น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ร่วมรณรงค์ "วันเอดส์โลก" (World AIDS Day) ซึ่งองค์การอนามัยโลก ได้กำหนดให้ตรงกับวันที่ 1 ธันวาคม ของทุกปี เพื่อสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของการป้องกันโรคเอดส์ การยอมรับ และเข้าใจผู้ติดเชื้อเอชไอวีทั่วโลก โดยสนับสนุนการรณรงค์ยับยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อเอดส์ ให้ประชาชนมีมาตรการในการป้องกันตนเองที่ถูกต้องและสามารถนำไปปฏิบัติได้ในชีวิตประจำวัน
นายกรัฐมนตรี ได้เน้นย้ำถึงเจตนารมณ์ของประเทศไทยที่มุ่งมั่นที่จะยุติปัญหาเอดส์ภายในปี 2573 โดยขับเคลื่อนยุทธศาสตร์แห่งชาติว่าด้วยการยุติปัญหาเอดส์ พ.ศ.2560-2573 มีเป้าหมายหลัก 3 ประการ คือ ไม่ติด ไม่ตาย ไม่ตีตรา สู่การแก้ไขปัญหาตามยุทธศาสตร์ 1. ลดการติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ เหลือไม่เกิน 1,000 รายต่อปี 2. ลดการเสียชีวิตในผู้ติดเชื้อเอชไอวี เหลือปีละไม่เกิน 4,000 ราย และ 3. ลดการเลือกปฏิบัติ อันเกี่ยวเนื่องจากเอชไอวี และเพศภาวะลงจากเดิมร้อยละ 90 โดยมีหลักการพื้นฐาน สร้างความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำ มีความเสมอภาคทางเพศ
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า รัฐบาลได้กำหนด 6 ยุทธศาสตร์เพื่อยุติปัญหาเอดส์ในระยะยาว ได้แก่ 1. มุ่งเน้นและเร่งรัดจัดชุดบริการที่มีประสิทธิผลสูงให้ครอบคลุมพื้นที่และประชากรที่อยู่ในสภาวะเสี่ยง 2. ยกระดับคุณภาพและบูรณาการดำเนินงานป้องกันให้เข้มข้นและยั่งยืน 3. พัฒนาและเร่งรัดการรักษา ดูแลและช่วยเหลือทางสังคม ให้มีคุณภาพรอบด้าน 4. ปรับภาพลักษณ์ความเข้าใจทั้งระดับบุคคล ครอบครัว ชุมชน มีกลไกการคุ้มครองสิทธิ์เพื่อลดการรังเกียจ กีดกัน การเลือกปฏิบัติ 5. การลงทุนเพื่อประสิทธิภาพการจัดการในทุกภาคและทุกระดับ 6. ส่งเสริมและพัฒนาการเข้าถึงการใช้ประโยชน์จากข้อมูลและงานวิจัยอย่างมีประสิทธิภาพ
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ปี 2565 ประเทศไทยได้ทำหน้าที่ในการเป็นประธานคณะกรรมการบริหารโครงการโรคเอดส์แห่งสหประชาชาติ หรือ UNAIDS PCB ในโอกาสนี้นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้เป็นผู้แทนประเทศไทยผลักดันผ่านกิจกรรมต่างๆ ให้ทั่วโลกเห็นความสำคัญใน 3 ประเด็น ได้แก่ การปกป้องวัยรุ่นคนหนุ่มสาว ให้พ้นจากโรคเอดส์ เนื่องจากเป็นกลุ่มคนที่เป็นทั้งอนาคตของประเทศและของโลก การเร่งให้หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าครอบคลุมถึงบริการเอชไอวี/เอดส์ และ การส่งเสริมให้ลดการตีตราและการเลือกปฏิบัติต่อผู้ติดเชื้อ ทั้งในการให้บริการสุขภาพ สถานศึกษา ที่ทำงาน และชุมชน
ทั้งนี้ ในช่วงกลางเดือนธันวาคมนี้ ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม UNAIDS PCB ครั้งที่ 51 ซึ่งจะมีประเทศสมาชิก 22 ประเทศ องค์กรไม่แสวงหากำไร (NGO) และหน่วยงานที่ให้การสนับสนุน (Co-Sponsor)เข้าร่วม และนายอนุทิน จะเป็นประธานการประชุม ซึ่งในการเป็นเจ้าภาพครั้งนี้ไทยจะผลักดันให้ทั่วโลกเห็นความสำคัญของการยุติการถ่ายทอดเชื้อจากแม่สู่ลูกและการดูแลให้เข้าถึงการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี และเน้นย้ำในประเด็นการไม่เลือกปฏิบัติและการลดการตีตรา ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญที่ลดปัญหาภัยคุกคามต่อระบบสาธารณสุขโลกและการลดทอนศักยภาพของประเทศจากปัญหาผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้เป็นโรคเอดส์ได้