xs
xsm
sm
md
lg

“เพจดัง” ชี้ชัด ค่าแรง 600 “ใครรอด..ใครไม่รอด” ระบุถ้าทักษะสูง 900 ก็จ้าง “กูรู” ตั้งคำถามท้าทายทำได้หรือไม่?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพ แรงงานทักษะสูง ค่าจ้างรายวันในปัจจุบันสูงถึง 900 บาทอยู่แล้ว ขอบคุณข้อมูล-ภาพจากเพจเฟซบุ๊ก The METTAD
“เพจดัง” ยกกราฟิก ค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงาน 3 กลุ่มอาชีพ 16 สาขา ชี้ชัด ค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท ใครรอด-ใครไม่รอด “นักเศรษฐศาสตร์” ตั้งคำถาม 5 ข้อ ชวนหาคำตอบ ค่าแรงขึ้นต่ำ 600 บ. ทำได้อย่างไร?

น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง วันนี้ (9 ธ.ค. 65) เพจเฟซบุ๊ก The METTAD โพสต์ภาพกราฟิกค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงาน 3 กลุ่มอาชีพ 16 สาขา พร้อมข้อความระบุว่า

“แรงงานฝีมือ ก็ประมาณนี้

ส่วนแรงงานไร้ฝีมือ ถ้าจะเอาค่าแรงสูงๆ

นายจ้างรายเล็ก ก็จะลดการจ้าง ขึ้นราคาสินค้า หรือ ปิดกิจการ
ส่วน นายจ้างรายใหญ่ ก็จะใช้หุ่นยนต์แทน

เหลือแต่พวกนายทุนใหญ่สายป่านยาว”

ภาพ กราฟิกอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงาน 3 กลุ่มอาชีพ 16 สาขา ขอบคุณข้อมูล-ภาพจากเพจเฟซบุ๊ก The METTAD
ก่อนหน้านี้ เพจเฟซบุ๊ก The METTAD โพสต์ภาพ ข้อความระบุว่า

“ปล่อยให้ค่าแรงเป็นไปตามตามกลไกตลาด
เดี๋ยวนี้แรงงานทักษะสูงได้สูงสุดถึง 900 ต่อวันแล้วนะ”

ขณะเดียวกัน ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความ เรื่อง ค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท ทำอย่างไรให้ไปถึงฝัน... มีเนื้อหาดังนี้

“ผมมีคำถามในใจ 5 ข้อ ที่ผมคิดว่าถ้าสามารถช่วยกันหาคำตอบได้ ก็น่าจะพอมีทางผลักดันค่าแรงขั้นต่ำให้ถึง 600 บาท โดยไม่ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจในภาพรวมมากจนเกินไปนัก (และบางประเด็นอาจจะเหมาะกับการยกระดับเงินเดือนเป็น 25,000 บาทนะครับ) เราวางสี วางพรรคลงก่อน แล้วช่วยผมหน่อยนะครับว่าถ้าเราต้องขับเคลื่อนนโยบายนี้จริง เราจะรับมือกับประเด็นเหล่านี้ยังไง...(จริงๆ มีอีกคำถาม 2-3 ข้อแต่ขอเก็บไว้เป็นข้อสอบปลายภาคให้นักศึกษาช่วยกันคิดในเทอมหน้านะครับ)

