นักวิชาการดัง เปลือยตัวตน “ทักษิณ” หมดเปลือก เข้าสู่การเมืองเพื่อปกป้องธุรกิจผูกขาด ใช้ประชานิยมซื้อเสียง ไม่เคารพกฎหมาย “เพจดัง” แจง ค่าแรง 600 ปชช.เดือดร้อน SME ตาย “กิตติรัตน์” ยัน “เพื่อไทย” ทำได้จริง
น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง วันนี้ (8 ธ.ค. 65) เพจเฟซบุ๊ก ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ แชร์ภาพการ์ตูน ผู้จัดการออนไลน์ พร้อมแชร์ เพจเฟซบุ๊ก Suvinai Pornavalai ของ ดร.สุวินัย ภรณวลัย ที่ระบุว่า
“เปลือยทักษิณ ผู้ไม่เคารพกฎหมาย
โดย ศ.ดร.ชวินทร์ ลีนะบรรจง
อดีตอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์
//////
คนรุ่นผู้เขียนน่าจะเข้าใจทักษิณได้ดีกว่าคนรุ่นอื่น
ทักษิณเข้ามาสู่การเมืองก่อนช่วงวิกฤตเศรษฐกิจปี พ.ศ. 2540 แต่มาเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ ก็เมื่อมีการลดค่าเงินบาทเพื่อแก้วิกฤตเศรษฐกิจเมื่อ 1 ก.ค. 40
ใครที่กู้เงินตราต่างประเทศได้รับผลร้ายจากการลดค่าเงินบาทโดยถ้วนหน้า แต่กิจการของทักษิณกลับไม่ได้รับผลกระทบแต่อย่างใด เขาฉลาดกว่าผู้อื่นหรืออย่างไร?
คำตอบก็คือ การตัดสินใจลดค่าเงินบาทในครั้งนั้น มิได้มีเฉพาะผู้ว่าการ ธปท.กับนายกฯเหมือนเช่นที่เคยปฏิบัติ หากแต่มีบุคคลที่ 3 ที่มิได้มีส่วนเกี่ยวข้องเข้าร่วมรับรู้ด้วย สุเทพ เทือกสุบรรณ ก็เคยอภิปรายในเรื่องนี้ ถูกฟ้อง และศาลก็ยกฟ้อง
การรู้ว่าเมื่อไรจะลดค่าเงินบาท จึงเป็นประเด็นที่นำมาอธิบายได้อย่างสมเหตุสมผลมากที่สุดว่า ทักษิณที่ในขณะนั้นร่ำรวยมหาศาลจากการเป็นเจ้าของกิจการผูกขาดโทรศัพท์มือถือที่ได้รับสัมปทานจากองค์การโทรศัพท์ฯ ทำไมจึงเข้ามาในวงการเมืองที่เป็นเสมือนเตาเผาเงิน
ถ้าไม่เชื่อลองไปขอเงิน 500 ล้าน จาก เมีย พ่อ หรือใครก็ได้ บอกว่า เพื่อมาลงทุนเล่นการเมือง ตั้งพรรคการเมือง ดูซิว่าจะได้อะไร?
