xs
xsm
sm
md
lg

ค่าแรง 600 บาท แรงสะท้อน พท.เกินคาด !?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เมืองไทย 360 องศา
ต้องบอกว่าการประกาศวิสัยทัศน์ของพรรคเพื่อไทยที่นำโดย “อุ๊งอิ๊ง” น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย ระหว่างการประชุมใหญ่ของพรรค เพื่อเลือกกรรมการบริหารพรรคเพิ่มเติม เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม ในชื่อใหม่เปลี่ยนมาจากเดิมว่า “พรุ่งนี้เพื่อไทย” มาเป็น “คิดใหญ่ ทำเป็น เพื่อไทยทุกคน”

โดยเธอย้ำว่า ภายในปี 2570 ภายใต้รัฐบาลพรรคเพื่อไทย หากบริหารประเทศนาน 4 ปีที่ผ่านมา ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ให้กับประชาชน คนไทยจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลง โดยคนไทยต้องได้ค่าแรงขั้นต่ำให้สมกับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนไทย คือไม่ต่ำกว่า 600 บาทต่อวัน เงินเดือนของผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรี อยู่ที่ 25,000 บาทขึ้นไป

แน่นอนว่า ในนโยบายที่ประกาศออกมามีจำนวน 10 ข้อ แต่ที่เรียกเสียงฮือฮา หรือเรียกว่า “เสียงโวยวาย” ด่าทอกันลั่นทุ่ง ก็น่าจะเป็นเรื่อง การขึ้นค่าแรงพุ่งพรวดจากเดิมแบบ “ร้อยเปอร์เซ็นต์” และ เรื่องเงินเดือนปริญญาตรี เดือนละ 25,000 บาท เป็นเรื่องหลัก เพราะถือว่ากระทบกันในวงกว้าง และทุกระดับ ทั้งทางตรงและทางอ้อม

แต่ที่น่าจับตา ก็คือ เสียงคัดค้านกลับดังมาจากรอบวง มากว่าเสียงชื่นชม เพราะส่วนใหญ่ โดยเฉพาะบรรดากลุ่มธุรกิจมองเห็นตรงกันว่านี่คือ “หายนะ” ทางเศรษฐกิจ เป็นการทำลายศักยภาพการแข่งขัน เนื่องจากทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อของแพง และยังเชื่อว่าหากการปรับขึ้นค่าแรงดังกล่าวเกิดขึ้นจริงส่งผลกระทบต่อการลงทุนจากต่างประเทศที่ต้องเบนเข็มไปยังประเทศอื่นในย่านนี้ที่ค่าแรงถูกกว่า

ขณะเดียวกัน อีกนโยบายที่มีการพูดถึงกันมาก ก็คือ เรื่องเงินเดือนปริญญาตรี 25,000 บาท ที่หากบัณฑิตจบใหม่ได้เงินเดือนดังกล่าว นั่นก็หมายความว่า จะต้องมีการปรับเงินเดือนกันทั้งระบบทั้งคนเก่าที่เงินเดือน 15,000-20,000 บาท และทำงานมาหลายปีก็ต้องปรับขึ้นมาใหม่ และต้องมากกว่าเดิมหรือไม่ เพราะอายุงานและประสบการณ์ทำงานมากกว่าเด็กที่จบใหม่ รวมไปถึงต้องใช้เงินงบประมาณในการนำมาปรับเพิ่มเงินเดือนให้มีอัตราขั้นต่ำเท่ากับเอกชน หรือใกล้เคียงกัน ซึ่งต้องใช้เงินจำนวนมหาศาล

แม้ว่าต่อมา น.ส.แพทองธาร ชินวัตร จะพยายามอธิบายเพิ่มเติมรวมๆ แบบว่าต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่เศรษฐกิจเติบโตไม่ต่ำกว่า ร้อยละ 5 ต่อปีติดต่อกัน และจะอัตราค่าแรง และเงินเดือนปริญญาตรีดังกล่าวจะเกิดขึ้นในปี 2570 ซึ่งพรรคเพื่อไทยจะต้องอยู่ครบวาระ 4 ปี

น.ส.แพทองธาร กล่าวอธิบายว่าค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ที่เคยขึ้นสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ผ่านมา กว่า 10 ปี ค่าแรงขั้นต่ำเพิ่มขึ้นประมาณ 10 บาทเท่านั้น ฉะนั้น พรรคเพื่อไทยต้องคิดใหญ่ เพื่อให้เศรษฐกิจทั้งประเทศขับเคลื่อนไปด้วยกัน แต่ไม่ใช่นำงบประมาณของประเทศมาใช้ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ รวยกระจุก จนกระจาย ส่วนจีดีพีประเทศจะเติบขึ้นเฉลี่ยปีละ 5% นั้น ไม่ใช่จะตายตัว 5% ทุกปี ซึ่งปีแรกอาจจะสูงกว่า 5% ก็ได้ ปีต่อมาอาจจะลดน้อยลงตามเลขเฉลี่ยแต่ละปี ที่จะเติบโตได้ และดูเศรษฐกิจโลกบวกด้วย

