รองนายกฯ เผย กม.ลูกเลือกตั้ง ยังไม่กลับมาที่ รบ. แต่คาด ธ.ค.ทูลเกล้าฯ ได้ตามไทม์ไลน์เดิม สอนมวย ส.ส. นับวันย้ายพรรค ยึดวันกาบัตร ไม่ใช่วันหมดอายุสภา ยอมรับหวาดเสียวหลัง ส.ส.ลาออกเพียบ
วันนี้ (2 ธ.ค.) เมื่อเวลา 12.30 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ให้สัมภาษณ์กรณีไทม์ไลน์ของ ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง และการเลือกตั้ง ส.ส. ที่ผ่านการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะส่งคำวินิจฉัยไปให้สภา จากนั้นสภาจะส่งมาให้รัฐบาล ขณะนี้ยังไม่มีการส่งมา เมื่อสภาส่งมาแล้วจะนำขึ้นทูลเกล้าฯ ภายใน 25 วัน โดย 5 วันแรก เผื่อไว้หากมีผู้ร้องคัดค้านต่อศาลรัฐธรรมนูญอีกหนหนึ่ง ส่วนอีก 20 วัน นั้นเป็นกำหนดเวลาในการให้รัฐบาลจัดพิมพ์ให้เรียบร้อย แต่โดยทั่วไปใช้เวลาไม่ถึง 20 วัน เมื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯแล้วจากนั้นก็นับหนึ่ง ซึ่งอยู่ในพระราชอำนาจ 90 วัน สุดแต่จะทรงลงพระปรมาภิไธย ลงมาเมื่อใดก็ประกาศลงราชกิจจานุเบกษา และจะมีผลใช้บังคับในวันรุ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม การนำร่างกฎหมายลูกขึ้นทูลเกล้าฯคงจะเป็นช่วงเดือน ธ.ค. หากนับไปอีก 90 วัน ก็จะอยู่ประมาณเดือน มี.ค. 2566 ก็คงใกล้กับวันที่สภาจะครบวาระ ซึ่งไทม์ไลน์ยังอยู่ห่วงเดิมที่ตนเคยระบุไว้ไม่มีอะไรผิดพลาด
เมื่อถามว่า หากนำกฎหมายลูกขึ้นทูลเกล้าฯแล้ว หมายความว่า จะปิดประตูการยุบสภาได้เลยใช่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่เกี่ยวกัน เป็นคนละเรื่อง ในอดีตมีการยุบสภาโดยที่มีกฎหมายค้างระหว่างทูลเกล้าฯเป็นจำนวนมาก กฎหมายก็ไม่ได้กำหนดว่ากฎหมายเหล่านั้นจะตกไป ยังคงลงพระปรมาภิไธยได้ เมื่อถามย้ำว่า แต่กฎหมายทั้ง 2 ฉบับเกี่ยวกับการเลือกตั้งที่จะมีขึ้น ถือเป็นความไม่ควรหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่เกี่ยวกัน เพราะเมื่อยุบสภา มีการลงพระปรมาภิไธยในกฎหมายนั้นๆ มาก็นำกฎหมายเหล่านั้นไปใช้ในการเลือกตั้งอยู่แล้วไม่มีปัญหาเรื่องเงื่อนเวลาหรือใดๆไม่เกี่ยวกันเลย
นายวิษณุ กล่าวว่า “ใครที่ไปนับกันว่าการเป็นสมาชิกพรรคการเมืองหากมีการยุบสภาต้องเป็นภายใน 30 วันนั้น หรือสภาครบวาระ ต้องเป็นสมาชิกภายใน 90 วันนั้นก็ถูก แต่การนับ 90 วัน จะนับจนถึงวันเลือกตั้ง ไม่ได้นับจนถึงวันที่สภาหมดวาระ ดังนั้น ที่มีการออกมาพูดกันเยอะว่า หลังวันที่ 24 ธ.ค. แล้วจะอย่างนั้นอย่างนี้ก็เป็นเพราะไปนับ 90 วัน ถึงวันที่ 22 มี.ค. 2566 ที่เป็นวันครบวาระของสภา แต่ในความเป็นจริงไม่เกี่ยวกัน”
เมื่อถามย้ำว่า หากจะให้ปลอดภัยสุด นักการเมืองควรย้ายพรรควันที่เท่าไหร่ นายวิษณุ กล่าวว่า “ผมตอบไม่ถูก อยากย้ายกันเมื่อไหร่ก็ย้าย อยากอยู่ก็อยู่ แต่ถ้ายุบสภาก็ยังมีกำหนดเวลาเลือกตั้ง 45 วัน ถึงอย่างไรก็ไม่สามารถจัดการเลือกตั้งก่อน 45 วันได้ ดังนั้น หากมีการยุบสภาขึ้นมากะทันหัน พรุ่งนี้ก็ยังย้ายพรรคกันได้ ก็เท่านั้น เพราะมีกรอบ 45 วัน ซึ่งเป็นไปตามระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในการจัดการเลือกตั้งอยู่แล้ว ในความเป็นจริงไม่ได้เป็นปัยหาเพราะไม่ได้เกี่ยวข้องกัน”
