xs
xsm
sm
md
lg

“ไทย-ญี่ปุ่น” กระชับความร่วมมือด้านคมนาคม “อนุทิน” นำคณะเยี่ยมชมโครงการอุเมคิตะและรถไฟชินคันเซ็น ศึกษารูปแบบการพัฒนาเมืองด้วยโครงสร้างพื้นฐานสาธารณะ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ไทย-ญี่ปุ่น กระชับความร่วมมือด้านคมนาคม รองนายกฯ อนุทิน นำคณะเยี่ยมชมโครงการอุเมคิตะ และรถไฟชินคันเซ็น ศึกษารูปแบบการพัฒนาเมืองด้วยโครงสร้างพื้นฐานสาธารณะ เป็นแนวทางผลักดันพื้นที่รอบสถานีรถไฟฟ้าไทยหลายโครงการ

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วันนี้ (9 ธ.ค.) เวลา 13.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น ณ นครโอซากา ประเทศญี่ปุ่น นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข พร้อมด้วย นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ได้นำคณะผู้บริหารกระทรวงคมนาคม ไปเยี่ยมชมโครงการ Umekita (อุเมคิตะ) ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาเมือง โดยมีโครงสร้างพื้นฐานสาธารณะเป็นจุดเชื่อมโยง ทั้งรถไฟความเร็วสูง พื้นที่อาคารสำนักงาน แหล่งนวัตกรรม พื้นที่อยู่อาศัย พื้นที่สีเขียว สิ่งอำนวยความสะดวกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยความร่วมมือระหว่างกลุ่มธุรกิจเอกชนกับหน่วยงานบริหารระดับจังหวัดและเทศบาลของนครโอซากา และองค์กรพัฒนาและฟื้นฟูเมืองญี่ปุ่น (Urban Renaissance Agency: UR)

พร้อมกันนี้ นายอนุทิน และคณะ ยังได้รับฟังการบรรยายแนวทางการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ในพื้นที่โดยรอบสถานีรถไฟความเร็วสูงจากผู้บริหารของบริษัท รถไฟญี่ปุ่นตะวันตก (JR West) หนึ่งในบริษัทผู้บริหารรถไฟความเร็วสูงของญี่ปุ่น เพื่อเป็นแนวทางการพัฒนาเชิงที่ในโครงการโครงสร้างพื้นฐานสาธารณะในประเทศไทย

นายอนุทิน กล่าวว่า ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงที่ดีมากประเทศหนึ่งของโลก และเป็นประเทศแรกของโลกที่มีการเดินรถไฟความเร็วสูง หรือ ชินคันเซ็น (Shinkansen) มาตั้งแต่ปี 1964 หรือ พ.ศ. 2507 โดยชินคันเซ็นสายแรก คือ Tokaido Shinkansen Line เชื่อมระหว่างกรุงโตเกียว กับ นครโอซากา และปัจจุบันญี่ปุ่นมีรถไฟความเร็วสูงที่วิ่งด้วยความเร็วระหว่าง 240-320 กิโลเมตร/ชั่วโมง จำนวน 7 เส้นทางบน 4 เกาะสำคัญของญี่ปุ่น คือ ฮอกไกโด ฮอนชู ชิโกกุ และ คิวชู ระยะทางรวม 2,765 กิโลเมตร

“ญี่ปุ่นมีโครงการพัฒนาหลายแห่งที่มีชินคันเซ็นเป็นโครงสร้างพื้นฐานเชื่อมโยง รวมถึงโครงการ Umekita ที่นครโอซากา รวมถึงการพัฒนาและบริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์ทั้งภายในและโดยรอบสถานีขนส่งมวลชนด้วย การที่ผมและคณะ ได้มีโอกาสเยี่ยมชมพื้นที่ต่างๆ ในครั้งนี้ ทำให้ได้เห็นถึงแนวคิดเชิงธุรกิจการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ควบคู่กับโครงข่ายระบบขนส่งที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นตัวอย่างที่หน่วยงานของไทยสามารถนำไปศึกษาและถอดบทเรียนเพื่อการพัฒนาโครงการสร้างพื้นฐานที่รัฐบาลอยู่ระหว่างการผลักดันหลายโครงการได้อย่างเป็นระบบ” นายอนุทิน กล่าว

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า การเยี่ยมชมโครงการพัฒนาสำคัญในญี่ปุ่นของรองนายกรัฐมนตรี พร้อมคณะ ครั้งนี้ ได้รับการอำนวยความสะดวกโดยรัฐบาลญี่ปุ่น ในโอกาสที่คณะของกระทรวงคมนาคม ได้เดินทางเยือนเพื่อหารือทวิภาคีกับหน่วยงานด้านคมนาคมและการลงทุนของญี่ปุ่น อาทิ กระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน การขนส่ง และการท่องเที่ยว (MLIT) องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JICA) องค์กรพัฒนาและฟื้นฟูเมืองญี่ปุ่น (UR) ระหว่างวันที่ 7-10 ธ.ค. 65 ซึ่งเป็นโอกาสที่หน่วยงานของทั้ง 2 ประเทศได้กระชับความร่วมมือผ่านความตกลงต่างๆ เพื่อการพัฒนาโครงการด้านระบบขนส่งในประเทศไทย

ทั้งนี้ การถอดบทเรียนจากโครงการสำคัญและความร่วมมือกับรัฐบาลญี่ปุ่นจะมีส่วนสำคัญในการผลักดันโครงการตามแผนงานของกระทรวงคมนาคม โดยเฉพาะการพัฒนาพื้นที่ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ในรูปแบบการพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีขนส่งมวลชน (TOD) ที่ได้มีการตั้งบริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด เพื่อบริหารพื้นที่และสินทรัพย์ของ รฟท.

รวมถึงโครงการอื่นๆ ที่กระทรวงคมนาคมมีแนวทางการพัฒนาในรูปแบบ TOD เช่น การพัฒนาศูนย์กลางทางการแพทย์ใกล้กับโรงพยาบาลศิริราช บริเวณสถานีธนบุรี พื้นที่รวม 21 ไร่ การพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์โครงการ RCA บริเวณถนนเพชรบุรีตัดใหม่ และการพัฒนาพื้นที่บริเวณสถานีแม่น้ำ ซึ่งเป็นจุดแลนด์มาร์กสำคัญของกรุงเทพมหานคร พื้นที่รวม 270 ไร่ เป็นต้น










กำลังโหลดความคิดเห็น