1. ถ้าสามารถทำให้เศรษฐกิจเติบโตติดต่อกันได้ 5% ต่อปี เป็นเวลา 4 ปี จะทำให้เศรษฐกิจเราโตขึ้นอีกประมาณ 21.6% หากเพิ่มค่าแรงแบบค่อยเป็นค่อยไปเป็นเวลา 4 ปี สมมติว่า เป็นกรุงเทพมหานครที่ตอนนี้ค่าแรงชั้นต่ำเท่ากับ 353 บาท การเพิ่มเป็น 600 บาท ใน 4 ปี เป็นการเพิ่มขึ้นประมาณ 70% นั่นหมายความว่า ในแต่ละปีค่าแรงขั้นต่ำจะต้องเพิ่มขึ้นเร็วกว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจ ถ้าจะให้เศรษฐกิจกับค่าแรงโตไปด้วยกันแต่ละปีเศรษฐกิจต้องโตไม่น้อยกว่าปีละ 14.2% ซึ่งเป็นเรื่องที่ท้าทายมาก ผมเลยขอตัดทางเลือกนี้ออกไปนะครับ อีกทางเลือกหนึ่งที่เป็นไปได้มากกว่า คือ ยังรักษาการเติบโตไว้ที่ 5-8% แล้วหาทางกระจายผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจให้ไปถึงแรงงานที่รับค่าแรงขั้นต่ำให้มากขึ้น การออกแบบกลไกนี้มันซับซ้อนกว่า “การเติบโตแบบทั่วถึง” (Inclusive Growth) มันต้องเป็นกลไกระดับ “การเติบโตแบบกึ่งมุ่งเป้า” (Semi-Exclusive Growth) ที่ให้ความสำคัญกับคนตัวเล็กตัวน้อย ให้ความสำคัญภาคธุรกิจรายย่อยและ SMEs และให้ความสำคัญกับระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจของแต่ละจังหวัด กลไกที่ว่านี้ควรจะหน้าตาเป็นยังไงกันดีครับ?

2. สืบเนื่องจากข้อ 1 การเติบโตที่เกิดขึ้นจะต้องเป็นการเติบโตที่แท้จริง ไม่ได้เกิดจากนโยบายกระตุ้นกำลังซื้อของภาครัฐ ดังนั้น เราตัดโครงการตระกูลคนละครึ่ง เราเที่ยวด้วยกัน หรือการแจกเงินแบบต่างๆ ออกไปจากตัวเลือกได้เลยครับ เพราะนโยบายแบบนี้ใช้รักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจระยะสั้น สิ่งที่เราต้องการเห็นคือคุณภาพชีวิตที่ดีของแรงงานในระยะยาว จึงต้องเป็นการเติบโตที่เกิดจากเนื้อแท้ของระบบเศรษฐกิจ เกิดจากขีดความสามารถในการแข่งขัน เกิดจากการพัฒนาคุณภาพของคน นโยบายสารพัดแบบที่รัฐบาลหลายชุดที่ผ่านมาเพื่อทำสิ่งเหล่านี้มันไม่ได้ผลเท่าที่ควร ดังนั้น เราคงต้องหาเครื่องมือใหม่ หรือวิธีการใหม่ไปใช้กับแนวทางเดิม เครื่องมือ/แนวทางใหม่ที่ว่าจะเป็นแบบไหนได้บ้างครับ?

3. แรงงานกับผู้ประกอบการเป็นเหมือนลิ้นกับฟัน ยังไงก็ต้องอยู่ไปด้วยกัน อาจมีกัดกันแรงบ้างเบ้าบาง แต่ก็หนีกันไม่พ้น การปรับค่าแรงขึ้น การทยอยปรับค่าแรงถือว่าช่วยให้ผู้ประกอบการมีเวลาปรับตัวได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีมาก แต่ให้นึกภาพแบบนี้ครับ เราเปิดร้านขายอาหาร ถ้าหน้าร้านมีลูกค้ามาเข้าแถวยาวเหยียดรอซื้ออาหาร การที่พนักงานในร้านเก่งขึ้น ช่วยให้ทำอาหารเสร็จ อร่อยและขายได้ไว้ขึ้น เจ้าของร้านที่ไม่ใจร้ายก็พอรับได้กับค่าแรงที่เพิ่มขึ้น แต่ถ้าหน้าร้านมีลูกค้าหรอมแหรมแล้วยังต้องเพิ่มค่าแรงให้พนักงาน เจ้าของร้านก็อยู่ลำบาก ฉันใดก็ฉันนั้นหากคิดแบบ Win-Win ในเมื่อรัฐเป็นคนออกนโยบายนี้ รัฐก็มีหน้าที่ช่วยเหลือผู้ประกอบการควบคู่กันไปด้วย ทั้งในด้านการบรรเทาผลกระทบต่อต้นทุนในช่วงเวลาปรับตัว และการช่วยหาลูกค้ามาเข้าแถวหน้าร้าน เราจะทำแบบนี้ได้ยังไงบ้างครับ?