เงินที่ได้จากข้อมูลการลดค่าเงินบาทจึงเป็น “เงินร้อน” ที่ไม่สามารถบอกใครที่ไหนได้ แต่เหมาะสมที่สุดที่จะนำไปใช้ลงทุนในการเมืองโดยไม่ต้องควักกระเป๋าแม้แต่บาทเดียว รายจ่ายทางการเมืองมันชี้แจงตรงไปตรงมาไม่ได้อยู่แล้วจริงไหม
ถ้าศึกษาภูมิหลังทักษิณ เขาไม่ได้มีเงินถุงเงินถังมาก่อน หากแต่ต้องดิ้นรนทำมาค้าขายทุกอย่างตั้งแต่ขายคอมพิวเตอร์จนถึงบัสซาวด์ พร้อมๆ กับรับราชการเป็นตำรวจไปด้วย ธุรกิจที่ต้องแข่งขันกับคนอื่นส่วนใหญ่ล้มเหลว
การออกมาทำธุรกิจเต็มตัวก็ด้วยระเบียบราชการที่ไปต่อไม่ได้หากเป็นบุคคลล้มละลาย
ธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ คือ ธุรกิจผูกขาด ทักษิณจึงได้เรียนรู้จากประสบการณ์ว่า การเป็นผู้กำหนดกติกากับผู้เล่นตามกติกาอันไหนสบายกว่ากัน การเข้าสู่การเมืองในฐานะผู้ออกกฎ จึงเป็นทางเลือกที่ดีเพื่อปกป้องกิจการผูกขาด ทั้งโทรศัพท์มือถือและกิจการดาวเทียมที่ตนเองได้มาอย่างลำบาก
อย่าลืมว่า เมื่อคุณใช้เงินเพื่อให้ได้มาซึ่งการผูกขาด (จากอำนาจรัฐ เช่น สัมปทาน) ย่อมมีคนยินดีจ่ายมากกว่าเพื่อแย่งมันไปจากคุณ หากเห็นว่ามีกำไรดี
แต่การเข้าสู่การเมืองโดยเป็นเจ้าของสัมปทาน มันถูกห้ามโดยกฎหมาย เพราะเป็นเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน การซุกหุ้น (หรืออำพรางความเป็นเจ้าของในกิจการที่ค้าขายกับรัฐ) ทั้งในชื่อคนรถคนสวนคนใช้ จึงเป็นภาคแรกและติดตามมาด้วยภาคสองในชื่อน้องเมีย น้องสาวและลูกในเวลาต่อมา ในคดียึดทรัพย์ที่ศาลสั่งยึดก็เพราะศาลไม่เชื่อว่าน้องเมีย น้องสาวและลูก 2 คนจะเป็นเจ้าของหุ้นตัวจริง
ทักษิณไม่เคยอายที่จะไม่เคารพกฎหมาย แม้แต่ฉบับเดียวก็ว่าได้
........
ตัวตนทักษิณโดยย่อข้างต้น จึงแสดงออกถึงวิธีการดำเนินงานทางการเมืองของเขา ด้วยการเอาเงินคนอื่น (ภาษี) มาซื้อเสียง ที่เรียกว่า “ประชานิยม”
เพราะอาศัยการวาดฝันเอาใจประชาชนผู้ลงคะแนนไม่ว่าในทางใดก็ตาม เพื่อให้ได้มาซึ่งคะแนนที่จะพาตนเองเข้าสู่อำนาจทางการเมือง
ในสายตาเขาประชาชนจึงเปรียบเสมือน “คนตาบอดที่ไม่กลัวเสือ”
วิถี “ประชานิยม” จึงเป็นไปเพื่อบรรลุจุดประสงค์เดียวคือให้ได้ ส.ส. เข้าสภามากที่สุด โดยมีรูปแบบดังนี้
(1) วาดฝันเรื่องกินดีอยู่ดี โดยไม่แจงที่มา
(2) ออกนโยบายเสื้อโหล one size fits all เช่น กองทุนหมู่บ้าน หรือ หนึ่งตำบล หนึ่งทุน ที่กระจายไปทั่วทุกพื้นที่ทุกคนแบบ “เหวี่ยงแห” แต่ไม่ได้คำนึงเลยว่า แต่ละหมู่บ้านต้องการเงินทุน 1 ล้านบาท หรือไม่ แต่ ผู้สมัคร ส.ส. เอาไปหาเสียงได้ง่าย และ
(3) เป็นแนวนโยบายที่แทรกแซงกลไกตลาดในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ โดยไม่คำนึงถึงขอบเขตหน้าที่ของรัฐ เช่น จำนำข้าวทุกเมล็ด
ทักษิณ จึง “คิดใหม่ ทำใหม่” เพราะไม่ได้ซื้อคะแนนเสียงโดยใช้เงินตัวเองเหมือนนักการเมืองอื่นที่ทำมา หากแต่กระทำยิ่งกว่านั้น คือเอาเงินคนอื่น (ภาษี) มาซื้อเสียงเพื่อให้ตนเองชนะ
