xs
xsm
sm
md
lg

“แพชูชีพ” มีพอสำหรับกำลังพลประจำเรือเท่านั้น และแทบไม่เคยฝึกใช้ บทเรียนจากเรือหลวงสุโขทัย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รายงานพิเศษ

“ผมเป็นทหารเรือมา 10 กว่าปี ไม่เคยได้ฝึกใช้แพชูชีพจริงๆ เลยครับ เคยเห็นวิธีใช้แค่ครั้งเดียวจากในคลิป มันก็เป็นไปได้นะ ที่พอเกิดเหตุจำเป็นต้องใช้ขึ้นมาแล้วจะทำอะไรไม่ถูก”

ข้อความนี้ มาจากคำบอกเล่าของ “อดีตนายทหารเรือ” ที่เคยทำงานประจำการบนเรือหลวงหลายลำ ซึ่งเขามองว่า ความสามารถในการใช้แพชูชีพ อาจเป็นบทเรียนใหญ่ที่กองทัพเรือต้องเร่งทบทวน หลังเกิดเหตุเรือหลวงสุโขทัยอับปางที่ทะเลอ่าวไทย บริเวณ อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2565

นอกจาก “เสื้อชูชีพ” ซึ่งเป็นอุปกรณ์เซฟตี้ส่วนบุคคล จะมีไม่เพียงพอต่อจำนวนคนบนเรือหลวงสุโขทัยตามที่ทางกองทัพเรือออกมายอมรับไปแล้วก่อนหน้านี้ คือ ในกำลังพล 105 นาย มีเสื้อชูชีพน้อยกว่ากำลังพลบนเรืออยู่ 30 ตัว แต่ก็ยังมีคำถามต่อไปอีกว่า แล้วอุปกรณ์ประจำเรือที่เรียกว่า “แพชูชีพ” สามารถรองรับกำลังพลได้เท่าไหร่

อดีตนายทหารเรือนายนี้ บอกว่า ตามหลักการแล้ว แพชูชีพประจำเรือ จะถูกติดตั้งในเรือหลวงแต่ละลำ ให้สามารถรองรับ “ลูกเรือ” ได้อย่างเพียงพอ แต่คำว่า “ลูกเรือ” ในที่นี้ หมายถึง “กำลังพล ที่มีหน้าที่ประจำอยู่บนเรือ” เท่านั้น

จากเหตุการณ์เรือหลวงสุโขทัยอับปางที่ผ่านมา มีข้อมูลที่ทราบกันดีว่า เรือหลวงสุโขทัย มี กำลังพลประจำเรือ 75 นาย และได้นำกำลังพลจากหน่วยอื่นขึ้นเรือมาด้วยอีก 30 นาย คือ นาวิกโยธิน (นย.) 15 นาย และหน่วยต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง (สอ.รฝ.) อีก 15 นาย ซึ่งกำลังพลที่เพิ่มมา 30 นาย สอดคล้องกับจำนวนเสื้อชูชีพที่ผู้บัญชาการทหารเรือ ยอมรับเองว่า ขาดไป 30 ตัว

และนั่นหมายความว่า จำนวนคนบนเรือทั้งหมด 105 นาย เป็นจำนวนที่เกินกว่าความสามารถของแพชูชีพจะรองรับได้ทั้งหมด เว้นแต่จะมีการขออุปกรณ์มาเสริมตั้งแต่ก่อนออกเรือ

“เรือแต่ละลำจะใช้กำลังพลไม่เหมือนกันครับ แล้วแต่ขนาดของเรือ แล้วแต่ภารกิจหรือรูปแบบการใช้อุปกรณ์ต่างๆ เช่น พลประจำปืน ปืนแบบไหน ใช้กี่คน ซึ่งการติดตั้งแพชูชีพของเรือแต่ละลำ ก็จะขึ้นอยู่กับจำนวนกำลังพลที่ต้องใช้ในเรือลำนั้น อย่างเช่น ถ้ามีกำลังพล 75 นาย ก็ต้องมีแพชูชีพอย่างน้อย 5 ลำ เพราะบรรทุกได้ลำละ 12-15 คน

