ “แบล็คพิ้งค์ ขอบคุณข้อมูล-ภาพ จาก เพจเฟซบุ๊ก เอ็ดดี้ อัษฎางค์ ยมนาค
ตำนานมีชีวิต! “อัษฎางค์” ย้อนอดีตอันขมขื่น ของ “วังวินเซอร์” ก่อนมาเป็น “สนามศุภชลาศัย” สัญลักษณ์ ที่คณะราษฎร ย่ำยี “สถาบันพระมหากษัตริย์” รับคอนเสิร์ต “แบล็คพิ้งค์” กับอีกด้านที่เป็นคุณูปการ “หลวงศุภชลาศัย”

น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง วันนี้ (7 ม.ค. 66) เพจเฟซบุ๊ก เอ็ดดี้ อัษฎางค์ ยมนาค ของ นายอัษฎางค์ ยมนาค นักวิชาการอิสระ โพสต์ภาพ พร้อมข้อความระบุว่า

“แบล็คพิ้งค์ สนามศุภชลาศัยและวังวินเซอร์

เห็นแบล็คพิ้งค์มาเปิดการแสดงที่สนามศุภชลาศัย ทำให้หวนนึกถึงวังวินเซอร์ สัญลักษณ์อันแสดงถึงการถูกกระทำย่ำยี ที่คณะราษฎรกระทำต่อสถาบันพระมหากษัตริย์
…………………………………………………………

“ถนนวชิรุณหิศและวังกลางทุ่ง (วังวินเซอร์)
เรื่องจริงที่กลายเป็นเพียงตำนานที่ลางเลือน”

สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า มีพระนามเดิมว่า พระองค์เจ้าสว่างวัฒนา (เป็นสมเด็จย่าของในหลวงรัชกาลที่ 8 และ รัชกาลที่ 9) ทรงเป็นพระเจ้าลูกเธอพระองค์ที่ 60 ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

เมื่อทรงเจริญพระชันษาขึ้น พระองค์ก็มีพระสิริโฉมงดงาม จนมีคำกล่าวว่า “หน้าตาคมสันองค์สว่าง พูดจากระจัดกระจ่างองค์สุนันทา”

พระองค์ทรงเข้ารับราชการเป็นพระภรรยาเจ้าในรัชกาลที่ 5 ขณะที่มีพระชนม์ 16 พรรษา

ปีพุทธศักราช 2421 พระองค์เจ้าสว่างวัฒนา ทรงมีพระประสูติกาล สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ พระราชโอรสพระองค์ใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
จึงได้รับการสถาปนาเป็น สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี (Her Majesty Queen) เป็นตำแหน่งพระอัครมเหสีในสมัยรัชกาลที่ 5

หลังจากพระองค์ทรงดำรงตำแหน่งพระอัครมเหสีแล้ว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้สร้างพระตำหนักขึ้นในเขตพระราชฐานชั้นใน พระบรมมหาราชวัง เพื่อให้เป็นที่ประทับของสมเด็จพระอัครมเหสี พระตำหนักใหม่นี้เป็นพระตำหนักขนาดใหญ่ ถือเป็นพระตำหนักประธานในเขตพระราชฐานชั้นใน โดยเมื่อขึ้นพระตำหนักใหม่แล้ว ชาววังก็ออกพระนามสมเด็จพระอัครมเหสีโดยลำลองว่า สมเด็จพระตำหนัก
…………………………………………………………

ครั้นที่สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอฯ มีพระชันษา 3 ปี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงซื้อที่นาและสวนทางทิศตะวันออกของพระนคร เพื่อพระราชทานแด่พระราชโอรสพระองค์ใหญ่ โดยเริ่มสร้างวังเมื่อ พ.ศ. 2424

เห็นหรือไม่ว่า ทรงซื้อที่นาและสวนเพื่อสร้างวัง ไม่ได้ใช้วิธีเวนคืนหรือยึดมาดื้อๆ ทั้งๆ ที่ ในสมัยโบราณยังถือว่า พื้นแผ่นดินไทยทั้งแผ่นดินเป็นของพระมหากษัตริย์ เราจึงเรียนว่าพระเจ้าอยู่หัวแผ่นดิน

ต่อมาในปี พ.ศ. 2429 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาพระเจ้าลูกยาเธอฯ นี้ขึ้นเป็น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร

แต่ต่อมาในวันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2437 เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สวรรคตด้วยพระโรคไข้รากสาดน้อย ในขณะที่มีพระชันษาเพียง 17 พรรษา
…………………………………………………………

ซึ่งการก่อสร้างวังยังไม่เสร็จและยังมิทันที่จะเสด็จไปประทับ ณ วังใหม่

แต่การก่อสร้างยังคงดำเนินต่อไปจนแล้วเสร็จ โดยชาวบ้านทั่วไปเรียกขานกันว่า วังใหม่ หรือวังกลางทุ่ง ตามทำเลที่ตั้ง เนื่องจากเป็นอาคารถาวรขนาดใหญ่ จึงเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง

วังใหม่ หรือวังกลางทุ่ง ยังมีชื่อเรียกว่า “วังวินเซอร์” เนื่องจากออกแบบโดยสถาปนิกชาวอังกฤษ โดยนำแบบมาจากพระราชวังวินเซอร์แห่งสหราชอาณาจักรเป็นต้นแบบ

พระตำหนักหอวังได้รับการออกแบบเป็นอาคาร 3 ชั้น มีบันไดขึ้นลงตรงกลางอันเป็นรูปแบบของสถาปัตยกรรมกอทิก ใช้วัสดุก่อสร้างเป็นหินอ่อนนำเข้าจากต่างประเทศทั้งสิ้น หัวเสาได้รับการสลักศิลปะแบบโรมัน
…………………………………………………………
เมื่อมีการสถานปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงพระราชทานพื้นที่ของพระตำหนักหอวังและพื้นที่โดยรอบให้แก่มหาวิทยาลัย
พระตำหนักแห่งนี้จึงได้ใช้เป็นสถานที่ทำการเรียนการสอนแก่นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในแผนกวิศวกรรมศาสตร์ เตรียมแพทยศาสตร์ โรงเรียนกระทรวงเกษตราธิการ โรงเรียนปรุงยา แผนกรัฎฐประศาสนศึกษา และแผนกฝึกหัดครู

ต่อมาในปี พ.ศ. 2472 ได้มีการตั้งแผนกฝึกหัดครูของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสถาปนาโรงเรียนมัธยมหอวังแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขึ้นเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2472 เพื่อให้นิสิตแผนกฝึกหัดครู ใช้ฝึกความชำนาญในการสอน และได้ใช้พระตำหนักนี้เป็นที่ทำการสอน จึงได้ใช้ชื่อโรงเรียนว่า “โรงเรียนหอวัง” และเรียกพระตำหนักหลังนี้ว่า “ตึกหอวัง”
…………………………………………………………

เวลาล่วงเลยมาจนถึงปี พุทธศักราช 2478 หลังจากพระราชวงศ์ถูกยึดอำนาจจากคณะราษฎร เพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตย

หลวงศุภชลาศัย หนึ่งในสมาชิกของคณะราษฎร ซึ่งดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมพลศึกษา ในรัฐบาลของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้มีแนวคิดที่จะหาพื้นที่ก่อสร้างกรีฑาสถานแห่งชาติขึ้น จึงได้ตัดสินใจใช้ที่ดินบริเวณวังวินเซอร์สร้างเป็นสนามกีฬา

ทั้งที่ความจริงใจในขณะนั้นบริเวณโดยรอบวังยังเป็นทุ่งนาว่างเปล่า (หมายความว่า ทำไมไม่คิดสร้างสนามกีฬาบนพื้นที่ที่ว่างอยู่ ซึ่งยังมีพื้นที่ใหญ่โตกว้างขว้างที่ว่างเปล่า ทำไมต้องทุบวังทิ้ง)

โดยให้คนนับร้อยชีวิตมาทำการรื้อถอนวังที่ประทับรวมไปถึง สิ่งปลูกสร้างโดยรอบออกจากที่ดินแห่งนี้จนหมดสิ้น

ในขณะนี้มีการทุบวัง เยื้องมาอีกฝั่งทางถนนพญาไทเป็นที่ตั้งของวังสระปทุม ซึ่งเป็นวังที่ประทับของ สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนาฯ ผู้เป็นพระมารดาของเจ้าของวัง

