xs
xsm
sm
md
lg

ดีลทรู-ดีแทคเดินหน้า หลังศาลปกครองยกคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวของสภาองค์กรผู้บริโภค

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศาลปกครอง ยกคำขอของสภาองค์กรผู้บริโภคที่ให้ระงับมติ กสทช."รับทราบ"การควบรวมทรู-ดีแทค ชี้ ในชั้นนี้ยังไม่มีเหตุความน่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย


วันนี้( 10 ธ.ค.)ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 9 ธ.ค.ศาลปกครองกลาง ได้มีคำสั่งยกคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราว หลังสภาองค์กรของผู้บริโภค ยื่นคำร้องขอให้ศาลเพิกถอนมติ กสทช. “รับทราบ” การรวมธุรกิจระหว่างบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ทรู และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค โดยศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ยังไม่มีเหตุไม่ชอบด้วยกฏหมาย จึงไม่เข้าเงื่อนไขที่ศาลจะมีคำสั่งทุเลาการบังคับคำสั่งทางปกครองได้ตามข้อ 72 วรรค 3 แห่งระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2543 และเมื่อได้วินิจฉัยเช่นนี้แล้ว กรณีจึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยประเด็นอื่นอีก เนื่องจากไม่มีผลทำให้คำสั่งเปลี่ยนแปลง จึงมีคำสั่งยกคำขอวิธีการชั่วคราว ส่งผลให้ดีลทรูและดีแทคสามารถเดินหน้าต่อไปได้

สำหรับประเด็นที่ศาลพิจารณา 4ประเด็นประกอบด้วย 1. การที่ประธาน กสทช. ออกเสียงเพิ่มอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาดในการลงมติพิพาท เห็นว่า การที่ที่ประชุมมีคะแนนเสียงเท่ากันคือ 2 ต่อ 2 เสียง โดยงดออกเสียง 1 เสียง จากเสียงทั้งหมด 5 เสียง กรณีจึงไม่อาจมีมติเป็นข้อยุติได้ กรณีจึงต้องบังคับตามข้อ 41 วรรคสาม ของระเบียบการประชุมฯ โดยให้ประธาน กสทช. ออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด เมื่อประธาน กสทช. ออกเสียงเพิ่มขึ้นเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด ทำให้การวินิจฉัยชี้ขาดของ กสทช. มีเสียง ของผู้ที่เห็นว่าการรวมธุรกิจกรณีนี้ไม่เป็นการถือครองธุรกิจในบริการประเภทเดียวกันตามข้อ 8 ของประกาศผูกขาดฯ 2549 และให้พิจารณาดำเนินการตามประกาศการรวมธุรกิจฯ 2561 โดยรับทราบการรวมธุรกิจ และเมื่อ กสทช. ได้รับรายงานการรวมธุรกิจแล้ว กสทช. มีอำนาจกำหนดเงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะตามข้อ 12 ของประกาศการรวมธุรกิจฯ 2561 จำนวน 3 เสียง ซึ่งเป็นจำนวนที่ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมดแล้ว ตามข้อ 41 วรรคหนึ่ง (2) ของระเบียบดังกล่าว ดังนั้น จึงไม่มีเหตุที่รับฟังว่าการออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งของประธาน กสทช. เป็นการกระทำที่น่าจะขัดต่อข้อ 41 วรรคหนึ่ง (2) ของระเบียบการประชุมฯ

ประเด็นที่ 2 การที่ กสทช. มีมติรับทราบการรวมธุรกิจ โดยกำหนดเงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะ ข้อ 8 ของประกาศผูกขาดฯ 2549 เป็นกรณีการถือครองธุรกิจในบริการประเภทเดียวกันโดยการเข้าซื้อหรือถือหุ้น หรือการเข้าซื้อสินทรัพย์ ซึ่งแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญกับการรวมธุรกิจ ซึ่งข้อ 3 และข้อ 5 ของประกาศการรวมธุรกิจฯ 2561 แบ่งการรวมธุรกิจเป็น 3 แบบ ได้แก่ การรวมธุรกิจโดยการรวมกันแล้วเกิดเป็นนิติบุคคลใหม่ การรวมธุรกิจโดยการเข้าซื้อหุ้นหรือซื้อทรัพย์สินของผู้ประกอบการรายอื่น ไม่อาจแปลความว่าการรวมธุรกิจทุกกรณีจะต้องได้รับอนุญาตจาก กสทช.