เมื่อถามว่า ร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง จะเป็นปัญหาทางการเมืองหรือไม่ เพราะในขณะนี้สภาเกิดความวุ่นวายเรื่ององค์ประชุมทำให้ล่มบ่อยครั้ง นายวิษณุ กล่าวว่า ตนไม่ทราบ เป็นเรื่องทางการเมือง วิปแต่ละพรรคก็ต้องทำงานประสานกัน ส่วนร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง ก็ต้องไปถามทางพรรคภูมิใจไทย อย่างไรก็ตาม หากจะระบุว่า เป็นช่วงท้ายสมัยของสภานั้น ก็ยังไปได้ถึงวันที่ 28 ก.พ. 2566 อีกทั้งหลังจากนั้น ยังสามารถขอเปิดสมัยวิสามัญได้ถึงวันที่ 22 มี.ค. เพราะฉะนั้นจะเปิดสมัยประชุมก็ปิด เพราะเปิดสมัยวิสามัญได้ เมื่อถามว่า ขณะนี้ประชาชนวิพากษ์วิจารณ์ว่าสภาไม่ยอมผ่านกฎหมายสำคัญ เพราะมัวแต่จ้องเล่นการเมืองกัน นายวิษณุ กล่าวว่า ผู้สื่อข่าวจะต้องชินกับเหตุการณ์ท้ายสมัย เพราะเป็นมาอย่างนี้ทุกครั้งช่วงท้ายสมัย เพราะสมาชิกอาจเตรียมย้ายพรรค เมื่อรู้ว่าพรรคไม่ส่งตัวเองลง จะเอาคนใหม่ลงก็เกิดปฏิกิริยาขึ้น เตรียมไปหาเสียงไม่มีสมาธิและทำให้ไม่สามารถเดินทางมาประชุมสภาได้ หรือในบางครั้งมาประชุมสภาเพื่อตั้งกระทู้ เพราะสามารถใช้หาเสียงได้ แต่อย่างไรก็ตาม หากจะพูดกันถึงเรื่องความรับผิดชอบก็จะเป็นอย่างที่ นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา กล่าวเตือนไว้ว่า ยิ่งปลายสมัยประชุมสมาชิกควรจะมีบทบาทที่ทำให้ประชาชนเลื่อมใสศรัทธามากขึ้น การมาประชุมให้ครบองค์ประชุมถือเป็นเรื่องที่ควรทำ อย่างไรก็ตาม จากที่ตนได้พบกับนายชวน นายชวนได้หารือด้วยความเป็นห่วงเป็นใย ตนก็รับว่าจะนำไปแจ้งให้พรรคร่วมรัฐบาลทราบ ซึ่งได้แจ้งไปแล้ว แต่อย่างไรก็ตาม การจะพูดว่าครบหรือไม่ครบองค์ประชุมนั้น บางครั้งก็พูดยาก บางทีเป็นเทคนิกของสภาเช่นนั่ง อยู่แต่ไม่แสดงตน หรือเดินออก ไม่ไปประชุม บางทีใช้เป็นเทคนิกของการทำงานในสภา บางคนก็ติดธุระจริงหลายเหตุประกอบกัน
ผู้สื่อข่าวถามว่า รัฐบาลคิดว่าจะคุมเสียงในสภาได้หรือไม่ เพราะฝ่ายค้านจะเดินเกมไม่เข้าร่วมเป็นองค์ประชุม นายวิษณุ กล่าวว่า ตนตอบไม่ถูก ขอให้ไปถามทางวิป เมื่อถามว่า กรณี ส.ส.จำนวนมากอาจใช้วิธีลาออกเพื่อกดดันให้ยุบสภา นายวิษณุ กล่าวว่า เหตุการณ์เช่นนี้เคยมี แต่ไม่ถึงกับออกหมด ในอดีตสมัยจอมพลถนอม กิตติขจร อดีตนายกฯ เคยมีสมาชิกสภานิติบัญญาติแห่งชาติ (สนช.) ที่มาจากการแต่งตั้ง เขารู้สึกว่าให้นายกฯคนใหม่ได้แต่งตั้ง สนช.ใหม่ จึงทยอยลาออกครั้งละ 5-10 คน จนกระทั่งถึงครึ่งหนึ่ง นายกฯหลังจากนั้น คือ นายสัญญา ธรรมศักดิ์ จึงยุบสภา และแต่งตั้งสมาชิกใหม่โดยสภาสนามม้า “ไม่มีกฎหมายใดบอกว่าหากลาออกกันเยอะแล้วจะต้องยุบ แต่โดยวิธีปฏิวัติแล้วก็ไม่รู้จะอยู่ทำไม และหากจะพูดไปแล้วสมาชิกร่อยหรอลง หรือลาออกไปจนเหลือแค่ 200 คนก็ประชุมได้ เพราะจะเลือกตั้งซ่อมก็ไม่ได้เนื่องจากอายุสภาเหลือเวลาน้อย และถ้า 200 คนนั้นจะมาประชุมก็ประชุมได้ โดยยึดองค์ประชุมครึ่งหนึ่งของที่มีอยู่ ดีไม่ดีพวกที่คิดจะทะยอยลาออกจะทำให้รัฐบาลทำอะไรได้อีกตั้งเยอะ แต่ผมไม่ได้หมายความว่าจะให้ทำอย่างนั้น แต่ทำให้เห็นว่ากลไกสภาฯไม่เวิร์กแล้ว อย่างไรก็ตาม เป็นความชอบธรรมที่รัฐบาลจะอยู่ได้ไม่มีปัญหาไม่ติดอะไร ผมเองก็ยังเสียวอยู่เลยว่าลาออกกันเหลือแค่นี้รัฐบาลอาจคิดว่าดีแล้วเพราะต่อไปนี้กฎหมายอะไรที่ค้างกันก็เอาเข้าสภาฯช่วงนี้เสียเลย”