“วันนี้ไม่แปลกเลย ที่คนจะคิดว่าต้นทุนจะเพิ่มขึ้น วันนี้ค่าแรงขึ้นเป็น 600 บาท ยังคิดไม่ได้ เพราะเศรษฐกิจยังไม่ดี เมื่อเศรษฐกิจดีทั้งระบบแล้วจะไปโดยธรรมชาติของเศรษฐกิจเอง” น.ส.แพทองธาร ระบุ

น.ส.แพทองธาร กล่าวต่อว่า การเติบโตเศรษฐกิจเราต้องการเติบโตทั้งระบบ ทั้งประเทศ คนทุกชนชั้น คนทุกฐานะได้รับประโยชน์ ได้มีโอกาส ได้มีศักดิ์ศรี มีเกียรติที่จะสามารถออกมาใช้ชีวิตจับจ่ายใช้สอย ลดหนี้สิน ดูแลครอบครัวได้ นั่นคือ คอนเซปต์ ที่เราเปลี่ยนตั้งแต่เคมเปญพรรคว่า เราต้องคิดใหญ่ ทำเป็น เพื่อไทยทุกคน ปัญหามีนานแล้ว คิดเล็กปัญหาไม่จบ ต้องคิดใหญ่ แก้ปัญหาทั้งระบบ

นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช ประธานคณะกรรมการนโยบาย พรรคเพื่อไทย กล่าวเสริมว่า การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจะดำเนินการเป็นขั้นตอน เราตระหนักดีว่ามีหลายท่านวิจารณ์ว่า เราทำลายโครงสร้างทางธุรกิจ ซึ่งไม่เป็นความจริง เพราะเราตระหนักดีว่า การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นเรื่องของนายจ้าง กับลูกจ้าง และมีรัฐดูภาพรวมเพื่อให้ประเทศเดินต่อได้ โดยเราจะต้องขยับไปด้วยกันเป็นขั้นตอน สิ่งสำคัญคือ เราต้องทำให้เกิดรายได้ก่อน

“สิ่งที่เราเคยแถลงมาแล้ว เป็นไปได้แน่นอน เนื่องจากเราเคยทำมาแล้วในอดีต และขอให้มั่นใจว่าเราจะต้องเติบโตไปด้วยกัน” นพ.พรหมินทร์ กล่าว

สิ่งที่ต้องพิจารณาก็คือ หลังการประกาศนโยบาย10 เรื่อง โดยสองเรื่องคือ ค่าแรงวันละ 600 บาท และ เงินเดือนปริญญาตรี 25,000 บาท ที่กลายเป็นว่าเกิดแรงต้าน มีเสียงวิจารณ์กันรอบทิศ ในทำนองคนจ่ายไม่ใช่คนออกนโยบาย หรือพรรคการเมืองที่ได้คะแนนเสียง ส่วนภาคเอกชนที่ต้องรับภาระเกินจะรับไหว

อย่างไรก็ดี เป็นที่น่าสังเกตว่าการประกาศนโยบายคราวนี้ของพรรคเพื่อไทย แม้จะเป็นการ “เบิ้ล” เพิ่มขึ้นมาเป็นสองเท่า แต่กลายเป็นว่าเสียงตอบรับกลับไม่ได้ฮือฮาเหมือนกับเมื่อออกนโยบายค่าแรง 300 บาท ในยุครัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อปี 54-55 โดยเฉพาะคราวนี้ เสียงวิจารณ์จากภาคเอกชน ธุรกิจรายย่อยแทบทั้งหมดต่างประสานเสียงคัดค้าน ยิ่งไม่ต้องพูดถึงบรรดาพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้าม ที่ต่างระบุเป็นเสียงเดียวกันเป็นการทำลายเศรษฐกิจการลงทุนของประเทศ มากกว่าการส่งเสริมให้เติบโต

ขณะเดียวกัน ในทางการเมืองก็ยังถูกมองว่าการออกนโยบายในลักษณะที่เรียกว่า “ซูเปอร์ประชานิยม” ครั้งนี้ มีเป้าหมายเพื่อการหาเสียง ต้องการให้พรรคเพื่อไทยชนะแบบ “แลนด์สไลด์” ทำทุกทางเพื่อให้ได้เป็นรัฐบาล ซึ่งยังมีเป้าหมายที่ซ่อนอยู่อีกชั้นหนึ่งก็คือ ต้องการ “นำทักษิณ” กลับบ้านแบบไม่ต้องรับโทษ นั่นคือ ต้องออกกฎหมายนิรโทษกรรม ดังนั้นหากกล่าวว่าประชานิยมรอบใหม่ มีเป้าหมายหลักก็คือ หวังจะพาพ่อกลับบ้านนั่นแหละ เพียงแต่ว่าแรงต้านกลับดังกว่าที่คาดนั่นเอง !!


กำลังโหลดความคิดเห็น