โครงการโรคเอดส์แห่งสหประชาชาติ ยกไทยเป็นผู้นำรับมือโรคเอดส์ระดับโลก เป็นประเทศแรกของเอเชีย-แปซิฟิก ที่ขจัดการถ่ายทอดเชื้อ HIV จากแม่สู่ลูก และกำลังจะเป็นเจ้าภาพการจัดประชุม UNAIDS PCB นอกนครเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ ครั้งแรกในรอบ 14 ปี ระหว่าง 13-16 ธ.ค. 65 ที่ จ.เชียงใหม่
วันนี้ (12 ธ.ค.) น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เมื่อวันที่ 11 พ.ย. 65 โครงการโรคเอดส์แห่งสหประชาชาติ (UNAIDS) ได้เผยแพร่เอกสารข่าวถึงความพร้อมของประเทศไทย ในการเป็นเจ้าภาพการจัดประชุมคณะกรรมการบริหารโครงการโรคเอดส์แห่งสหประชาชาติ ครั้งที่ 51 (UNAIDS Programme Coordinating Board Meeting : UNAIDS PCB) ระหว่างวันที่ 13-16 ธ.ค. 65 นี้ที่จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ UNAIDS PCB จะจัดประชุมนอกนครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ในรอบ 14 ปี
“UNAIDS ระบุว่า การประชุมของคณะกรรมการที่ประเทศไทยครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการประชุมนอกนครเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ ในรอบ 14 ปี แล้ว และยังเป็นครั้งที่ 2 ที่จัดประชุมขึ้นที่เชียงใหม่ ซึ่งครั้งแรกจัดเมื่อปี 2551 มี นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล เป็นประธานการประชุม ในฐานะ รมว.สาธารณสุข ของประเทศไทย ในขณะนั้น ส่วนการประชุมระหว่างวันที่ 13-16 ธ.ค. นี้ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข จะเป็นประธานการประชุม” น.ส.ไตรศุลี กล่าว
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า UNAIDS ได้ชื่นชมประเทศไทยที่สามารถเป็นผู้นำด้านการรับมือโรคเอดส์ระดับโลก ด้วยการเป็นประเทศที่มีความก้าวหน้าอย่างมาก ในการยุติการแพร่ระบาดของเชื้อ HIV เป็นตัวอย่างสำหรับประเทศต่างๆ ในการแปลงเจตจำนงที่ทุกประเทศได้ให้ร่วมกันประกาศไว้ภายใต้โครงการว่าด้วยเรื่องเอดส์ของสหประชาชาติไปสู่การปฏิบัติได้อย่างแท้จริง และการเป็นเจ้าภาพประชุม UNAIDS PCB ของไทย จะช่วยรักษาแรงผลักดันประเทศในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกในการปฏิบัติตามพันธสัญญาที่ทำโดยประชาคมต่างๆ
นอกจากนี้ UNAIDS ได้เผยแพร่เกี่ยวกับความสำเร็จในการการตอบสนองต่อสถานการณ์ HIV ของไทย ว่า ณ ปี 2564 มีผู้ติดเชื้อประมาณ 520,000 คน โดยไทยมีความก้าวหน้าอย่างมากในการต่อต้านโรคเอดส์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการตรวจรักษาและช่วยชีวิตผู้ติดเชื้อ เป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ที่ได้รับการรับรองว่าขจัดการแพร่เชื้อ HIV จากแม่สู่ลูกได้ในปี 2559 และขณะนี้ได้ยังได้เข้าร่วมกับพันธมิตรระดับโลก (Global Partnership) เพื่อขจัดการตีตราและการเลือกปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับ HIV ในทุกรูปแบบ
โดยตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นมา ประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากโรคเอดส์ลดลงเกือบ 2 ใน 3 ของอดีต หรือลดลงราวร้อยละ 65 ขณะที่ผู้ติดเชื้อรายใหม่ ลดลงร้อยละ 58 และข้อมูล ณ ปี 2564 พบว่า ประมาณร้อยละ 94 ของผู้ติดเชื้อ HIV ในประเทศไทย ทราบสถานะของตนเอง ร้อยละ 91 ของผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยอยู่ในระหว่างการรักษา และ 97% ของผู้ที่ได้รับการรักษาประสบความสำเร็จในการยับยั้งไวรัส
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า UNAIDS ยังชื่นชมไทยในประเด็นการเป็นผู้นำในการบูรณาการบริการ HIV เข้ากับโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งกลายเป็นกลไกที่ตอบสนองต่อการแก้ไขปัญหา HIV ที่ยั่งยืน ซึ่งแนวปฏิบัติที่ประสบความสำเร็จของประเทศไทยจะได้รับการเผยแพร่ และเรียนรู้โดยประเทศสมาชิก UNAIDS 22 ประเทศ หน่วยงานผู้สนับสนุน และภาคประชาสังคม หรือ NGOs ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านเอดส์จากทั่วโลก ที่จะเข้าร่วมการประชุม UNAIDS PCB ที่ประเทศไทยในกลางเดือน ธ.ค. 65 นี้
ทั้งนี้ UNAIDS เป็นองค์กรภายใต้องค์การสหประชาชาติ หรือ UN มีภารกิจขับเคลื่อนให้ทั่วบรรลุวิสัยทัศน์ร่วมกันในการลดการติดเชื้อ HIV ใหม่เป็นศูนย์ การเลือกปฏิบัติเป็นศูนย์ และการเสียชีวิตจากโรคเอดส์เป็นศูนย์ ด้วยความร่วมมือกับองค์กรอื่นๆ ของ UN อาทิ UNHCR, UNICEF, WFP, UNDP, UNFPA, UNODC, UN Women, ILO, UNESCO, องค์การอนามัยโลก (WHO) และธนาคารโลก มีการทำงานอย่างใกล้ชิดกับพันธมิตรระดับโลกและระดับชาติเพื่อยุติการแพร่ระบาดของโรคเอดส์ภายในปี 2573