“ลุงป้อม” เคาะงบฯ น้ำปี 67 มโหฬาร 337,000 ล้าน เน้น ป้องน้ำท่วม แก้น้ำแล้ง ลงแผนบริหารจัดการน้ำมากกว่า 6.3 หมื่นโครงการ พร้อมกำชับ “กรมชลฯ” คุมปัจจัยเสี่ยงโครงการอย่างละเอียด หลังพบปัญหา ทั้งขยายระยะเวลา-กรอบวงเงิน สารพัดเมกะโปรเจกต์ แนะ “สทนช.” เข้มลงกำกับแผนใกล้ชิด เหตุหลายโครงการล่าช้า เผย งบน้ำปี 67 สูงกว่างบปี 66 ที่อนุมัติ 334,356.45 ล้าน แต่น้อยกว่าปี 65 ที่อนุมัติ 366,538.84 ล้าน
วันนี้ (15 ธ.ค.) มีรายงานจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า เมื่อช่วงเช้า ณ มูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด ที่ประชุมต่อเนื่อง 2 คณะ ประกอบด้วย คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ครั้งที่ 3/2565 และคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการพัฒนาทรัพยากรน้ำ ครั้งที่ 2/2565 (ผ่านระบบ Video Conference) ณ ห้องประชุมมูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด เขตพญาไท กรุงเทพฯ ที่มี พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการ เห็นชอบ (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านทรัพยากรน้ำปี 2567 วงเงิน 337,736 ล้านบาท จำนวน 63,589 โครงการ
“เป็นการดำเนินการด้านการจัดการน้ำอุปโภคบริโภค การสร้างความมั่นคงของน้ำภาคการผลิต การจัดการน้ำท่วมและอุทกภัย การอนุรักษ์ ฟื้นฟูระบบนิเวศทรัพยากรน้ำ และด้านบริหารจัดการ” จะส่งผลให้ สามารถเพิ่มความจุเก็บกักน้ำกว่า 1,400 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่รับประโยชน์ 6.23 ล้านไร่ ประชาชนได้ประโยชน์ 5.64 ล้านครอบครัว และพื้นที่ได้รับการป้องกัน 5.37 ล้านไร่
สำหรับแผนปฏิบัติการด้านทรัพยากรน้ำ ตามแผนแม่บท ปี 2561-2563 พบว่า มีการจัดสรรงบพัฒนาแหล่งน้ำ 305,180 ล้านบาท แม้มีการจัดทำคำขอตั้งงบประมาณ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 แผนปฏิบัติการด้านน้ำ ให้กับ 27 หน่วยงาน รวมงบประมาณ 251,732 ล้านบาท ภายใต้แผนแม่บท ‘การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (2561-2580)’ เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง และจัดหาเพื่อสนับสนุนการพัฒนา ซึ่งเป็นข้อมูล ณ เดือน พ.ค.2564
ขณะที่ในช่วงปี 2564-2566 รัฐบาลผลักดันโครงการภายใต้แผนพัฒนาทรัพยากรน้ำใน 5 ภูมิภาค จำนวน 526 โครงการ วงเงินลงทุน 879,000 ล้านบาท พบว่า ในที่ประชุมคณะกรรมการจัดทำงบประมาณรายจ่ายบูรณาการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 คณะที่ 1.2 แผนงานบูรณาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ
“มีการรายงานต่อนายกรัฐมนตรีถึงแผนปฏิบัติการด้านทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2565 เป็นแผนแม่บท 6 ด้าน จำนวน 48,687 โครงการ วงเงินรอรับงบประมาณ 366,538.84 ล้านบาท”
เช่นกันในแผนปฏิบัติการด้านทรัพยากรน้ำ ประจำปีงบประมาณ 2566 ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติมากถึง 334,356.45 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 10% ของวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 ที่มีวงเงิน 3.18 ล้านล้านบาท และหากดูตามยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณในการบริหารจัดการน้ำช่วง5 ปีข้างหน้าตามแผนยุทธศาสตร์การจัดการน้ำปี 2566-2570 มีวงเงินสูงถึง 1.1 ล้านล้านบาท ขณะที่การประชุมช่วงเช้า รองนายกฯ กำชับ ให้กรมชลประทานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พิจารณาปัจจัยเสี่ยงของโครงการให้ละเอียดมากขึ้น “เพื่อมิให้มีปัญหา การขยายระยะเวลาและกรอบวงเงิน และสั่งการให้หน่วยงานหลัก เร่งดำเนินการให้เป็นไปตามแผนที่กำหนด และให้ สทนช.ลงกำกับการดำเนินการตามแผนด้วย”
เนื่องจากหลังลงพื้นที่พบหลายโครงการมีความล่าช้า โดยการดำเนินงานอาจมีผลกระทบต่อประชาชนในหลายพื้นที่บ้าง แต่เพื่อให้ประชาชนส่วนใหญ่ได้รับประโยชน์สูงสุด ที่ประชุมเห็นชอบ โครงการปรับปรุงระบบชลประทานเจ้าพระยา ฝั่งตะวันออกตอนล่าง ตั้งแต่ อยุธยา - สมุทรปราการ และฝั่งตะวันตก ตั้งแต่ อยุธยา-สมุทรสาคร เพื่อระบายน้ำ เหนือ-ใต้ ออกสู่ทะเลทั้งสองฝั่ง ช่วยลดพื้นที่น้ำท่วม ปรับปรุงสถานีสูบน้ำพระโขนง การก่อสร้างเขื่อนคลองหนองบอน เขื่อนคลองมะขามเทศ เพื่อลดผลกระทบน้ำท่วมในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ขยายระยะเวลาและกรอบวงเงิน โครงการคลองระบายน้ำหลาก บางบาล - บางไทร และโครงการปรับปรุงขยายการประปาส่วนภูมิภาค สาขา พังงา - ภูเก็ต เพื่อเพิ่มศักยภาพระบบประปา รองรับการขยายตัวของชุมชนเมือง รับทราบ สรุปผลการขับเคลื่อนโครงการพัฒนาทรัพยากรน้ำที่สำคัญ ปี 65 และการติดตามประเมินผลการดำเนินโครงการภายใต้แผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (61-65) รวมทั้งความก้าวหน้าโครงการแก้มลิงทุ่งหิน จ.สมุทรสงคราม.