คนเคยใกล้ชิด จึงติดนิสัยเอาอย่าง เช่น บำนาญประชาชนเดือนละ 3,000 บาท เป็นการเอาเงินคนอื่นมาจ่ายบำนาญเพื่อซื้อเสียงจากคนแก่หรือลูกหลานที่อยากผลักภาระไม่อยากเลี้ยงดู ค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท/วัน จึงไม่ใช่นโยบายที่แปลกสำหรับทักษิณ เพราะคนออกกฎ(นโยบาย) ไม่ใช่คนจ่ายค่าจ้าง เช่นเดียวกับ จำนำข้าวตันละ 15,000 บาท
เพราะเงินที่เอามาจ่ายคือเงินภาษี แต่ตัวเขาและพวกได้ประโยชน์จากการเข้าสู่อำนาจทางการเมือง
ทักษิณ อวดอ้างว่า รู้ดีเรื่องเศรษฐศาสตร์และอะไรอีกหลายศาสตร์ ทั้งที่จบเรื่องอาชญวิทยาจากมหาวิทยาลัยบ้านนอก จึงหารู้ไหมว่า นายจ้างจะจ้างงานหรือมีอุปสงค์ในการจ้างงานก็เพราะ
ปัจจัย (1) ราคาสินค้าที่คนงานผลิต กับ (2) ประสิทธิภาพ (marginal product) ที่แรงงานนั้นมีอยู่
ดังนั้น ที่ลูกสาวมาแก้ตัวในภายหลังว่า ทำได้แน่นอนเมื่อเศรษฐกิจดีนั้น ระหว่างราคาสินค้าที่คนงานผลิตหรือประสิทธิภาพความสามารถที่คนงานจะมีมากขึ้นนั้น มันจะเพิ่มขึ้นถึงเกือบ 2 เท่าจากปัจจุบันประมาณ 300 เป็น 600 บาท/วัน ไปได้อย่างไร?
คนงานเคยทำก๋วยเตี๋ยวขายได้วันละ 200 ใบ จะเพิ่มเป็น 400 ใบ ใน 5 ปี (พ.ศ. 2570) ไปได้อย่างไร มีมืองอกเพิ่มอีก 2 มือหรืออย่างไร?
หรือ ราคาก๋วยเตี๋ยวที่จะขายสามารถขึ้นราคาจาก 50 บาท เป็น 100 บาท ใน 5 ปีได้หรือ?
ถ้าฝืนขึ้นไปโดยที่คนงานยังทำก๋วยเตี๋ยวได้เท่าเดิม แต่ได้เงินค่าจ้างเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า ปริมาณเงินเพิ่มขึ้นในระบบแต่สินค้า/บริการจะมีเท่าเดิม
เงินเฟ้อก็เพิ่มตามมา 2 เท่าเช่นกัน!
สุดท้ายลูกจ้างก็จะบอกว่า มีรายได้วันละ 600 บาท ไม่พอกิน ต้องให้ขึ้นค่าจ้างอีก และเงินเฟ้อก็จะตามมาอีกเป็นงูกินหาง
ไม่รู้ว่า นักอาชญวิทยาที่ประสบความสำเร็จจากธุรกิจผูกขาดด้วยอำนาจรัฐอย่างทักษิณจะรู้บ้างหรือไม่เกี่ยวกับ wage-price spiral (ค่าจ้าง-เงินเฟ้อ แบบงูกินหาง) การแก้ปัญหารายได้เขาไม่ทำกันแบบนี้
........
ทักษิณในช่วงแรก จึงเข้ามาสู่การเมืองเพื่อปกป้องกิจการตนเอง ซุกหุ้น ออกภาษีสรรพสามิตเพื่อลดการจ่ายค่าสัมปทานพร้อมกับกีดกันคู่แข่ง แต่เมื่อมีอำนาจก็แสวงหาผลประโยชน์จนต้องโทษในหลายๆคดี เช่น คดีที่ดินรัชดา
นโยบายประชานิยม จึงเป็นเครื่องมือเพื่อบรรลุเป้าหมายเข้าสู่อำนาจปกครองและอาศัยอำนาจนี้เพื่อประโยชน์ตนเองเท่านั้น หาใช่เพื่อประโยชน์ประชาชนตามที่อวดอ้าง เช่น นิรโทษกรรมสุดซอยในสมัยนายกฯ “อีโง่”
ในสมัยลูกครั้งนี้ก็เช่นกัน เอาเงินคนอื่นมาซื้อเสียงเพื่อได้อำนาจการเมือง เป้าหมายที่ไม่ได้บอก ก็คือ กลับบ้านแบบเท่ๆ (ไม่ติดคุก) ถ้าทำแบบนี้แล้วคนไทยในชาติใครจะยอม
ทุกคน จึงต้องเคารพกฎหมายที่ทักษิณออก แต่ทักษิณไม่เคยอายที่จะไม่เคารพกฎหมาย แม้แต่ฉบับเดียวก็ว่าได้
ชวินทร์ ลีนะบรรจง
*****
อ่านบทความนี้แล้ว อย่าสิ้นหวังไปเลย
เพราะถ้าไม่มีเหล่านักรบแห่งธรรมและนักรบแห่งแสง ทักษิณและสมุนคงยึดประเทศนี้แบบถาวรไปแล้ว ...