และด้วยความอาลัยที่ต้องสูญเสียพระราชโอรสไป ดังนั้น วังวินเซอร์ก็เปรียบเสมือนเป็นอนุสรณ์ถึงลูกชาย มองไปไกลๆ ได้เห็นยอดหลังคาของวังวินเซอร์ก็ทำให้หายคิดถึงไปได้บ้าง

แต่เมื่อรัฐบาลยืนยันที่จะทำเช่นนั้น พระองค์ก็ทำได้แต่เพียงประทับอยู่ที่เฉลียงวังสระปทุม ฟังเสียงคนงานกระหน่ำทุบวังวินเซอร์อยู่ทุกเช้าค่ำ

ภาพ นายอัษฎางค์ ยมนาค จากแฟ้ม
ด้วยหัวอกของคนเป็นแม่ พระองค์ถึงกับทรงตรัสกับนางข้าหลวงผู้ใกล้ชิดว่า “ได้ยินเสียงเขาทุบวังลูกฉันทีไร มันเหมือนกำลังทุบใจฉันอย่างนั้น” น้ำเสียงของพระองค์สั่นคลอนน้ำพระเนตรคลอด้วยความอัดอั้นตันใจ

เล่ากันว่า ถ้าไม่จำเป็นพระองค์จะไม่เสด็จผ่านไปทางกรมพลศึกษา หรือหากจำเป็นต้องผ่านก็จะหันพระพักตร์มองไปทางอื่น
…………………………………………………………

เรื่องราวสิ่งที่จะเป็นอนุสรณ์สำหรับรำลึกถึงเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ ยังไม่จบแค่นี้

หลังจากเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สวรรคตจนเวลาผ่านเลยมากว่า 15 ปี แต่ในหลวงรัชกาลที่ 5 ยังคงไม่ลืมและมีสิ่งซึ่งแสดงถึงความอาลัยที่ทรงมีต่อพระราชโอรสพระองค์นี้กล่าวคือ

ในปี พ.ศ. 2442 ได้มีแนวพระราชดำริ ที่ให้ตัดถนนใหม่โดยพระราชทานนามถนนนี้ ว่า ถนนวชิรุณหิศ มีใจความสำคัญตอนหนึ่งระบุว่า

“…อยากจะขอเติมขึ้นใหม่อีกสายหนึ่ง คือ ระยะตั้งแต่ถนนกรุงเกษม ออกไปจนถึงถนนนิวแมน ตามถนนประทุมวัน ไม่มีถนนขวางเลยเกือบ 100 เส้น ถ้าผู้ซึ่งอยู่ถนนประทุมวันจะไป สเตชั่นรถไฟปากน้ำ ก็ต้องอ้อมไปทางถนนนิวแมนฤามาทางไกลมาก ควรจะตัดถนนขวางอิกสายหนึ่ง จากถนนวัวลำพอง ผ่านข้างวังกลางทุ่ง แล้วผ่านถนนประทุมวันไปตกคลองบางกปิ แล้วข้ามคลองบางกปิไปบรรจบถนนประแจจีน ซึ่งจะยืนออกไปประทุมวัน ถ้าตัดได้เช่นนั้น ผู้ซึ่งอยู่ตามแถบข้างล่าง คือ ถนนสุรวงษ เปนต้น จะไปสวนดุสิตใกล้กว่าที่จะอ้อมเข้ามาทางในเมือง…”

แม้ขณะนี้ยังไม่พบหลักฐานว่าต่อมาได้มีการตัดถนนวชิรุณหิศจริงหรือไม่ ชื่อนี้เลือนหายไปเมื่อใด

แต่เรื่องราวของ ถนนวชิรุณหิศ เมื่อพิจารณาจากแผนที่กรุงเทพฯ และเส้นทางของถนนที่เชื่อมบรรจบกับถนนสายต่างๆ สันนิษฐานได้ว่าน่าจะเป็น ถนนพญาไท ในปัจจุบัน

กล่าวโดยสรุปได้ว่า ทั้งถนนวชิรุณหิศและวังวินด์เซอร์ ซึ่งจะเป็นที่ระลึกถึงเจ้าฟ้าวชิรุณหิศ ไม่มีเหลือเลยในปัจจุบัน นอกจากนี้ยังกลับกลายเป็นสัญลักษณ์อันแสดงถึงการถูกกระทำย่ำยี ที่คณะราษฎร์กระทำต่อสถาบันพระมหากษัตริย์...
ขอบคุณ วิกิพีเดีย ศิลปวัฒนธรรม กูเกิลและครูบาอาจารย์”