4. สืบเนื่องจากข้อ 3 การ Upskill หรือ Reskill แรงงานจะยกระดับทักษะได้มากแค่ไหนขึ้นอยู่กับทักษะที่เป็นทุนเดิมของแรงงาน แรงงานที่รับค่าแรงขั้นต่ำ ทักษะที่เป็นทุนเดิมอาจจะไม่พอให้สามารถ Upskill หรือ Reskill ให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของตลาดแรงงานได้ การยกระดับค่าแรงโดยไม่ยกระดับทักษะฝีมือของแรงงานให้เพิ่มขึ้นมาด้วย ยิ่งบีบให้ผู้ประกอบการต้องหาทางออกด้วยการลดต้นทุน ลดคน หรือเปลี่ยนโมเดลธุรกิจไปใช้เทคโนโลยีแทน เราจะช่วยให้แรงงานกลุ่มนี้เก่งขึ้นใน 4 ปีได้อย่างไร?

5. การเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำแบบนี้แรงงานข้ามชาติก็ได้ประโยชน์เช่นกัน เราจะป้องกันปัญหาแรงงานข้ามชาติทะลักเข้ามาได้อย่างไร? ที่สำคัญถ้าเขาเข้ามาในประเทศแล้วเราต้องไม่เลือกปฏิบัติว่าใครเป็นแรงงานไทยใครเป็นแรงงานข้ามชาตินะครับ อย่าลืมว่าเป้าหมายหลักของค่าแรงขั้นต่ำคือช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย แต่ถ้าคนส่วนใหญ่ที่ได้ประโยชน์เป็นแรงงานข้ามชาติ มันก็ออกจะแปลกไปนิดนึงนะครับ

**** สุดท้ายนี้ ผมว่า ถ้าเรามีคำตอบที่ดีให้กับคำถาม 5 ข้อนี้ได้ เราไม่น่าจะหยุดแค่ 600 บาท กับ 25,000 บาท ลองคิดกันเล่นๆ ดูครับว่า จริงๆ ตัวเลขในใจของค่าแรงขั้นต่ำ และเงินเดือนคนจบ ป.ตรี ควรเป็นเท่าไหร่ดี****

ผมชวนคุยในเรื่องที่อยากจะคุยครบแล้วครับ หลังจากนี้ หน้าเพจผมคงจะกลับไปเป็นเรื่องแมว ของกิน หนังสือ ฟุตบอล และเรื่องสัพเพเหระ...จนกว่าจะมีประเด็นอื่นที่ผมพอจะแสดงความเห็นได้ครับ...

ขอบคุณกัลยาณมิตรทุกท่านทั้งที่เป็นเพื่อนกันมานานและหลายท่านเพิ่งได้มาพบกันนะครับ ดีใจที่ได้รู้จักกับทุกคน ผมขอตัวไปเตรียมเสบียงเตรียมร่างกายดูบอลโลกก่อนนะครับ...

สุขสันต์วันศุกร์นะครับกัลยาณมิตรของผมทุกคน

ปล. สำหรับนักศึกษาที่กำลังคิดว่าจะลงเรียนกับผมในวิชา Contemporary Economic Issues (สถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน) คำถามเหล่านี้คือตัวอย่างข้อสอบที่พวกเราจะต้องเจอครับ
#ผมเป็นนักเศรษฐศาสตร์ #ผมเป็นคนสงขลา #ล้วนแก้ว

ภาพ ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว “กูรู” ด้านเศรษฐศาสตร์
ก่อนหน้านี้ วันที่ 7 ธ.ค. 65 ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว โพสต์เฟซบุ๊ก เรื่อง ค่าแรง 600 บาท ป.ตรี 25,000 บาท ก็กอดคอกันลงเหวไปเลยสิครับ!!!

