“ทันเกม”! “ดร.นิว” ส่งหนังสือร้อง “ชวน” ค้าน “ธนาธร” “ปลดล็อกท้องถิ่น” หมกเม็ด ยุบ ราชการส่วนภูมิภาค “อัษฎางค์” ฟาด “ปิยบุตร” พฤติกรรม “ย้อนแย้ง” สร้างเรื่องไม่มีประเด็น ให้มีประเด็น แต่ละเว้น “ตระกูลจึง”
น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง วันนี้ (29 พ.ย. 65) เพจเฟซบุ๊ก Suphanat Aphinyan ของ ดร.ศุภณัฐ อภิญญาณ หรือ “ดร.นิว” นักวิจัยภายใต้สถาบันวิจัย MAST Center และ คณะวิศวกรรมชีวการแพทย์ University of Arkansas โพสต์ข้อความระบุว่า
“เรียน นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร
รัฐสภาแห่งราชอาณาจักรไทย ไม่ใช่สถานที่สาธารณะสำหรับการพูดสิ่งบิดเบือนและผิดหลักวิชา หากแต่เป็นสถานที่สาธารณะของการพูดความจริงและความถูกต้องแห่งหลักวิชา
ข้าพเจ้าคัดค้านไม่ให้ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เข้าไปสร้างความด่างพร้อยในรัฐสภาแห่งราชอาณาจักรไทย เนื่องจาก นายธนาธร มีคดีอาญาหลายคดี ซึ่งดำเนินการล่าช้าและเงียบสนิท
ตัวอย่างเช่น ตอนที่เป็นหัวหน้าพรรคการเมืองได้ทำผิดกฎหมายการเงินของพรรคการเมือง จนทำให้พรรคถูกยุบ แถมคดีอาญาอันเนื่องมาจากการยุบพรรคก็ยังคงเงียบสนิทมาจนถึงบัดนี้
แถมนายธนาธรมีพฤติกรรมเกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวต่างๆ ของม็อบสามนิ้ว ที่ใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครอง ซึ่งขัดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญ ม.49 ตามที่มีคำวินิจฉัย
อีกทั้ง นายธนาธร ยังมีคดี ม.112 ที่ถือได้ว่าเป็นการละเมิดต่อสิทธิเสรีภาพและสิทธิมนุษยชนขององค์พระมหากษัตริย์ ผู้ทรงเป็นประมุขแห่งชาติและผู้ถืออำนาจอธิปไตยแทนปวงชน
นอกจากนี้ นายธนาธร ยังเคยเคลื่อนไหวในต่างประเทศอยู่หลายครั้ง ซึ่งล้วนแต่เป็นการยัดเยียดความขัดแย้งทางการเมืองโลกรวมถึงประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียง ให้กับประเทศไทย
โดยเนื้อหาของ “ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญปลดล็อกท้องถิ่น” ที่จะมีการนำเสนอเข้าสู่การอภิปรายในวันที่ 29-30 พ.ย. นี้ เป็นข้อเสนอที่ผิดหลักวิชา และขาดความรู้จริงด้านการกระจายอำนาจ
ดังนั้น การเคลื่อนไหว #ปลดล็อกท้องถิ่น ในครั้งนี้ จึงนำการกระจายอำนาจมาเป็นข้ออ้าง แต่ความจริงมีจุดมุ่งหมายในการยกเลิกราชการส่วนภูมิภาค และอาจมีจุดประสงค์อื่นซ่อนเร้น
รวมถึงยังขาดการศึกษาผลกระทบมากมาย ที่จะตามมาสืบเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ไม่ต่างจากข้อเสนอแบบเด็กเล่นขายของ ที่ใช้โฆษณาชวนเชื่อให้ผู้คนหลงเข้าชื่อตามๆ กัน
