xs
xsm
sm
md
lg

“ศรีสุวรรณ” ร้อง ป.ป.ช.ร้องตรวจสอบ “ชัชชาติ” ผู้ว่าฯ กทม.ละเว้นหน้าที่ปล่อยม็อบปะทะตำรวจ คฝ.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ศรีสุวรรณ” บุก ป.ป.ช. ร้องสอบ “ชัชชาติ” ปมละเว้นปฏิบัติหน้าที่ ปล่อยม็อบปะทะ คฝ. จนเกิดการบาดเจ็บและทรัพย์สินเสียหาย

วันนี้ (24 พ.ย.) นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เข้ายื่นคำร้องต่อ ป.ป.ช. ขอให้ไต่สวนและวินิจฉัยว่า การที่ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม.ไม่ควบคุม ดูแล หรือปล่อยปละละเลยให้ผู้ชุมนุมที่ขออนุญาตจัดการชุมนุมคัดค้าน APEC ที่ลานคนเมือง ได้ทำผิดเงื่อนไขการอนุญาตโดยออกมานอกพื้นที่อนุญาต จนเป็นเหตุให้เกิดการปะทะกันกับตำรวจ คฟ. ทำให้เกิดการบาดเจ็บกันทั้งสองฝ่ายและทรัพย์สินราชการและสาธารณะเสียหายนั้น เข้าข่ายการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ หรือผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการหรือไม่

ทั้งนี้ ตามที่ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการ กทม. 2528 มาตรา 49 กำหนดให้ผู้ว่าฯ กทม.มีอำนาจหน้าที่หลายประการ เช่น กำหนดนโยบายและบริหารราชการของ กทม.ให้เป็นไปตามกฎหมาย ในที่นี้คือ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ 2558 การบริหารราชการตามที่คณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย มอบหมาย และอำนาจหน้าที่อื่นตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้และกฎหมายอื่น และต้องรับผิดชอบในการปฏิบัติราชการของกรุงเทพมหานคร ตามมาตรา 50 ด้วย

นอกจากนั้น อำนาจหน้าที่ของกรุงเทพมหานคร ตามมาตรา 89 ยังระบุเอาไว้ชัดเจน ว่า มีหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชน และกฎหมายดังกล่าวในมาตรา 90 ยังกำหนดให้ผู้ว่าฯ กทม. มีฐานะเป็นพนักงานฝ่ายปกครอง หรือตำรวจ ตามความหมายของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และในการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ว่าฯ  กทม.นั้น มาตรา 91 กฎหมายยังกำหนดให้เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญาอีกด้วย ดังนั้น การที่ผู้ว่าฯ  กทม.กำหนดให้ลานคนเมือง หน้าศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เป็นพื้นที่ขออนุญาตจัดชุมนุมสาธารณะได้ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณา 2558 ผู้ว่าฯ กทม.ก็ต้องมีหน้าที่ที่จะควบคุม ดูแล ให้ผู้ชุมนุมหรือกลุ่มราษฎรหยุดเอเปก 2022 ต้องปฏิบัติให้อยู่ในกรอบการชุมนุมสาธารณะ และตามประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง จัดให้มีสถานที่เพื่อใช้สำหรับการชุมนุมสาธารณะ ฉบับลงวันที่ 23 สิงหาคม 2565 ข้อ 2.4 ข้อ 2.5 และข้อ 2.6 อย่างเคร่งครัด
นอกจากนั้น ยังต้องถือปฏิบัติตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง กำหนดสถานที่ตามนัยมาตรา 8(5) แห่ง พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะด้วย แต่ ผู้ว่าฯ กทม.กลับละเว้นหรือเพิกเฉยเสีย ปล่อยให้ผู้ชุมนุมอยู่อาศัยในลานคนเมืองหรือค้างคืนได้ ทั้งๆ ที่เป็นข้อห้าม จนกระทั่งเกิดการรวมตัวกันในยามเช้าและเคลื่อนขบวนออกมาเกิดเหตุการปะทะกันขึ้น เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2565 ระหว่างตำรวจ คฝ.และกลุ่มผู้ชุมนุม ที่ละเมิดกฎหมาย จนมีผู้บาดเจ็บทั้งสองฝ่าย และทรัพย์สินของทางราชการเสียหาย ผู้ว่าฯ กทม. ย่อมเข้าข่ายการทุจริตต่อหน้าที่อันถือเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ตามนัยยะทางกฎหมายแห่ง มาตรา 4 ของ พ.ร.ป. ว่าด้วยป.ป.ช. 2561 โดยชัดแจ้ง ด้วยเหตุดังกล่าว สมาคมฯ จึงต้องนำความ พร้อมพยานหลักฐาน มายื่นร้องต่อ ป.ป.ช.เพื่อดำเนินการสอบสวนและวินิจฉัยเอาผิดตามครรลองของกฎหมายต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น