สบช่อง! ชงแก้ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ ปี 62 พ่วงกฎกระทรวงแบ่งเงินค่าบริการ/ค่าตอบแทน ปีละ 2 พันล้าน อัตราร้อยละ 10 ให้มากกว่า 7 พันท้องถิ่น ที่มีพื้นที่อุทยานแห่งชาติ วนอุทยาน สวนพฤกษศาสตร์ หรือสวนรุกขชาติ เหตุ อนุฯ กกถ. เชื่อ! เป็นการ “จำกัดอิสระ” หวั่นซ้ำซ้อน ในการบริหาร บริการสาธารณะ ในการรายงานการใช้จ่ายเงินค่าบริการและค่าตอบแทนที่ท้องถิ่นได้รับ
วันนี้ (30 ธ.ค.) มีรายงานจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า ในเร็วๆ นี้ คณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ก.ก.ถ.)
เตรียมรับพิจารณา “ทบทวน” หลักการแบ่งเงินค่าบริการและเงินค่าตอบแทนในอุทยานแห่งชาติ วนอุทยาน สวนพฤกษศาสตร์ หรือสวนรุกขชาติ ให้แก่เทศบาล หรือองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) มากกว่า 7,000 แห่ง
ภายหลัง คณะอนุกรรมการเฉพาะกิจเพื่อพัฒนาการจัดเก็บรายได้ของ อปท. ได้ พิจารณาแล้วเห็นว่า กฎกระทรวง การแบ่งเงินค่าบริการและเงินค่าตอบแทนฯ พ.ศ. 2565 ที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) จัดทำ เมื่อ 18 ก.ค. 2565 มีผลเมื่อ 8 ส.ค.ที่ผ่านมา
ในเบื้องต้นในอัตราร้อยละ 5 โดยกำหนดเป้าหมายให้ได้ในอัตราร้อยละ 10 ตามมาตรา 30 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ภายใน 3 ปี หลังจากมีการประกาศใช้กฎกระทรวงแล้ว
มีคณะกรรมการที่ปรึกษาอุทยานแห่งชาติในแต่ละแห่งเป็นผู้กำหนดสัดส่วนและหลักเกณฑ์การแบ่ง
“เป็นการจำกัดอิสระในการบริหาร การจัดทำบริการสาธารณะ และทำให้เกิดความซ้ำซ้อน ในการรายงานการใช้จ่ายเงินค่าบริการและค่าตอบแทนที่ได้รับ”
จึงเห็นสมควรพิจารณา เสนอให้แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 และกฎกระทรวง ดังกล่าว โดยจะแจ้ง ทส. รับข้อเสนอไปพิจารณา
อนุกรรมการชุดนี้ เห็นว่า อปท. ย่อมมีอิสระในการบริหาร การจัดทำบริการสาธารณะการส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการศึกษา การเงินและการคลัง ตามนัยบทบัญญัติ มาตรา 250 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งการกำกับดูแล อปท.
ต้องทำเพียงเท่าที่จำเป็น และรัฐต้องดำเนินการให้ อปท. มีรายได้ของตนเอง รวมทั้งส่งเสริมและพัฒนาการหารายได้ของ อปท. ให้สามารถดูแลและจัดทำบริการสาธารณะและกิจกรรมสาธารณะได้อย่างเพียงพอ
“แม้จะเห็นชอบในหลักการของการแบ่งเงิน ค่าบ ริการและเงินค่าตอบแทน แต่ไม่เห็นด้วยในวิธีปฏิบัติตาม พ.ร.บ.อุทยานฯ และกฎกระทรวง”
สำหรับการเบิกจ่ายงบประมาณ อปท.ต้องดำเนินการตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการรับเงิน การเบิกจ่ายเงิน การฝากเงิน การเก็บรักษาเงินและการตรวจเงินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2547 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
โดยจัดทำแผนการใช้จ่ายเงินตามแบบที่กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) กำหนด
ทั้งนี้ เงินค่าบริการ และเงินค่าตอบแทนที่หน่วยงานของรัฐแบ่งให้เป็นรายได้ของ อปท. จึงถือเป็นเงินรายรับของ อปท. ซึ่งเงินที่เหลือจ่ายจากเงินรายรับภายในวันสิ้นปีงบประมาณจะเป็นเงินสะสมของ อปท.
