รองนายกฯ ชี้ หาก ส.ส.ทยอยลาออก ทำเสียงในสภาปริ่มน้ำ ไม่สามารถเป็นองค์ประชุมต้องยุบสภา ย้ำ “บิ๊กตู่” เป็นนายกฯ สมัครสมาชิกพรรค รทสช.ได้ บอก “ลุงป้อม” พูดเล่นแค่อุปมา พรรค พปชร.- รทสช.เป็นพรรคพี่น้องกัน
วันนี้ (29 พ.ย.) นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ระบุว่า พรรค พปชร.และ พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) คือ พรรคเดียวกันในทางกฎหมายจะมีปัญหาหรือไม่ ว่า ท่านน่าจะพูดเล่น เมื่อนักข่าวไปพูดแหย่ท่าน ท่านก็พูดเช่นนั้น ทำนองที่ให้เห็นว่าเป็นหน่อเนื้อ เชื้อไข ซึ่งมองว่าเป็นการพูดเล่นไม่น่าจะเป็นการครอบงำทางกฏหมายได้
เมื่อถามว่า มองว่า เป็นการพูดเล่นไม่ได้เป็นการครอบงำทางการเมืองใช่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวย้ำว่า จะมีหรือไม่ก็ไม่ทราบ แต่ไม่สามารถครอบงำในทางกฎหมายได้ ส่วนที่มีคนนำไปร้อง ก็สามารถร้องได้ และนำไปสู่การไต่สวน แต่ไม่สามารถจะจับประเด็นเอาคำพูดนั้นไปได้ เป็นการพูดหยอกล้อเล่นคำเท่านั้นเอง ตนก็ฟังอยู่ด้วย หากมีการครอบงำการทางกฎหมายถือว่าผิดต้องมีพฤติกรรมอื่นๆ ประกอบด้วย ย้ำว่า แต่ครั้งนี้เป็นการพูดเล่นก็เหมือนกับว่า “โอ้ เราพี่น้องกัน” พูดเหมือนอุปมาเปรียบเทียบ
เมื่อถามว่า ถ้าเป็นกรณีลักษณะนี้ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะต้องจับตาเป็นพิเศษหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ใครติดใจก็ไปร้อง กกต.เอา ส่วนในทางการเมืองแต่ละพรรคเป็นพันธมิตรกันได้ใช่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า เป็นได้ทุกพรรค ตอนก่อนเลือกตั้งก็จะเป็นจะตาย แต่พอถึงเวลาเลือกตั้งก็จับมือกันได้
เมื่อถามต่อถึงกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ ยังคงเป็นนายกฯ แต่ไปสมัครเป็นสมาชิกพรรค รทสช.จะมีปัญหาอะไรหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า สมัครได้ เมื่อถามย้ำว่า แต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ รมว.กลาโหม ยังเป็นแคนดิเดตนายกฯของพรรค พปชร.อยู่ นายวิษณุ กล่าวว่า คนที่จะต้องเดือดร้อนในเรื่องนี้ คือ พรรค พปชร.ไม่ใช่ประชาชน
เมื่อถามอีกว่า เจตนารมณ์ของประชาชนเลือกพรรค พปชร.เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ นายวิษณุ กล่าวว่า แคนดิเดตนายกฯของพรรค พปชร.หลายพรรคเสนอและโหวตให้ท่าน พรรคประชาธิปัตย์ และ พรรคภูมิใจไทย ก็โหวตให้ การที่ไปสมัครสมาชิกพรรค รทสช.โดยยังไม่ลาออกถือว่าไม่ย้อนแย้ง และการเป็นแคนดิเดตนายกฯไม่มีข้อผูกมัดอะไร ได้ทั้งนั้น ยกตัวอย่าง สมมติในวันนี้จะเสนอชื่อ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย หรือ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม.ก็ได้ทั้งนั้น ซึ่งหากใครสงสัยก็ไปยื่นให้ตีความได้ เนื่องจากในทางกฎหมายไม่มีปัญหาอะไร เพราะเริ่มต้นเขาไม่ได้บอกว่าคนที่จะถูกเสนอชื่อเป็นนายกฯต้องเป็นสมาชิกพรรค ในเมื่อพรรคไปเสนอเองโดยที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกันตั้งแต่ต้น วันนี้เขาตัดสินใจที่จะเลือกบ้านอยู่ก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร
เมื่อถามต่อว่า ถือเป็นการทำร้ายจิตใจคนที่เลือกพรรค พปชร. เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ นายวิษณุ กล่าวว่า คงไปว่าไม่ได้
เมื่อถามย้ำถึงความวิตกกังวลเกี่ยวกับการที่ศาลรัฐธรรมนูญจะตัดสินเรื่องกฎหมายลูกในวันที่ 30 พ.ย.นี้ นายวิษณุ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 23 พ.ย.ที่ผ่านมาแล้ว ศาลก็ตัดสินพวกคุณก็วิตกกังวลกัน แล้วก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น และในวันที่ 30 พ.ย.ศาลก็จะตัดสิน ก็วิตกกังวลกันอีก ถ้าจะวิตกกันจริงๆ วิตกกันได้ทุกอาทิตย์ แต่รัฐบาลไม่มีอะไรจะต้องวิตกกังวลในเรื่องนี้ เพราะมีทางออกไว้หลายทาง แต่เราไม่รู้ว่าจะลงท้ายอย่างไร คิดคนเดียวไม่ได้ต้องคิดหลายคน เช่นคิดกับ กกต.หากจะชวน กกต.มาคิดเขาก็จะหาว่าเราตีตนไปก่อนไข้ หรือหาว่าเราบ้า
เมื่อถามอีกว่า ทุกทางออกจะมีการเลือกตั้งทันต่อเวลาตามกรอบรัฐธรรมนูญ หากมีการยุบสภา นายวิษณุ กล่าวว่า ก็ต้องพยายามทำให้ทันตามนั้นแหละ ทำไปแล้วก็จะต้องอยู่ในกรอบเวลาอยู่แล้วอยู่แล้ว
เมื่อถามถึงการออกพระราชกำหนดฝ่ายค้านไม่ขัดข้อง แต่ต้องมีหน่วยงานแต่ต้องมีหน่วยงาน หรือองค์กรมาการันตีว่าทำได้จริงคนการันตีควรเป็นศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า คำว่าคนการันตีเป็นสิ่งที่ฝ่ายค้านคิดเองว่าจะต้องมีคนมาการันตี ดังนั้น อาจจะการันตีในเชิงวิชาการ คือ นักวิชาการ แต่หากการันตีในเชิงกฎหมายก็คืศาลรัฐธรรมนูญ และหากการันตีในเชิงปฏิบัติ คือ กกต. สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ต้องคิดด้วยกัน และ กกต.จะต้องปรึกษารัฐบาล เพราะเป็นกฎหมายของเขา
เมื่อถามว่า หากนายกฯแยกพรรคออกไปอาจจะเปลี่ยนเรื่องสูตรการคำนวณ นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่ทราบ ส่วนในการปรับ ครม.ครั้งนี้ นายวิษณุ จะยังคงอยู่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ตนไม่ตอบ
เมื่อถามถึงปัญหาที่อาจจะเกิดในอนาคต หากนายกฯไม่ยุบสภา และ ส.ส.ตัดสินใจลาออกกันเรื่อยๆ จะมีผลกระทบกับเสียงในสภาหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ถ้าลาออกจนกระทั่งเสียง ส.ส.ไม่สามารถเป็นองค์ประชุมได้ ก็จะต้องยุบสภา ซึ่งเสียงจะต้องมีไม่ต่ำกว่า 250 เสียง ซึ่งตอนนี้องค์ประชุมแทบจะไม่ถึงเหลือประมาณ 237 เสียง ซึ่งเป็นวิธีที่เคยคิดกันและใช้กันในบางประเทศลาออกจนเหลือ ส.ส.ไม่เกินกึ่งหนึ่ง สภาจึงไม่รู้จะอยู่ไปทำไม