โดยระบุว่า เพื่อให้เห็นภาพที่ต่อเนื่อง ในการวิเคราะห์เราควรแยก “อดีต” กับ “อนาคต” ด้วยนะครับ…

***Season 1 : มองอดีต***
1. ในช่วงเวลาที่ผ่านมา ค่าแรงไม่ได้เพิ่มอย่างต่อเนื่องในระดับที่สามารถเอาชนะอัตราเงินเฟ้อได้ ผมไม่ได้พูดถึงเงินเฟ้อในภาพรวมของประเทศ สำหรับคนที่ใช้ชีวิตอยู่ด้วยรายได้ใกล้เคียงกับค่าแรงขั้นต่ำ เราต้องดูเงินเฟ้อปากท้องที่คำนวณโดยใช้ราคาของกินของใช้และบริการที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน ผมเคยคำนวณเอาไว้คร่าวๆ เงินเฟ้อปากท้องจะสูงกว่าเงินเฟ้อภาพรวมประมาณ 2-5 เท่าขึ้นอยู่กับสถานการณ์ในแต่ละช่วง (ดูได้จากลิงค์นี้ครับ shorturl.at/byMR6 ) นั่นหมายความว่า การเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำเพียงแค่ให้เท่ากับค่าครองชีพก็ยังไม่พอเลย นับประสาอะไรกับการเพิ่มที่น้อยกว่าค่าครองชีพ ดังนั้น ค่าแรงแท้จริงของคนกลุ่มนี้จึงไล่ไม่ทันค่าใช้จ่ายรายวัน พูดง่าย ๆ ก็คือ ยิ่งอยู่ไปอยู่ไปพวกเขาอย่างดีฐานะก็เท่าเดิม อย่างแย่ก็จนลงกว่าเดิม

2. การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำแบบก้าวกระโดดเป็น 300 บาท ทำให้ค่าครองชีพเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ลองไปดูตัวเลขค่าแรงขั้นต่ำในกรุงเทพและปริมณฑล แล้วใช้เงินเฟ้อปากท้องมาเป็นฐานในการเทียบ จะพบว่า ภายในเวลาไม่ถึง 3 ปีเงินเฟ้อปากท้องก็ไล่ทันค่าแรงที่เพิ่มขึ้น คนที่เคยได้ประโยชน์จากค่าแรงก็กลับมาอยู่ ณ จุดเดิม เงิน 300 บาทที่ได้พาเขากลับไปสู่อดีตก่อนที่เขาจะได้ 300 บาทในเวลาที่รวดเร็วมาก ในทางเศรษฐศาสตร์นี่คือการบีบให้กลไกตลาดให้รางวัลแค่แรงงานในทางอ้อม เรียกว่าเป็นโบนัสเชิงนโยบายก็ได้

3. ค่าแรงที่เพิ่มขึ้นทำให้ธุรกิจตัวเล็กตัวน้อย โดนหมัดฮุุกเข้าท้องน้อย ทำให้โตต่อได้ยาก เพราะต้นทุนค่าแรงคิดเป็นร้อยละ 50-70 ของต้นทุนทั้งหมด ส่วนธุรกิจใหญ่ที่ปกติจ่ายค่าแรงสูงกว่า 300 อยู่แล้ว ผลกระทบมีไม่มากนัก แม้ว่าผมจะไม่มีข้อมูล แต่ตามหลักแล้ว สถานการณ์เช่นนี้มักนำไปสู่ปัญหาทักษะไหล เพราะคนเก่งจะถูกบริษัทใหญ่ดึงตัวไปมากขึ้น เนื่องจากธุรกิจตัวเล็กตัวน้อยต้องปล่อยคน หรือไม่ก็ปิดตัวลง

4. บทเรียนจากการทบทวนวรรณกรรมเรื่องการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำแบบก้าวกระโดดทั่วโลกได้ผลตรงกันว่า ดีกับพรรคการเมือง แต่ไม่ดีกับประชาชน องค์การแรงงานระหว่างประเทศจึงได้กำหนดแนวปฏิบัติ (Guidelines) ลองดูในบทที่ 5 ของเอกสารนี้นะครับ ( https://www.ilo.org/global/docs/WCMS_508566/lang–en/index.htm ) ลองอ่านแล้วจะเห็นว่า การขึ้นค่าแรง 300 บาท (600 บาท เพิกเฉยต่อแนวปฏิบัติไปกี่ข้อ)