มันแค่ต้องสู้กันระหว่างพลังความดีความถูกตัอง กับพลังความชั่วเท่านั้นเอง
สุวินัย ภรณวลัย
ขณะเดียวกัน เพจเฟซบุ๊ก The METTAD โพสต์ภาพ พร้อมข้อความระบุว่า
“ค่าแรงขั้นต่ำ ควรปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด อัตราเงินเฟ้อ ดอกเบี้ย
กิจการไหนที่ต้องการแรงงานเพิ่มขึ้น ก็จะเพิ่มค่าแรงเพื่อจูงใจเอง
ยิ่งกิจการที่มีการแข่งขันกันมาก ก็จะกระตุ้นให้ค่าแรงสูงขึ้นอยู่แล้ว
การกำหนดค่าแรงขั้นต่ำ โดยไม่สนสี่สนแปด บังคับให้ขึ้นเท่ากันทั่วประเทศ จะทำให้ แรงงานไร้ฝีมือ (ใช้ทักษะน้อย) ที่เป็นแรงงานของผู้ประกอบการรายเล็ก มีค่าแรงสูงขึ้น เช่น แม่ค้าก๋วยเตี๋ยว ที่จ้างเด็กเสิร์ฟ ล้างจาน เช็ดโต๊ะ ก็จะต้องเอาค่าแรงที่สูงขึ้นนี้ ไปบวกในราคาอาหาร เช่น ปกติขายชามละ 50 พอค่าแรงเพิ่มขึ้น 2 เท่า ก็ต้องขึ้นราคาไปชามละ 60-70 เพื่อเอาไปจ่ายค่าแรง
ใช่ครับสุดท้าย ก็คือ ประชาชนทุกคนนั่นแหล่ะ ที่ต้องจ่ายเงินซื้อของแพงชึ้น
ยังไม่พอ ค่าแรงขั้นต่ำที่สูงขึ้นยังไปกระทบ ค่าแรงของแรงงานมีฝีมือ ที่ปกติอาจจะรับ 500-600 อยู่แล้ว แต่พอ ทำงานง่ายๆ ก็ได้ 600 เหมือนกัน ก็ไปทำงานง่ายๆ ดีกว่ามั้ย ดังนั้น ตลาดแรงงานฝีมือ ก็ต้องขยับค่าแรงเพิ่มขึ้นไปอีก กระทบต้นทุนอีกเหมือนกัน
สิ่งที่จะเกิดขึ้น ถ้าค่าแรงขั้นต่ำ ถูกรัฐบาลโง่ๆ มาแทรกแซง ให้สูงขึ้นเพื่อหวังผลหาเสียง และกลบข่าวตู้ห่าว ก็คือ
1. สินค้าราคาแพงขึ้นทันที ทุกภาคส่วน เพราะผู้ประกอบการต้องนำไปจ่ายค่าแรง ที่สูงขึ้น
2. ผู้ประกอบการ ที่ง่อนแง่นอยู่แล้ว ก็อาจจะเลือกปิดกิจการ เพราะสู้ค่าแรงไม่ไหว ถ้าชึ้นราคาสินค้า ก็ขายของยากขึ้นไปอีก
3. ตลาดจะกลายเป็นของแรงงานที่มีฝีมือ หรือสกิลสูงๆ ก็จะได้งานทำ ในค่าแรงที่สูงขึ้น ส่วนพวกทักษะน้อย ก็ต้องแข่งกันที่ความขยัน อดทน ซึ่งจะกลายเป็นโอกาสของแรงงานพม่าแทน (เพราะกีบไทยขี้เกียจ)
4. แรงงานไร้ฝีมือ จะถูกแทนที่ด้วยหุ่นยนต์แน่นอน เพราะต้นทุนถูกกว่าการจ้างแรงงาน
5. นักลงทุนต่างชาติ เวลาจะตั้งโรงงาน เขาดูที่ต้นทุนค่าแรงเป็นสำคัญ นั่นเป็นสาเหตุที่ทำไมเวียดนาม จึงสามารถดึงการลงทุนจากต่างชาติ ได้มากมาย โดยเมื่อสมัย ยิ่งลักษณ์ ก็มีหลายโรงงานที่ย้ายจากไทยไปเวียดนาม
6. หลายคนจะตกงาน เพราะผู้ประกอบการน้อยลง ต่างชาติหนีไปตั้งโรงงานที่อื่น ทำให้มีงานน้อยลง ในขณะที่สินค้าราคาแพงขึ้น
ถ้ามองมิติเดียว มันมองไม่เห็นหรอก ก็จะเพ้อฝันแบบนี้แหละ