ล่าสุด ทางคณะก้าวหน้าได้สนับสนุนให้มีการจัดทำการ์ดเกม Patani Colonial Territory ซึ่งมีการบิดเบือนประวัติศาสตร์ และสนับสนุนให้เกิดความแตกแยกและความเกลียดชังในท้องถิ่น
ตลอดจนนายธนาธรไม่เคยรับผิดชอบต่อการชี้นำทางความคิดและการเคลื่อนไหวใดๆ ของตนในแต่ละครั้ง ไม่ต่างจากการสร้างขยะและมลภาวะทางความคิดให้กับสังคมมาโดยตลอด
การให้พื้นที่กับนายธนาธร จึงลดทอนคุณค่าและความศักดิ์สิทธิ์ของรัฐสภา ประธานสภาผู้แทนราษฎรจึงไม่ควรอนุญาตให้นายธนาธรเข้ามาใช้พื้นที่ของรัฐสภาในการเคลื่อนไหวใดๆ ทั้งสิ้น
บุคคลมีสิทธิเสรีภาพ แต่หากสิทธิเสรีภาพดังกล่าวบ่อนทำลายสิทธิเสรีภาพของผู้อื่นและประโยชน์สุขของสังคม สิทธิเสรีภาพของบุคคลนั้นเป็นอนาธิปไตย หาใช่ประชาธิปไตยไม่
ทั้งนี้ รบกวนฝาก คุณแทนคุณ จิตต์อิสระ เลขานุการคณะทำงานประธานสภาผู้แทนราษฎร ช่วยกำกับดูแลและนำเรียนให้ท่านชวน หลีกภัย เพื่อทราบและพิจารณาอีกทางหนึ่งด้วย
อนึ่ง วันนี้ ที่รัฐสภา นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า พร้อมด้วย นายปิยบุตร แสงกนกกุล แกนนำคณะก้าวหน้า และ น.ส.พรรณิการ์ วานิช กรรมการบริหารคณะก้าวหน้า ในฐานะตัวแทนของประชาชนผู้เข้าชื่อเสนอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ ร่วมกันแถลงข่าวก่อนที่ที่ประชุมรัฐสภาจะพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. ... เกี่ยวกับการปลดล็อกกระจายอำนาจท้องถิ่น ว่า ดีใจที่ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการเสนอปลดล็อคท้องถิ่น คาดว่า การพิจารณาจะเข้าสู่การพิจารณาไม่ช่วงเย็นของวันนี้ (29 พ.ย.) ก็เป็นวันที่ 30 พ.ย. พวกเราหวังว่าทุกท่านจะเห็นถึงความสำคัญของการกระจายอำนาจ ยุติการรวมศูนย์ที่ส่วนกลาง พวกเราตั้งใจเป็นอย่างยิ่งที่จะผลักดันให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านไปได้
นายธนาธร กล่าวต่อว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เสนอปลดล็อก 3 เรื่อง คือ 1. การจัดสรรภาษีให้เป็นธรรม โดยกำหนดส่วนแบ่งภาษีให้เป็น 50 ต่อ 50 ส่วนกลางครึ่งหนึ่งและท้องถิ่นอีกครึ่งหนึ่ง เพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีงบประมาณดูแลอย่างเพียงพอ ไม่ว่าจะเป็นน้ำ ขยะ ศูนย์เด็กเล็ก ส่วนท้องถิ่นจะได้ไม่ต้องวิ่งของงบประมาณจากส่วนกลาง 2. เรื่องอำนาจทุกวันนี้มีคำสั่ง ประกาศกระทรวง และกฎหมายที่ออกจากส่วนกลางจำนวนมากโดยไม่ไว้ใจท้องถิ่น ไม่เปิดโอกาสให้ทำบริการสาธารณะออกแบบความต้องการการพัฒนาชุมชนตัวเองได้อย่างเต็มที่ แต่ถ้าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านจะทำให้ท้องถิ่นมีอำนาจเต็มที่ในการจัดการบริการสาธารณะของตัวเอง และ 3. ในร่างฉบับนี้จะเปิดให้จัดทำประชามติเพื่อเปิดพื้นที่ให้ประชาชนได้หาฉันทามติร่วมกันว่า ราชการส่วนภูมิภาคยังจำเป็นอยู่หรือไม่ ซึ่งจะเป็นการปรับปรุงราชการแผ่นดินครั้งใหญ่ของไทย