และ ข้อ 8 ของประกาศผูกขาดฯ 2549 เป็นเพียงเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้รับใบอนุญาตที่ประสงค์จะเข้าถือครองธุรกิจของผู้รับใบอนุญาตรายอื่น โดยไม่ต้องไปขออนุญาตตามข้อ 8 ของประกาศผูกขาดฯ 2549 อีก จึงสอดคล้องกับมาตรา 77 วรรคสามของรัฐธรรมนูญที่บัญญัติให้รัฐพึงใช้ระบบอนุญาตและระบบคณะกรรมการในกฎหมายเฉพาะกรณีที่จำเป็น ดังนั้นไม่ว่ากรณีจะเป็นเช่นใดก็ตาม ประกาศข้างต้นมิได้ห้ามหรือปิดกั้นมิให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมดำเนินการรวมธุรกิจหรือการควบรวมธุรกิจประเภทเดียวกันกับผู้รับใบอนุญาตรายอื่นอย่างสิ้นเชิง หากได้ดำเนินการให้ถูกต้องครบถ้วนตามเงื่อนไขและมาตรการที่ กสทช. กำหนด การที่ กสทช. มีมติรับทราบโดยกำหนดเงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะจึงเป็นการใช้อำนาจหน้าที่ตามกฎหมายและประกาศการรวมธุรกิจฯ 2561 แล้ว ในชั้นนี้ยังไม่มีเหตุความน่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ส่วนประเด็นที่ 3 ผลกระทบของการรวมธุรกิจ เมื่อ กสทช. มีมติรับทราบการรวมธุรกิจโดยเห็นชอบและกำหนดเงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะให้ผู้ร้องสอดต้องดำเนินการทั้งก่อนและภายหลังการรวมธุรกิจ และยังได้กำหนดกลไกติดตามและประเมินผลการรวมธุรกิจไว้ โดยภายหลังการรวมธุรกิจ หาก กสทช. พิจารณาหรือได้รับการร้องเรียนแล้ว กสทช. มีอำนาจระงับการกระทำ ยกเลิก เพิกถอน ปรับ เพิ่มเติม หรือปรับปรุงเงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะใหม่ได้ตามความเหมาะสมและความจำเป็นได้ ตาม พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรฯ พ.ร.บ. กิจการโทรคมนาคมฯ และประการผูกขาดฯ 2549 ที่กำหนดอำนาจหน้าที่ไว้
ประเด็นที่ 4 คำขอข้อ 2-4 ที่ให้บังคับกับ 1.สำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. 2. คณะกรรมการ ก.ล.ต. และ 3. นายทะเบียนบริษัทมหาชนฯ เห็นว่า คดีนี้เป็นการฟ้องขอเพิกถอนมติรับทราบ ผู้ฟ้องคดีทั้งห้ามีสิทธิขอให้ศาลสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครองกล่าวคือ มติรับทราบเท่านั้น ซึ่ง สำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. คณะกรรมการ ก.ล.ต. และ นายทะเบียนบริษัทมหาชนฯ มิได้เป็นคู่กรณีในคดีนี้ และมิใช่คณะกรรมการหรือเจ้าหน้าที่ซึ่งมีอำนาจควบคุมกำกับดูแลตามพ.ร.บ. องค์กรจัดสรรฯ ซึ่งเป็นกฎหมายเฉพาะ คำขอนอกจากการขอให้ทุเลาการบังคับตามมติรับทราบจึงเป็นคำขอที่ศาลไม่อาจรับไว้พิจารณาได้ตามข้อ 70 ของระเบียบที่ประชุมใหญ่ฯ


กำลังโหลดความคิดเห็น