แต่ถ้ามองทั้งระบบ มันจะเห็นผลกระทบที่รุนแรง
มันจึงเป็น นโยบายหาเสียงขายฝัน ที่ไร้ความรับผิดชอบ
รัฐไม่เสียเงินซักบาท เพราะผู้ประกอบการ ต้องเป็นคนจ่าย
คนที่ได้รับผลกระทบมากสุดคือ ผู้ประกอบการรายย่อย SME
ที่ไปต่อไม่ไหวอีกหลายรายแน่นอน
ส่วนผู้ประกอบการรายใหญ่ นำหุ่นยนต์มาแทนแรงงานเยอะแล้ว เพราะหุ่นยนต์ไม่รวมหัวกันตั้งสหภาพแบบคนงาน 😂
ถ้า ค่าแรงสูง ราคาสินค้าสูง สุดท้ายมันจะเหลือแต่พวกที่ทุนหนา สายป่านยาวครับ พวก SME ไม่ได้เกิดหรอก จะยิ่งกินรวบหนักขึ้นไปอีก น้อนกีบอย่าหวังที่จะสร้างธุรกิจ จงรีบพัฒนาทักษะ และคุณภาพของตัวเอง เพื่อไปแย่งงานในบริษัทนายทุนใหญ่ๆ นะครับ 😂😂😂😂😂”
ที่น่าสนใจไม่แพ้กัน นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ พรรคเพื่อไทย อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า
“ค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท ในปี 2570 คน ที่รู้จริงจะสนับสนุนและชื่นใจกับเรื่องนี้
การที่ภาคธุรกิจ กำลังแบกรับสภาพความไม่เติบโต และต้นทุนส่วนที่ไม่ใช่ค่าจ้างค่าแรงสูงกว่าที่ควรมายาวนาน เพราะรัฐบาลด้อยคุณภาพ บริหารไม่เป็น จึงอาจทำให้กังวลว่าการเพิ่มขึ้นของค่าแรงในอัตราที่พรรคเพื่อไทยเสนอนั้น เป็นภาระหนักหนา
ผมเห็นใจผู้ประกอบการ ธุรกิจ นายจ้าง ที่ต้องทนอยู่กับสิ่งแวดล้อมทางธุรกิจ แบบที่เป็นอยู่ ในรอบหลายปีที่ผ่านมา เพราะที่ผ่านมายอดขายไม่เพิ่มขึ้น (หรือหลายรายลดลงอีกด้วย) อยากถามว่าเป็นเพราะความผิดพลาดไร้ฝีมือในการบริหารงานของรัฐบาลนี้หรือเปล่า
ต้นทุนการประกอบการที่ไม่ใช่ค่าเงินเดือน ค่าจ้าง ที่สูงและสูงขึ้น โดยมีค่าใช้จ่ายที่สูงหลายรายการ เป็นเพราะรัฐบาลบวกภาระภาษีเข้าไปในอัตราที่สูง เช่น ภาษีสรรพสามิตน้ำมันเชื้อเพลิง หรือค่าสาธารณูปโภค โดยเฉพาะอย่างยิ่งค่าไฟฟ้าที่แพง เพราะความผิดพลาดและไม่มีประสิทธิภาพของรัฐบาลเอง อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ผู้ประกอบการรายกลางรายเล็ก ต้องจ่ายสูงกว่าอัตราที่ควร (ขอให้สังเกต อัตราดอกเบี้ยเงินฝาก และอัตราดอกเบี้ยที่รายใหญ่จ่ายอยู่ ว่ามีความเป็นธรรมให้กับผู้กู้รายกลางและรายเล็กที่ทำมาหาเลี้ยงธนาคารอยู่หรือไม่
พรรคเพื่อไทยจะเป็นรัฐบาลที่ดี มีความสามารถบริหารเศรษฐกิจให้เติบโต อย่างมีวินัยทางการเงินการคลัง อย่างที่รัฐบาลพรรคไทยรักไทย และรัฐบาลพรรคเพื่อไทยเคยเป็นไม่สร้างภาระไปทิ้งให้คนในอนาคตต้องแบกรับ
