พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระภรรยาเจ้าในระดับพระบรมราชเทวี ๓ พระองค์ เป็นพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกับเจ้าจอมมารดาเปี่ยม หรือสมเด็จพระปิยมาวดี ศรีพัชรินทรมาตาทั้ง ๓ พระองค์ คือ
สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ หรือ พระนางเรือล่ม
สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา ได้รับการสถาปนาเป็น สมเด็จพระศรีสวรินทรา บรมราชเทวี พระพันวสาอัยยิกาเจ้า
สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี ได้รับการสถาปนาเป็น สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง
เมื่อกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญทิวงคตในปี ๒๔๒๘ สมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯทรงยกเลิกตำแหน่งพระมหาอุปราช สถาปนาตำแหน่งสยามมกุฎราชมารเป็นองค์รัชทายาทแทน และสถาปนาสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ พระราชโอรสองค์ใหญ่ที่ประสูติจากสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี ขึ้นเป็นมกุฎราชกุมารองค์แรก ขณะมีพระชนมายุได้ ๙ พรรษา
แต่เมื่อเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ ดำรงพระยศสยามมกุฎราชกุมาร ๘ ปีได้เสด็จสวรรคตด้วยพระโรคไข้รากสาดน้อย ทำให้สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนาทรงล้มทั้งยืน กรรแสงอย่างหนักไม่ฟังคำปลอบประโลมใดๆ ไม่เสด็จกลับที่ประทับ ให้กั้นฉากบรรทมในที่ประดิษฐานพระบรมศพ จนทรงพระประชวร
หลังจากทรงพักฟื้นมีพระพลามัยดีขึ้น เจ้าฟ้าหญิงศิราภรณ์โสภณ พระราชธิดาองค์ที่ ๖ ก็สิ้นพระชนม์ไปอีกองค์ขณะพระชนมายุได้ ๑๐ พรรษา ทรงเสียพระทัยถึงกับประชวรอีก แพทย์ต้องกราบทูลขอให้เสด็จไปประทับรักษาพระองค์ที่ชายทะเล แต่ยังไม่ทันไป เจ้าฟ้าสมมติวงศ์วโรทัย กรมขุนศรีธรรมราชธำรง พระราชโอรสองค์ที่ ๔ ก็สิ้นพระชนม์อีกองค์
ก่อนหน้านั้น เจ้าฟ้าอิศริยาลงกรณ์ พระราชโอรสองค์ที่ ๒ ได้สิ้นพระชนม์ขณะมีพระชันษาได้ ๒๑ วัน เจ้าฟ้าหญิงวิจิตรจิรประภา พระราชธิดาองค์ที่ ๓ สิ้นพระชนม์ขณะมีพระชันษา ๔ เดือน และเจ้าฟ้าหญิงที่ยังไม่ทันมีพระนามก็สิ้นพระชนม์หลังประสูติได้เพียง ๓ วัน
การสูญเสียพระราชโอรสพระราชธิดาอย่างต่อเนื่องนี้ ทำให้สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนาทรงประชวรถึงกับทรงพระดำเนินไม่ได้ ไม่สามารถเสด็จไปในพระราชพิธีพระศพของพระราชโอรสและพระราชธิดาทั้ง ๓ พระองค์ซึ่งจัดเป็นพระราชพิธีต่อเนื่องกันได้
ความสูญเสียครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่งของสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนาก็คือ เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต สมเด็จพระนางเจ้าถึงกับพระประชวรด้วยพระวาโยสลบไปทันที ทรงอธิษฐานต่อหน้าพระพุทธรูปว่า “ขอให้ลืม ลืมให้หมด อย่าให้มีความจำอะไรเลย”