ในกรณีของ “กฎกระทรวง” ที่กำหนดให้ อปท. นำเงินค่าบริการและค่าตอบแทนที่ได้รับไปใช้จ่ายตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ในมาตรา 30 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.อุทยานฯ อาจส่งผลกระทบและจำกัดขอบเขตความเป็นอิสระของ อปท.
ทั้งยังกำหนดให้ อปท. รายงานการใช้จ่ายเงินค่าบริการและค่าตอบแทนที่ได้รับให้แก่ สถ.เพื่อรวบรวมส่งให้กรมอุทยานฯ ทราบภายใน 90 วันนับแต่วันสิ้นปีงบประมาณ
ซึ่ง อปท. ควรดำเนินการตามนัยระเบียบกระทรวงมหาดไทย (ฉบับข้างต้น) และที่แก้ไขเพิ่มเติม
สำหรับการจัดทำรายงานทางการเงินและผลการปฏิบัติงานประจำปีที่กำหนดใน มาตรา 33 แห่ง พ.ร.บ.อุทยานฯ ควรเป็นรายงานของ กรมอุทยานฯ โดยรายงานการดำเนินการตามมาตรา 30 เป็นจำนวนเงินที่แบ่งให้ อปท.
ทั้งนี้ พ.ร.บ.อุทยานฯ และกฎกระทรวง มีบทบัญญัติ ที่จำกัดอิสระในการดูแลและจัดทำบริการสาธารณะและกิจกรรมสาธารณะของ อปท.
หากมีการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.อุทยานฯ และกฎกระทรวง เพื่อให้ อปท. มีอิสระในการดูแลและจัดทำบริการสาธารณะและกิจกรรมสาธารณะย่อมจะก่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนในท้องถิ่นและประโยชน์ของประเทศเป็นส่วนรวมยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม คณะรัฐมนตรี เมื่อ 22 มี.ค. 2565 ให้ความเห็นว่า การนำเงินส่วนแบ่งที่เรียกเก็บได้ ไปใช้ในการส่งเสริมและสนับสนุนการปฏิบัติงาน หรือการอนุรักษ์ บำรุงรักษาและฟื้นฟูอุทยานแห่งชาติ วนอุทยาน สวนพฤกษศาสตร์ หรือสวนรุกขชาติที่อยู่ในเขตพื้นที่ที่รับผิดชอบนั้น
ควรคำนึงถึงเหตุผลและความจำเป็นที่สนับสนุนการกิจของอุทยานในลักษณะทั่วไป โดยจัดสรรให้เป็นรายได้ของ อปท.โดยไม่ต้องจัดทำเป็นโครงการ และไม่ต้องรายงานการใช้จ่ายเงินค่าบริการและค่าตอบแทน
โดยให้ปรับทบทวนหลักเกณฑ์ทุก 2-3 ปี โดยพิจารณาแหล่งกำเนิดของรายได้ว่าควรจัดสรรให้เทศบาลและองค์การบริหารส่วนตำบลตามสัดส่วนและพื้นที่ที่เกิดรายได้ขึ้นจริงแทนวิธีการแบ่งให้แห่งละเท่าๆ กัน
เนื่องจากเป็นเงินรายได้ที่จัดสรรให้แก่ อปท.และเพื่อมิให้เกิดความซ้ำซ้อนในการปฏิบัติงานของอปท. ซึ่งถูกตรวจสอบการใช้จ่ายเงินจากหน่วยตรวจสอบอยู่แล้ว
ที่ผ่านมา กรมอุทยานแห่งชาติ ได้สรุปการจัดเก็บเงินรายได้ประจำปีงบประมาณ พบว่า ใน 3-4 ปีย้อนหลัง มียอดการจัดเก็บเงินรายได้จากอุทยานฯ 155 แห่ง เป็นเงินเฉลี่ยปีล 2,200 ล้านบาท
พบว่า เทศบาล และ อบต. กว่า 693 แห่ง จาก 55 จังหวัด ได้รับโอนเงินที่จัดเก็บตามกฎหมายฯ จำนวนร้อยละ 5 ซึ่งเป็นเงินจัดเก็บรายได้ จัดสรรให้ปีละสอง 2 รอบ ตกรอบละ 59-60 ล้านบาท.