5. การขึ้นค่าแรง 300 ที่อ้างว่าเราประสบกับปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ดูได้จากการที่อัตราการว่างงานของเราต่ำมากอยู่ที่ไม่เกิน 2% ที่ต้องบอกคือ ประเทศอื่น ขนาดตอนเศรษฐกิจเขาดีๆ อัตราการว่างงานเขายังอยู่แถว 3% แล้วทำไมไทยถึงต่ำขนาดนี้ คำตอบคือ เป็นเพราะนิยามของการมีงานทำที่ระบุว่าแค่ทำงาน 1 ชม ต่อสัปดาห์ก็มีงานทำแล้วยังไงล่ะครับ แต่ถ้าเป็นแถวบ้านอาทิตย์นึงทำงาน 1 ชั่วโมงแล้วเวลาที่เหลือนอนดูซีรี่ส์นี่ แถวบ้านเรียกตกงานนะครับ (ดูนิยามการมีงานทำได้ที่นี่ http://service.nso.go.th/nso/nsopublish/service/serv_lfsdef.html ) ดังนั้น ข้ออ้างเรื่องตลาดแรงงานตึงตัวจึงเป็นเหตุผลที่ไม่สมเหตุสมผล

6. แม้ว่าค่าแรงจะขึ้นเป็น 300 แต่อัตราการว่างงานของเราไม่กระโดดขึ้นมาเหมือนที่ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ไว้ นั่นเป็นเพราะปี 2555-2556 หรือเมื่อ 10 ปีก่อน ต้นทุนการนำเทคโนโลยีมาใช้แทนแรงงานยัง “แพง” และ “แทนได้ไม่ดี” ธุรกิจจึงต้องกัดฟันทนกันไป

***Season 2: Spoiler ภาพอนาคต***
มีอะไรบ้างที่อาจจะเกิดขึ้น
1. ค่าแรงกระโดดเป็น 600 เท่ากันทั่วประเทศ จะทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำย้อนกลับ การขึ้นค่าแรง 600 บาทเท่ากันทุกจังหวัด ทำลายโอกาสได้งานในจังหวัดที่ไม่ใช่แม่เหล็กทางเศรษฐกิจ คนจะเดินทางมาหาโอกาสทำงานในจังหวัดที่เจริญแล้ว เพราะน่าจะมีความสามารถในการจ่ายได้มากกว่า เมื่อแรงงานออกจากจังหวัด ความเจริญก็ไหลออกตามมาด้วย กำลังซื้อในจังหวัดจะลดลง ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ระหว่างจังหวัดมากขึ้น (ดูได้จากhttps://www.tcijthai.com/news/2013/24/scoop/1914 )

2. บริบทการฟื้นตัวแบบ K-Shape เราเห็นแล้วว่า การระบาดของโควิด ที่มาพร้อม Disruption ระยะที่ 2 ที่หมายถึงระยะที่ต้นทุนการเปลี่ยนมาใช้เทคโนโลยีแทนแรงงานมีต้นทุนต่อ ทำได้ง่าย และเปลี่ยนแล้วคุ้มค่า หมายความว่า ธุรกิจไม่จำเป็นต้องง้อแรงงาน ยิ่งค่าแรงขึ้นแรง การเปลี่ยนไปใช้เทคโลยีแทนยิ่งคุ้ม ดังนั้น จะเอาข้อมูลในอดีตว่าไม่เกิดผลกระทบต่อการจ้างงานมาใช้กับบริหลังโควิดจึงไม่เหมาะสม (บทความของคุณกษิดิ์เดช คำพุช แห่ง 101 แสดงข้อมูลเรื่อง K-Shape ไว้ชัดเจนมาก ขออนุญาตแชร์นะครับ Kasidet Khumpuch https://www.the101.world/minimum-wage-to-living-wage/?fbclid=IwAR0kR_3LowkdXmOjO-4j6Jbpiy-zY4ovB-CadfwaegqpbXXHtYRPdAvAMQw)