ขณะที่ การทัวร์คอนเสิร์ตในไทยของ 4 สาว BLACKPINK (แบล็คพิ้งค์) เกิร์ลกรุ๊ปชื่อดังสุดฮอตจากเกาหลีใต้ จีซู, เจนนี่, โรเซ่, และ ลิซ่า จากค่าย YG Entertainment พวกเธอกลับมาพร้อมผลงานล่าสุดสำหรับเวิลด์ทัวร์ BORN PINK ใน BLACKPINK WORLD TOUR [BORN PINK] SCHEDULE ANNOUNCEMENT โดยคอนเสิร์ต จัดขึ้นในวันที่ 7-8 มกราคม 2566 ณ สนามกีฬาแห่งชาติ (สนามศุภชลาศัย) ซึ่งมีราคาบัตรอยู่ที่ 9,600 / 6,800 / 6,600 / 5,800 / 5,600 / 4,800 / 3,800 / 2,800 / 2,000 บาท

ที่น่าสนใจไปกว่านั้น สำหรับสนามกีฬาแห่งชาติ (สนามศุภชลาศัย)

แต่เดิมการแข่งขันกรีฑานักเรียน จะจัดอยู่ที่สนามโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ต่อมา นาวาโท หลวงศุภชลาศัย ร.น. อธิบดีกรมพลศึกษาคนแรก ได้ย้ายสนามแข่งขันไปแข่งขันที่ท้องสนามหลวง เมื่อ พ.ศ. 2477 และในปีเดียวกันก็ได้ทำสัญญาเช่าที่ดินบริเวณตำบลวังใหม่ กับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตรง บริเวณที่เดิมเป็นวังวินเซอร์ ซึ่งเป็นวังที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ สร้างพระราชทานสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร เพื่อสร้าง สนามกีฬา และโรงเรียนพลศึกษากลาง สนามกีฬาแห่งใหม่นี้ใช้ชื่อว่า สนามกรีฑาสถาน เริ่มงานตั้งแต่ วันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2480 จวบจนแล้วเสร็จสมบูรณ์เมื่อ พ.ศ. 2484

กรมพลศึกษาย้ายมาอยู่ที่ สนามกีฬาแห่งใหม่นี้เมื่อ พ.ศ. 2481 พร้อมทั้งย้ายการแข่งขันกรีฑาประชาชนชาย ประจำปี พ.ศ. 2481 จากสนามหลวงมาจัดที่นี่ โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เสด็จพระราชดำเนินเป็นประธานพิธีเปิดการแข่งขัน ณ สนามกรีฑาสถานเป็นครั้งแรก

เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2484 กรมพลศึกษา ได้เปลี่ยนชื่อสนามกรีฑาสถาน เป็น สนามศุภชลาสัยกรีฑาสถานแห่งชาติ เพื่อเป็นเกียรติแก่ หลวงศุภชลาศัย ทุกวันนี้นิยมเรียกสั้นๆ เพียงว่า สนามศุภชลาศัย หรือสนามกีฬาแห่งชาติ

ปัจจุบัน สนามศุภชลาสัยได้อยู่ในความดูแลของกรมพลศึกษา และได้คืนพื้นที่บางส่วนให้เป็นสถานที่เรียน ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และใช้สถานที่บางส่วนเป็นที่ทำการของกรมพลศึกษา นอกจากนั้น ยังเป็นที่ตั้งของหน่วยงาน สมาคมเกี่ยวกับกีฬา และนันทนาการอื่นๆ
ที่มา กรมพลศึกษา / wikipedia

แน่นอน, ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ ความเป็นมา ของ “วังวินเซอร์” และ “สนามศุภชลาศัย” ซึ่งเป็นตำนานที่คนรุ่นใหม่ และแฟนคลับ “แบล็คพิ้งค์” น่าจะรับรู้เอาไว้ ว่า “บนพื้นที่” อันเต็มไปด้วยบรรยากาศของความสนุกสนานนั้น มีความขลังอะไรฝังอยู่ก่อนหน้านี้ และเป็นประวัติศาสตร์ที่ควรค่าแก่การเรียนรู้แค่ไหน


กำลังโหลดความคิดเห็น