“หวังว่า สมาชิกรัฐสภาทุกคนจะให้ความเห็นชอบกับการแก้ไขครั้งนี้ ขอให้ลงมติผ่านวาระที่ 1 ไปก่อน แล้วหากไม่เห็นด้วยในประเด็นใดสามารถไปพูดคุยรายละเอียดได้ในวาระที่ 2 และถ้าไม่เห็นด้วยจริงๆ ก็ค่อยตีตกในวาระที่ 3 ได้”
เมื่อถามว่า หากร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ผ่าน เตรียมแผนไว้อย่างไร นายธนาธร กล่าวว่า ยืนยันจะเดินหน้าต่อ เพราะพรรคก้าวไกลได้แถลงนโยบายการหาเสียงเรื่องการกระจายอำนาจไปแล้ว
ถามถึงความกังวลเมื่อกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นสำเร็จจะทำให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชัน นายปิยบุตร กล่าวว่า ตัวอย่างการกระจายอำนาจที่ดี คือ ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งตอนแรกก็มีความกังวลในเรื่องนี้เช่นกัน แต่ปรากฏว่า เมื่อกระจายอำนาจแล้ว การทุจริตลดน้อยถอยลงไป ขอยืนยันสบายใจได้ มีงานวิจัยว่า การกระจายอำนาจไม่ใช่การกระจายการทุจริตคอร์รัปชัน
ขณะเดียวกัน นายอัษฎางค์ ยมนาค นักวิชาการอิสระ โพสต์คลิปวิดีโอ พร้อมข้อความผ่านเฟซบุ๊ก เอ็ดดี้ อัษฎางค์ ยมนาค ระบุว่า
“The Marcha Real
ความเป็นคนที่อยู่ในโลกคนละใบ (กับเรา) ของปิยบุตร
ประเด็นร้อนๆ ที่เกิดจากการที่ปิยบุตรพิมพ์ลงในโลกโซเชี่ยล ว่า เพลงชาติสเปนไม่มีเนื้อเพลงนั้น
ความจริงคือ
เพลงชาติสเปน ที่มีชื่อว่า “มาร์ชาเรล” นั้น เคยมีเนื้อร้องมาก่อน และมีอยู่หลายเวอร์ชั่นตลอดเวลาอันยาวนาน โดยเป็น 1 ใน 4 เพลงชาติแรกของโลก
The Marcha Real is the national anthem of Spain. It is one of only four national anthems in the world. One of the oldest in the world, the Spanish national anthem was first printed in a document dated 1761.
แต่กลับกลายเป็นเพลงชาติที่ไม่มีเนื้อร้องมาตั้งแต่ปี 1978 หลังจากผ่านการถูกล้มเจ้า จนต่อมาเกิดรัฐบาลเผด็จการในยุคสาธารณรัฐ แล้วกลับมาฟื้นฟูสถาบันพระมหากษัตริย์ใหม่อีกครั้ง ทำให้เพลงชาติที่มีเนื้อร้องเวอร์ชันสุดท้ายซึ่งเป็นของรัฐบาลเผด็จการโดนแบนไปตลอดกาลจนถึงปัจจุบัน
Though the Marcha Real has no official lyrics, words have been written and used for it in the past. One version was used during Alfonso XIII's reign and another during the Francoist State; however, none of them were ever made official. The national anthem has been played without words since 1978, when lyrics that had been approved by General Franco were abandoned.