3. เราพูดถึงที่ค่าแรงขั้นต่ำ 600 จะทำให้เวียดนามยิ้มร่า ผมขอบอกเลยว่า ไม่ใช่แค่เวียดนามที่ยิ้มร่า อาเซียน and beyond ยิ้มกันหมดครับ ย้ายฐานการผลิตเกิดขึ้นแน่
แต่ๆๆๆๆ ที่ผมห่วงไม่ใช่แค่เงินไหลออกครับ ลักษณะของเงินทุนใหม่ที่ไหลเข้ามา เขาไม่ได้ต้องการแรงงานระดับที่ใช้ชีวิตอยู่กับค่าแรงขั้นต่ำ เขาต้องการแรงงานทักษะสูง นั่นหมายความว่าต่อให้ FDI เข้ามาจนประเทศไทยสำลัก ก็ไม่ได้การันตีว่า คนที่ตกงานจากการย้ายฐานการผลิตจะได้งาน

4. ค่าแรง 600 เราจะได้เห็นผีน้อยหลายชาติเข้ามาทำงานในประเทศไทย คนไทยที่ตกงานก็ต้องต่อสู้แย่งชิงงานกับเขา จำนวนแรงงานนอกระบบจะเพิ่มขึ้น อันนี้น่ากลัว เพราะถ้าคนรายได้น้อยหลุดออกจากระบบ Safety Net ทั้งหลายก็จะหายไปด้วย 600 ไม่ได้ ครอบครัวลำบาก ชีวิตไม่มั่นคง…ธุรกิจมีกำไรลดลง…ฐานภาษีของรัฐก็หายไปด้วย…

5. ค่าครองชีพที่สูงขึ้นส่งผลต่อต้นทุนธุรกิจ กระทบการท่องเที่ยว กระทบกับคนมีรายได้ประจำ ตอนนี้ยังไม่แน่ใจเลยว่าผลจะหนักหนาแค่ไหน เพราะยังไม่ได้ใส่ปัจจัยเรื่องสภาพอากาศและปัญหาเศรษฐกิจการเมืองระหว่างประเทศ แต่ถ้าถามลางสังหรณ์ ผมใจหวิวๆ ครับ

6. ค่าครองชีพจะนำไปสู่การใช้นโยบายประชานิยมอีกรอบหรือเปล่า ถ้าฉายหนังซ้ำแบบนี้อีก ประเทศไทยจะกลายเป็นประเทศที่ค่าแรงขั้นต่ำสูง แต่น้ำตานองแผ่นดิน คุ้มหรือไม่คุ้มลองคิดดูนะครับ

แน่นอน, ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ ค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท ถ้าจะทำให้ได้จริง ต้องเริ่มตรงไหน และสุดท้ายปลายทางก็จะเกิดขึ้น

ที่นักเศรษฐศาสตร์ตั้งคำถามท้าทาย ก็คือ ต้นทางจะต้องทำให้เศรษฐกิจโตอย่างต่อเนื่องใน 4 ปี ไม่น้อยกว่าปีละ 14.2% หรือ ยังรักษาการเติบโตไว้ที่ 5-8% แต่ต้องมีปัจจัยเสริมอีกมากมาย และล้วนสำคัญจะทำเป็นเล่นไม่ได้ ทำได้หรือไม่?

ส่วนผลกระทบที่จะตามมา ก็จะต้องมีการบริหารจัดการเป็นอย่างดี จึงจะรับมือได้ แต่ถ้าบริหารจัดการอย่างทุกวันนี้และที่ผ่านมา รับรองเดือดร้อนกันทั้งแผ่นดิน

ยิ่งกว่านั้น ประเด็นที่น่าสนใจยิ่งกว่าก็คือ เมื่อนำเอาเรื่องนี้มาเป็น “นโยบายทางการเมือง” เพื่อหาเสียงเลือกตั้ง ถือว่า “พรรคการเมือง” ที่นำเสนอ ได้ประโยชน์ทันที แต่ประเทศและประชาชนจะต้องไปเสี่ยงเอาเอง ว่า จะต้องไปเจอกับรัฐบาลแบบไหน ทำได้ตามที่เขียนนโยบายเอาไว้หรือไม่

เหนืออื่นใด ทำแล้ว ประเทศเสียหายย่อยยับ อย่างที่ผ่านมา หรือไม่ เป็นเรื่องที่ประชาชนจะต้องช่วยกันคิด และตัดสินใจให้ดี


กำลังโหลดความคิดเห็น