“ประยุทธ์” เยี่ยมให้กำลังใจกำลังพล ร.ล.สุโขทัย ที่ รพ.สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ ตรวจศูนย์ประสานงานช่วยเหลือ ร่วมพิธีพระราชทานน้ำหลวงอาบศพกำลังพล 6 นาย และร่วมพิธีสวดอภิธรรม ณ ฌาปนสถานกองทัพเรือ สัตหีบ จ.ชลบุรี
วันนี้ (22 ธ.ค.) นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า เวลา 16.45 น. ณ โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ กรมแพทย์ทหารเรือ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และคณะ เดินทางมาตรวจเยี่ยมและให้กำลังใจกำลังพลเรือหลวงสุโขทัย (ร.ล.สุโขทัย) ที่เข้ารับการรักษาตัว จำนวน 18 นาย โดยนายกรัฐมนตรีได้พูดคุยสอบถามอาการ และกล่าวให้กำลังใจกับกำลังพลทุกนาย ให้มีสุขภาพกายใจที่เข้มแข็ง ให้แข็งแรงเป็นปกติโดยเร็ว
จากนั้น นายกรัฐมนตรีเดินทางไปตรวจเยี่ยมศูนย์ประสานงานช่วยเหลือกำลังพล ร.ล.สุโขทัย ณ สโมสรสัญญาบัตร กองเรือยุทธการ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี โดยนายกรัฐมนตรีรับฟังการบรรยายสรุปจากพลเรือโท สมบัติ นาราวิโรจน์ เสนาธิการกองเรือยุทธการ ซึ่งศูนย์ประสานงานช่วยเหลือกำลังพล ร.ล.สุโขทัย มีบทบาทหน้าที่ 1. ติดตาม รวบรวมข้อมูลกำลังพล ที่ช่วยเหลือ/ที่เข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาล/ที่เสียชีวิต/ที่ค้นหา 2. การอำนวยความสะดวกช่วยเหลือและเยียวยากำลังพล และญาติ 3. นายทหารประสานงานในพื้นที่ อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ โดยการดำเนินการของศูนย์ที่ผ่านมา 1) อำนวยความสะดวก ช่วยเหลือและเยียวยากำลังพล (1) ที่ช่วยเหลือปลอดภัย : ในการทำบัตรประชาชน ซิมโทรศัพท์ ธนาคาร มอบเงินบำรุงขวัญ จัดหาเครื่องแบบอุปกรณ์ประกอบเครื่องแบบ : ให้การปรึกษาแพทย์จิตวิทยา แนะนำการปฏิบัติตน (2) ที่บาดเจ็บ : ประสานในการรักษา มอบเงินบำรุงขวัญ (3) ที่เสียชีวิต : ตรวจสอบประกันภัย สหกรณ์ อำนวยความสะดวกในการเคลื่อนศพและพิธีการศพ 2) อำนวยความสะดวกญาติ (1) ที่กำลังพลเสียชีวิต : โดยปรึกษาแพทย์จิตวิทยา แนะนำการปฏิบัติตน อำนวยความสะดวกและสอบถามความต้องการในการจัดการศพ : ตรวจสอบญาติโดยสืบสันดาน : ที่จัดตั้งศพ ที่พักของญาติในระหว่างพิธีศพ (2) ที่กำลังพลสูญหาย : โดยปรึกษาแพทย์จิตวิทยา แนะนำการปฏิบัติตน อำนวยความสะดวกในการปรึกษาแพทย์จิตวิทยา ขณะนี้มีสถิติการรับโทรศัพท์ให้ข้อมูลกับญาติ จำนวน 220 สาย และให้คำปรึกษาทางด้านจิตเวช ของญาติ จำนวน 14 ราย กำลังพล 3 ราย
นอกจากนี้ ศูนย์ประสานงานฯ ยังทำหน้าที่ในการรับผู้ป่วยในพระบรมราชานุเคราะห์ และการรับศพในพระบรมราชานุเคราะห์ ประสานเรื่องน้ำหลวงอาบศพ กับสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด ประสานการพระราชทานเพลิงศพ กับกลุ่มอำนวยการพิธีการสงฆ์เขต โดยจะดำเนินงานด้านพิธีการศพให้กับครอบครัวกำลังพลที่เสียชีวิตตลอดทุกขั้นตอนจนถึงพิธีลอยอังคาร และศูนย์ประสานงานฯ ได้รับการสนับสนุนด้านอาหารจากครัวพระราชทาน จิตอาสา สำหรับเบอร์ติดต่อศูนย์ประสานงานฯ โทร. 084-002-3554 และ 038-182-435
ด้านภาพรวมกำลังพล ร.ล.สุโขทัย 105 นาย (สถานะ เวลา 13.00 น. 22 ธ.ค. 65) ได้รับการช่วยเหลือกลับบ้าน 55 นาย บาดเจ็บ (Admit) 19 นาย (รพ.สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ 18 นาย รพ.บางสะพาน 1 นาย) เสียชีวิต 6 นาย อยู่ระหว่างการค้นหา 23 นาย จำแนกได้ดังนี้
1. ร.ล.สุโขทัย 75 นาย ได้รับการช่วยเหลือกลับบ้าน 41 นาย บาดเจ็บ (Admit) 14 นาย เสียชีวิต 4 นาย อยู่ระหว่างการค้นหา 14 นาย
2. หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน (นย.) 15 นาย ได้รับการช่วยเหลือกลับบ้าน 4 นาย บาดเจ็บ (Admit) 4 นาย เสียชีวิต 1 นาย อยู่ระหว่างการค้นหา 6 นาย
3. หน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง (สอ.รฝ.) 15 นาย ได้รับการช่วยเหลือกลับบ้าน 10 นาย บาดเจ็บ (Admit) 1 นาย เสียชีวิต 1 นาย อยู่ระหว่างการค้นหา 3 นาย
จากนั้น เวลา 17.30 น. นายกรัฐมนตรีร่วมพิธีพระราชทานน้ำหลวงอาบศพข้าราชการ ร.ล. สุโขทัย จำนวน 6 นาย พิธีวางพวงมาลาพระราชทาน และพิธีสวดอภิธรรม ณ ฌาปนสถานกองทัพเรือ สัตหีบ โดยมีคณะผู้บังคับบัญชาระดับสูงของกองทัพเรือ รวมถึงกำลังพลของกองทัพเรือ จากหน่วยงานต่าง ๆ ของกองทัพเรือ และส่วนราชการในพื้นที่สัตหีบร่วมไว้อาลัย โดยผู้เสียชีวิตทั้ง 6 นาย คือ ว่าที่เรือเอก สามารถ แก้วผลึก พันจ่าเอก อัชชา แก้วสุพรรณ์ จ่าเอก จักรพงค์ พูนผล และ พลทหาร อัครเดช โพธิ์บัติ สังกัด กองเรือฟริเกตที่ 1 กองเรือยุทธการ (กร.) พันจ่าเอก อำนาจ พิมที สังกัด หน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง (สอ.รฝ.) และ พันจ่าเอก สมเกียรติ หมายชอบ สังกัดหน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน (นย.) โดยผู้เสียชีวิตทั้ง 6 นาย ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ให้ศพอยู่ในพระบรมราชานุเคราะห์ โดยตั้งบำเพ็ญกุศลฯ กิจการฌาปนสถานกองทัพเรือ สัตหีบ
ในส่วนของสิทธิกำลังพลผู้เสียชีวิตนั้น กรณีนี้กองทัพเรือถือว่ากําลังพลดังกล่าวเป็นผู้ที่เสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่ จะพิจารณาบําเหน็จด้านสิทธิกําลังพลสูงสุดให้แก่กําลังพลดังกล่าว โดยจะพิจารณาเลื่อนชั้นเงินเดือน 3-5 ชั้น กับขอพระราชทานเลื่อนยศ 2-4 ชั้นยศ รวมทั้งเงินช่วยเหลืออื่นๆ ตามสิทธิที่สมควรจะได้รับ โดยแยกเป็นกลุ่มใหญ่ๆ ดังนี้
ชั้นยศ นาวาตรี จะขอพระราชทานเลื่อนยศเป็น พลเรือโท กับได้รับสิทธิกําลังพล ประกอบด้วย เงินประกันภัยหมู่แบบเฉพาะกิจกองทัพเรือ 500,000 บาท เงินจากกองทุนน้ำใจไทยเพื่อผู้เสียสละกองทัพเรือ 160,0000 บาท และเงินช่วยเหลืออื่นๆ รวมเป็นเงินประมาณ 1,200,000 บาท
ชั้นยศ เรือเอก จะขอพระราชทานเลื่อนยศเป็น พลเรือตรี กับได้รับสิทธิกําลังพล ประกอบด้วย เงินประกันภัยหมู่แบบเฉพาะกิจกองทัพเรือ 500,000 บาท เงินจากกองทุนน้ำใจไทยเพื่อผู้เสียสละกองทัพเรือ 160,000 บาท และเงินช่วยเหลืออื่นๆ รวมเป็นเงินประมาณ 2 ล้านบาท
ทั้งนี้ เป็นผู้ที่มีอายุราชการและฐานเงินเดือนสูงชั้นยศ พันจ่าเอก จะขอพระราชทานเลื่อนยศเป็น นาวาตรี กับได้รับสิทธิกําลังพล ประกอบด้วย เงินประกันภัยหมู่แบบเฉพาะกิจกองทัพเรือ 500,000 บาท เงินจากกองทุนน้ำใจไทยเพื่อผู้เสียสละกองทัพเรือ 135,000 บาท และเงินช่วยเหลืออื่น ๆ รวมเป็นเงินประมาณ 1 ล้านบาท
ชั้นยศ จ่าตรี-จ่าเอก จะขอเลื่อนยศและขอพระราชทานเลื่อนยศเป็น พันจ่าโท-เรือตรี กับได้รับสิทธิกําลังพล ประกอบด้วย เงินประกันภัยหมู่แบบเฉพาะกิจกองทัพเรือ 500,000 บาท เงินจากกองทุนน้ำใจไทยเพื่อผู้เสียสละกองทัพเรือ 135,000 บาท และเงินช่วยเหลืออื่น ๆ รวมเป็นเงินประมาณ 900,000 บาท
ในส่วนของทหารกองประจําการจะขอเลื่อนยศเป็น พันจ่าตรี กับได้รับสิทธิกําลังพล ประกอบด้วย เงินประกันภัยหมู่แบบเฉพาะกิจกองทัพเรือ 500,000 บาท เงินจากกองทุนน้ำใจไทยเพื่อผู้เสียสละกองทัพเรือ 100,000 บาท และเงินช่วยเหลืออื่นๆ รวมเป็นเงินประมาณ 600,000 บาทโดยกองทัพเรือ จะเร่งรัดการดําเนินการให้กําลังพลและครอบครัวได้รับสิทธิกําลังพลเป็นไปด้วยความรวดเร็ว เพื่อเป็นการช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้นให้แก่กําลังพลและครอบครัวต่อไป