ประเด็นคือ อะไรทำให้ปิยบุตรพูดถึงเพลงชาติสเปนที่ไม่มีเนื้อร้อง
คำตอบที่ให้เดาได้ไม่ยากนักคือ ความเป็นคนที่อยู่ในโลกคนละใบ (กับเรา) ของปิยบุตร
เขาจึงไม่เลือกพูดถึงเพลงชาติของประเทศส่วนใหญ่ในโลกที่มีเนื้อร้อง
โลกของปิยบุตรเป็นโลกอีกใบที่มีความย้อนแย้งในตัวเอง
เหมือนกับการที่เขามักพูดถึงการปฏิรูป (หรือปฏิวัติ) ประชาธิปไตย ด้วยการยก เลนิน มาร์กซิสต์ ซึ่งเป็นต้นแบบเผด็จการสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ มาเป็นต้นแบบการปฏิรูป (ปฏิวัติ) ประชาธิปไตยในเมืองไทย แทนที่จะยกตัวอย่างอังกฤษหรือญี่ปุ่น ที่เป็นประชาธิปไตยแบบเดียวกับไทย
หรือยกตัวอย่างฝรั่งเศสซึ่งปกครองแบบประธานาธิบดีเทียบเคียงกับประเทศไทยซึ่งปกครองแบบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ แทนที่จะยกตัวอย่าง อังกฤษหรือญี่ปุ่น ที่ปกครองแบบเดียวกับไทย
หรือการพูดถึงความเสมอภาค ความด้อยโอกาสของชนชั้นรากหญ้ากับอภิสิทธิ์ชน และตุลาการสองมาตรฐาน
แต่ปิยบุตรกลับไม่เคยพูดถึงคดีความบุกรุกป่าสงวนกับเงินใต้โต๊ะของตระกูลจึง ที่เป็นเรื่องอภิสิทธิ์ชนและตุลาการสองมาตรฐานเลย
ดังนั้น สิ่งที่เขาทำเสมอ คือ พูดด้วยการจับประเด็น ในเรื่องที่ไม่น่าเป็นประเด็น ดังเช่น เพลงชาติสเปนที่ไม่มีเนื้อร้อง
แต่เรื่องที่เป็นประเด็นสำคัญ เช่น เรื่องอภิสิทธิ์ชนและตุลาการสองมาตรฐาน จากคดีความบุกรุกป่าสงวนกับเงินใต้โต๊ะของตระกูลจึง ผู้ที่เป็นทั้งเพื่อนและเจ้านาย ปิยบุตรไม่เคยจับมาเป็นประเด็นเลย
โลกสีส้มของปิยบุตรปกครองด้วยประชาธิปไตยอันมี เลนิน มาร์กซิสต์ บิดาแห่งเผด็จการสังคมนิยมคอมมิวนิสต์เป็นต้นแบบ
สังคมในโลกสีส้มของปิยบุตร มีอำมาตย์เป็นอภิสิทธิ์ชน แต่ไพร่หมื่นล้านแซ่จึงซึ่งเป็นอภิสิทธิ์ชนอีกรูปแบบหนึ่งในยุคปัจจุบัน กลับไม่ใช่อภิสิทธิ์ชน
ความจริงในโลกสีส้มของปิยบุตร คือ จริงของเราคือจริง จริงของเขาคือเท็จ ทั้งที่ความจริงของเราและของเขาคือความจริงอันเดียวตัวเดียวกัน
ความเป็นคนที่อยู่ในโลกคนละใบ (กับเรา) ของปิยบุตร ทำให้เกิดประเด็น เพลงชาติที่ไร้เนื้อ ซึ่งถ้าปิยบุตรไม่ยกมา ก็จะไม่มีประเด็นอะไร เนื่องจากไม่ได้มีประเด็นอะไร
ที่เล่ามาทั้งหมดเพื่อจะนำเข้าสู่เพลงชาติสเปน พร้อมเนื้อร้องที่ถูกแบนเพราะการเมือง
การเมืองที่มีทั้งคุณและโทษ มีทั้งสร้างสรรค์และทำลาย
เชิญรับชมและรับฟัง
กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วยข้อเท็จจริงและด้วยความสุภาพครับ”
แน่นอน, ประเด็นที่น่าสนใจ ก็คือ การเปิดเกมรุกในรัฐสภาของ คณะก้าวหน้า ในการ “ปลดล็อกท้องถิ่น” ซึ่งถูกอีกฝ่ายมองว่า เป็นการ “หมกเม็ด” ยุบ “ราชการส่วนภูมิภาค” อย่างที่เคยเป็นกระแส ในครั้งแรกที่คณะก้าวหน้า เปิดประเด็นเรื่อง การกระจายอำนาจให้กับท้องถิ่น หรือไม่ ก่อนที่ต่อมาจะอ้างต้องทำประชามติก่อน หลังถูกกระแสต่อต้านอย่างหนัก
ดังนั้น การเคลื่อนไหว ก่อนที่ที่ประชุมรัฐสภาจะพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. ... เกี่ยวกับการปลดล็อกกระจายอำนาจท้องถิ่น ครั้งนี้ ของ ธนาธร, ปิยบุตร และ ช่อ-พรรณิการ์ จึงนับว่าน่าจับตามอง และติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะเท่าที่คณะกาวหน้าคาดหวัง มันคือ การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นเลยทีเดียว!?