การดูแล ผู้ประกอบการ ให้ขายสินค้าและบริการได้ ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบขนาดใหญ่ หรือขนาดเล็ก ไม่ว่าจะเป็นตลาดภายในประเทศ หรือตลาดส่งออก เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ดี ซึ่งเพื่อไทยจะทำและทำสำเร็จมาแล้ว (ต่างจากผลงานของรัฐบาลชุดนี้ไหมลองพิจารณาดูนะครับ)
เมื่อปี 2555 เราเคยผลักดันให้เพิ่มค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาท และอัตราเงินเดือนค่าตอบแทนทั้งระบบอย่างเป็นผลสำเร็จด้วยดี (แม้เพิ่งจะเผชิญกับมหาอุทกภัยครั้งใหญ่) ไม่มีกิจการที่ไม่สามารถอยู่รอด หรือปรับตัวไม่ได้จากนโยบายนี้ ในทางกลับกันผู้ประกอบการต่างเติบโต และจ้างงานเพิ่มขึ้น อัตราการว่างงาน ลดจาก 0.7 เหลือ 0.6 ในปีถัดไป
เราจะทำให้ผู้ประกอบการเข้มแข็ง ลดภาระที่ไม่จำเป็นลง และสามารถจ่ายค่าจ้างค่าตอบแทนที่สูง(ขึ้น) และสูงขึ้นให้กับคนที่ทำงานให้ท่านได้อย่างไม่ลำบากยากเย็น
นวัตกรรมที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการในประเทศไทยสามารถแข่งขันได้ เพิ่มยอดขายได้ ลดต้นทุนได้ ขยายโอกาสทางธุรกิจได้ จะถูกนำมาใช้ทั้งโดยภาครัฐ และภาคผู้ประกอบการ ทั้งภาคอุตสาหกรรม ภาคบริการ ภาคการพาณิชย์ และภาคการเกษตร
เรามาทำงานด้วยกันครับ เรามาให้ความหวัง ให้ความสำคัญกับทรัพยากรที่สำคัญที่สุด คือ ทรัพยากรบุคคลกันครับ พอถึงปี 2570 เราอาจจะอยากเห็นค่าจ้างขั้นต่ำสูงกว่า 600 บาทอีกมากก็ได้”
แน่นอน, หลายคนอาจเคยชินกับการออกนโยบายสวยหรู เกินจริง เพื่อหาเสียงในช่วงเลือกตั้ง ของพรรคการเมือง แต่พอได้เป็นรัฐบาล นโยบายเหล่านั้น ก็มีข้ออ้าง เงื่อนไขที่ทำไม่ได้เต็มไปหมด สุดท้ายประชาชน ก็เสียค่าโง่ที่หลงในคำโฆษณาชวนเชื่อเลือกเข้าไป
โดยเฉพาะนโยบาย “ประชานิยม” ที่ใช้ “หาเสียง” กับคนยากจน ประชาชนรากหญ้า และคงไม่ต้องบอกว่า พรรคอะไร เป็นต้นแบบ หรือต้นตำรับ แต่ที่ได้บทเรียนมากมายก็คือ ความเสียหายต่อประชาชนทั้งประเทศ นั่นเอง
คราวนี้เอาอีกแล้ว พรรคเพื่อไทย กำลังผลักดันนโยบาย “ขายฝัน” อย่างเหลือเชื่อว่าจะทำได้ และนักวิชาการ ผู้รู้ทั้งหลายต่างออกมาชำแหละให้เห็นมากมาย
ในที่นี้ก็เช่นเดียวกัน อยากให้ “ผู้อ่าน” ลองพิจารณาประกอบกัน ระหว่างฝ่ายที่เชื่อว่า ทำไม่ได้ และจะเกิดผลกระทบมากมาย กับคนของพรรคเพื่อไทยที่ออกมายืนยันว่า ทำได้จริง ใครมีเหตุผลมากกว่ากัน เพราะนี่คือ สิ่งที่จะชี้ขาดอนาคตประเทศไทย ในอีกไม่ช้าไม่นานเลยทีเดียว