ในสมัยประชาธิปไตย สมเด็จพระศรีสวรินทรา บรมราชเทวีก็ยังทรงประสบกับเรื่องเศร้าครั้งใหญ่อีก เนื่องจากพระองค์ทรงรับอภิบาลพระราชโอรสพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯที่ทรงกำพร้าพระมารดาอีก ๔ พระองค์ คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเยาวภาพงษ์สนิท และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์ กรมพระชัยนาทนเรนทร ซึ่งประสูติแต่เจ้าจอมมารดาหม่อมราชวงศ์เนื่อง สนิทวงศ์ กับพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประภาพรรณพิไล และพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวาปีบุษบากร ซึ่งประสูติจากเจ้าจอมมารดาพร้อม ในปี ๒๔๘๑ กรมพระชัยนาทนเรนทรขณะดำรงพระยศเป็นกรมขุน ถูกจับด้วยข้อหากบฏ ทรงทราบข่าวก็ตกพระทัยและขอต่อรองกับรัฐบาลโดยขอประกันด้วยทรัพย์สินทั้งหมดของพระองค์เพื่อแลกกับการปล่อยตัว แต่ไม่สำเร็จ กรมขุนชัยนาทนเรนทรถูกถอดฐานันดรศักดิ์ เป็น “นักโทษชายรังสิต” ถูกส่งเข้าเรือนจำบางขวาง สมเด็จพระอัยยิกาเจ้ารับสั่งว่า
“ลูกตายไม่น้อยใจซ้ำใจเลย เพราะมีเรื่องหักห้ามได้ว่าเป็นธรรมดาของโลก ครั้งนี้ทุกข์ที่สุดแล้ว”
แต่ในปี ๒๔๘๗ กรมขุนชัยนาทนเรนทรก็ได้รับอภัยโทษและคืนฐานันดรศักดิ์ตามเดิมในรัฐบาลนายควง อภัยวงศ์ ต่อมาได้รับพระราชทานพระอิสริยยศ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระชัยนาทนเรนทร ผู้สำเร็จราชการและประธานองคมนตรีในรัชกาลที่ ๙ สิ้นพระชนม์ในปี ๒๔๙๔
ในปี ๒๔๘๑ นั้น สมเด็จพระราชปิตุฉา เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร พระราชธิดาที่ยังทรงพระชนม์ชีพเพียงพระองค์เดียวสิ้นพระชนม์อีก สมเด็จพระพันวสาไม่เหลือพระราชโอรสพระราชธิดาเลย
เมื่อครั้งที่เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมารสวรรคต พระราชโอรสของสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนาพระองค์ต่อไป ก็คือสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช ขณะนั้นมีพระชนมายุ ๓ พรรษา แต่สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ พระราชโอรสองค์ใหญ่ในสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรีมีพระชนมายุ ๑๕ พรรษา กำลังศึกษาอยู่ที่ประเทศอังกฤษ จึงได้รับการสถาปนาดำรงพระยศเป็นสยามมกุฎราชการ ทำให้สายรัชทายาทเปลี่ยนไปเป็นทางฝ่ายสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี
และก่อนที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตในปี ๒๔๖๘ ได้มีพระราชหัตถเลขาไว้ว่า
“..หากมีพระราชโอรส ก็ให้สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงสุโขทัยธรรมราชาทรงเป็นประธานคณะผู้สำเร็จราชการต่างพระองค์จนกว่าพระมหากษัตริย์จะทรงบรรลุนิติภาวะ แต่ถ้าไม่มีพระราชโอรสก็ใคร่ให้สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงสุโขทัยธรรมราชาทรงรับรัชทายาทสืบสันตติวงศ์ตามราชประเพณี.”
เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดช กรมหลวงสุโขทัยธรรมราชา พระราชโอรสองค์สุดท้ายของสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี จึงขึ้นครองราชย์เป็นพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
ในปี ๒๔๗๖ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯสละราชสมบัติโดยไม่ได้ทรงแต่งตั้งรัชทายาทไว้ และพระราชโอรสในรัชกาลที่ ๕ ก็สิ้นพระชนม์หมดทุกพระองค์ รัฐบาลด้วยความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎรจึงอัญเชิญพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล โอรสเจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช กรมขุนสงขลานครินทร์ ขึ้นครองราชย์
เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดลสวรรคต เพราะทุกคนต่างปกปิดไม่ให้สมเด็จพระพันวสาทรงทราบ เพราะเกรงจะกระทบกระเทือนต่อพระพลานามัย แต่กระนั้นในขณะอัญเชิญพระบรมศพลงพระโกศ พระองค์ก็ยังทรงรับความเศร้านี้ได้ เสด็จออกไปประทับที่ระเบียงพระตำหนักวังสระปทุม ทอดพระเนตรฟ้าแล้วรับสั่งว่า
“วันนี้เป็นอะไร นกสักตัวกาสักตัวก็ไม่มาร้อง เศร้าเหลือเกิน นี่ทำไมมันเงียบไปหมดอย่างนี้ล่ะ”
ในวันที่ ๒๘ เมษายน ๒๔๙๓ สมเด็จพระพันวสาอัยยิกาเจ้าทรงมีความสุขที่ได้เป็นองค์ประธานในพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรกับสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ณ พระตำหนักวังสระปทุม เมื่อทรงเจิมหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร แล้วมีรับสั่งว่า
“หันออกไปยิ้มกับผู้คนที่เข้ามาซิ เขาอุตส่าห์มากันเต็มๆ ออกไปให้เขาเห็นหน่อย”
ซึ่งขณะนั้นพระองค์ทรงลืมเลือนความทรงจำมากแล้ว ด้วยทรงเจริญพระชนมพรรษาเกือบ ๙๐ พรรษา
แม้สมเด็จพระศรีสวรินทรา พระพันวสาอัยยิกาเจ้า จะประสบกับเรื่องเศร้าในพระชนมชีพมามากมาย แต่พระองค์ก็ทรงประกอบพระราชกรณียกิจเพื่อประโยชน์สุขของประเทศชาติและประชาชนนานัปการ ทรงมีส่วนร่วมกับสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถในการริเริ่มจัดตั้งสภาอุณาโลมแดง หรือสภากาชาดสยาม ทรงดำรงตำแหน่งสภาชนนีแห่งสภาอุณาโลมแดง และตำแหน่งสภานายิกาแห่งสภากาชาดสยามจนเสด็จสวรรคต รวมทั้งพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ในการทำนุบำรุงกิจการสภากาชาดไทยจนเป็นปึกแผ่นมั่นคง นอกจากนี้ยังทรงริเริ่มหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ตั้งแต่สมัยยังใช้เกวียนเป็นพาหนะ ทรงสนับสนุนการสร้างโรงศิริราชพยาบาล ซึ่งเป็นโรงพยาบาลแห่งแรกของไทย อีกทั้งทรงเป็นแรงบันดาลพระราชหฤทัยให้สมเด็จมหิตลาธิเบศร อดุลเดชวิกรม พระบรมราชชนก สนพระราชหฤทัยในกิจการแพทย์ จนอุทิศพระองค์เพื่อการสาธารณสุขไทย และในช่วงเวลาที่พระองค์ทรงเสียพระทัยอย่างหนักที่ต้องเสียพระราชโอรสพระราชธิดาจนประชวร และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯโปรดเกล้าฯให้พระองค์แปรพระราชฐานไปรักษาพระองค์ที่พระตำหนักศรีราชา สมเด็จพระพันวสาอัยยิกาเจ้ามีพระราชดำริว่าประชาชนในพื้นที่นั้นยังขาดแคลนแพทย์และสถานพยาบาล นั่นก็คือกำเนิดของ โรงพยาบาลสมเด็จ ณ ศรีราชา ปัจจุบันก็คือ โรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา ซึ่งอยู่ในความดูแลของสภากาชาดไทยมาตลอดจนถึงปัจจุบัน
ด้วยพระเกียรติคุณที่ทรงประกอบเพื่อประเทศชาติและประชาชนมานี้เป็นที่ประจักษ์อยู่ทั่วไปนี้ องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ จึงได้ประกาศสดุดีเฉลิมพระเกียรติคุณยกย่องให้สมเด็จพระศรีสวรินทรา บรมราชเทวี พระพันวสาอัยยิกาเจ้า ทรงเป็นบุคคลสำคัญของโลก ในฐานะที่ทรงมีผลงานดีเด่นด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์สุขภาพ และการอนุรักษ์พัฒนาวัฒนธรรม ปี ๒๕๕๔ เนื่องในโอกาสครบ ๑๕๐ ปีแห่งพระราชสมภพ
สมเด็จพระศรีสวรินทรา บรมราชเทวี พระพันวสาอัยยิกาเจ้า ทรงมีพระชนมายุยืนยาวถึง ๖ แผ่นดิน เสด็จสวรรคตในวันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๔๙๘ พระชนมายุได้ ๙๓ พรรษา