มี 105 คน มันไม่ได้เกินศักยภาพการบรรทุกของเรือขนาดเท่านี้หรอกครับ แต่มันก็ต้องเสริมอุปกรณ์ด้านความปลอดภัยเข้าไปให้พอรองรับจำนวนคนที่เพิ่มขึ้นมา เพราะถ้าเมื่อไหร่ที่เรือเราต้องออกเรือโดยมีผู้โดยสารเพิ่ม เราก็ต้องไปเบิกเรือชูชีพแบบใช้แยกจากเรือมาเสริมให้พอกับจำนวนคน เพราะแพชูชีพในเรือ มันเป็นอุปกรณ์ที่ติดอยู่กับเรือเลย ไม่ใช่จะถอดออกหรือติดตั้งเพิ่มเข้าไปได้ และต้องไปเบิกชูชีพส่วนบุคคลมาเพิ่มให้พอกับจำนวนผู้โดยสารด้วย” อดีตนายทหารเรือ แสดงความเห็น

และสิ่งที่อดีตนายทหารเรือคนนี้ ต้องการส่งข้อความออกไปเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมากที่สุด ก็คือ “การฝึกซ้อมใช้อุปกรณ์ช่วยชีวิต” เขายืนยันว่า ตลอดชีวิตการรับราชการในกองทัพเรือมากว่า 10 ปี เขาไม่เคยได้ฝึกฝนการใช้ “แพชูชีพของจริง” แม้แต่ครั้งเดียว เคยเห็นภาพการใช้ผ่านคลิปวิดีโอเพียงหนึ่งครั้งเท่านั้น เพราะเป็นอุปกรณ์ที่เมื่อใช้ไปแล้วก็จะใช้ไม่ได้อีก จึงไม่ถูกใช้จริงในการฝึก ดังนั้นเขาจึงเชื่อว่า มีโอกาสเป็นไปได้มากที่เหล่ากำลังพลจะปฏิบัติได้ไม่คล่องนัก เพราะส่วนใหญ่ไม่เคยใช้งานแพชูชีพจริง นี่จึงเป็นประเด็นสำคัญที่อาจต้องถูกนำมาขบคิดเพื่อออกแบบให้กำลังพลสามารถฝึกฝนการใช้แพชูชีพจริงๆได้อย่างคล่องแคล่ว

“จากภาพที่เห็น ผมไม่แน่ใจด้วยว่า แพชูชีพ ใช้ได้ครบทุกลำมั้ย เพราะโดยปกติแล้ว แพชูชีพจะทำงานได้ผ่าน 2 ทาง คือ การกดปุ่มเปิดใช้โดยคน หรืออีกทาง คือ ระบบแก๊สในแพจะทำงานอัตโนมัติเมื่อแตะพื้นน้ำ ฉะนั้น พอเราเห็นเรือเอียง เราก็ไม่แน่ใจว่า แพชูชีพที่ติดตั้งอยู่กับกราบเรือฝั่งที่เอียงจมลงไปในน้ำ ได้ทำงานโดยอัตโนมัติไปก่อนแล้วหรือยัง ถ้ามันทำงานไปแล้ว ก็หมายความว่า เราสูญเสียแพชูชีพที่มีอยู่ครึ่งหนึ่งในเรือไปก่อนแล้ว”

“ผมคิดว่า เรือพร้อมหรือไม่ ก็เป็นประเด็นที่อาจต้องให้ความสำคัญนะครับ เพราะถึงจะมี 105 คน ถึงคลื่นลมจะแรง แต่ด้วยขนาดและศักยภาพของเรือหลวงสุโขทัย ก็ไม่น่าถึงกับล่ม ถ้าเรือพร้อมครับ” อดีตนายทหารเรือ กล่าวทิ้งท้าย
กำลังโหลดความคิดเห็น