xs
xsm
sm
md
lg

กสม.จ่อร้องนายกฯ แก้ปัญหาผู้ประกอบการ-ชาวหลีเป๊ะ ถูกปิดเส้นทางสัญจรสาธารณะในพื้นที่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กสม. เตรียมทำหนังสือถึงนายกฯ เร่งแก้ไขปัญหาผู้ประกอบธุรกิจการท่องเที่ยว-ชาวเลอูรักลาโว้ย บนเกาะหลีเป๊ะ หลังถูกปิดเส้นทางสัญจรสาธารณะในพื้นที่

วันนี้ (15 ธ.ค.) นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เปิดเผยกรณีปัญหาความขัดแย้งระหว่างชาวเลอูรักลาโว้ย บนเกาะหลีเป๊ะ จังหวัดสตูล กับเอกชนที่อ้างกรรมสิทธิ์ในที่ดิน ซึ่งล่าสุดเมื่อปลายเดือน พ.ย. 65 ที่ผ่านมา เอกชนได้เข้าปิดถนนที่ชาวเลใช้สัญจรไปโรงเรียน โรงพยาบาล สุสาน และออกไปทะเล ทำให้ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของชุมชนท้องถิ่นว่า กสม. ได้ติดตามกรณีดังกล่าวอย่างใกล้ชิด เนื่องจากเป็นข้อพิพาทในพื้นที่เกาะหลีเป๊ะระหว่างชาวเล หน่วยงานของรัฐ และธุรกิจเอกชน ซึ่งเป็นกรณีที่ กสม. ได้รับเรื่องร้องเรียนมาตั้งแต่ปี 2549 จนถึงปัจจุบันจำนวนทั้งสิ้น 14 คำร้อง โดย กสม. ได้ตรวจสอบเสร็จสิ้นแล้ว จำนวน 9 คำร้อง และอยู่ระหว่างการตรวจสอบอีกจำนวน 5 คำร้อง อันเกี่ยวเนื่องกับสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์ซึ่งเป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม สิทธิในการจัดการที่ดิน และสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย เช่น กรณีที่รัฐประกาศพื้นที่อุทยานแห่งชาติและการออกเอกสารสิทธิโดยมิชอบทับที่ดินของชาวเลซึ่งอยู่มาก่อนยาวนาน การเข้ารุกล้ำร่องน้ำสาธารณะของเอกชน และการประกอบกิจการธุรกิจท่องเที่ยวที่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศชายฝั่งและการประกอบอาชีพของชาวเลอูรักลาโว้ย

นายวสันต์ กล่าวอีกว่าที่ผ่านมา กสม. ได้มีข้อเสนอแนะแนวทางในการแก้ไขปัญหาไปยังหน่วยงานต่างๆ เช่น ให้มีการตรวจพิสูจน์กระบวนการออกเอกสารสิทธิที่ดินภายในเกาะหลีเป๊ะเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ให้มีการกำหนดพื้นที่เขตคุ้มครองวัฒนธรรมที่เอื้อต่อกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล และการกำหนดการใช้ประโยชน์ร่วมกันของชุมชนพื้นที่สาธารณะ แต่ปัญหาข้อพิพาทระหว่างชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมกับเอกชนที่อ้างกรรมสิทธิ์ในที่ดินก็ยังคงอยู่ และปัจจุบันปรากฏสถานการณ์ความขัดแย้งรุนแรงมากขึ้นในพื้นที่ ซึ่งอาจนำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชนได้ โดยเห็นว่า ทุกฝ่ายจะต้องเคารพสิทธิชุมชนดั้งเดิมและปฏิบัติตามหลักการชี้แนะของสหประชาชาติเรื่องธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (UNGPs) กสม. จึงมีมติเห็นควรจัดทำหนังสือแจ้งไปยังนายกรัฐมนตรีเพื่อสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ไขปัญหาข้อพิพาทตามข้อเสนอแนะที่ผ่านมาของ กสม. ทั้งนี้ กสม. จะได้ส่งพนักงานเจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พื้นที่ภาคใต้ เข้าร่วมเฝ้าระวังและสังเกตการณ์สถานการณ์ความขัดแย้งในพื้นที่อย่างใกล้ชิดด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น