xs
xsm
sm
md
lg

แก๊งราษฎรร้อง กมธ.การเมือง สลายม็อบป่วนเอเปกเกินกว่าเหตุ อ้างชุมนุมตาม กม.ฝ่ายค้านโดดรับลูก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“อานนท์” นำกลุ่มราษฎร ร้อง กมธ.การเมือง สอบกรณีสลายม็อบป่วนเอเปก 18 พ.ย. 65 ย้ำชุมนุมตามกฎหมาย แต่ ตร. รุนแรงเกินกว่าเหตุ ไม่ได้ขอหมายศาล “ณัฐชา” ตอก จนท. เหมือนไม่เคยฝึกมา จ่อเรียกผู้เกี่ยวข้องชี้แจง 24 พ.ย. นี้

วันนี้ (21 พ.ย.) ที่รัฐสภา ตัวแทนแนวร่วมราษฎร นำโดย นายอานนท์ นำภา ทนายความด้านสิทธิมนุษยชน นายบารมี ชัยรัตน์ แกนนำกลุ่มสมัชชาคนจน นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข แกนนำกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย เข้ายื่นเรื่องร้องเรียนต่อคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอให้ตรวจสอบกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้ความรุนแรงเข้าสลายการชุมนุมของกลุ่มราษฎรหยุดเอเปก 2022 ที่บริเวณถนนดินสอ เมื่อ 18 พ.ย. ที่ผ่านมา

โดย นายบารมี กล่าวว่า การชุมนุมในวันดังกล่าว แกนนำได้แจ้งการชุมนุมตามกฎหมาย จึงเห็นว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ได้มีอำนาจอะไรมาขัดขวางไม่ให้ผู้ชุมนุมมุ่งไปสู่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และได้พยายามเรียกร้องให้ตำรวจถอดกำลังออกไป มาอยู่เคียงข้างประชาชน ขณะที่เหตุชุลมุนนั้น ยืนยันว่า ไม่ใช่การปะทะ แต่เป็นการที่เจ้าหน้าที่ทุบตีเอาเพียงฝ่ายเดียว และในครั้งที่ 3 มีการเปลี่ยนตัวเจ้าหน้าที่จากตำรวจคุมฝูงชน (คฝ.) เป็นอีกชุดหนึ่ง ที่ใส่ผ้าพันคอสีเขียว เข้ามาสลายการชุมนุม

“ถ้าเห็นว่า การชุมนุมไม่ชอบ ก็ต้องไปร้องต่อศาลให้มีคำสั่งยุติการชุมนุม แต่นี่เป็นการใช้กำลังและอำนาจเถื่อนเข้ามาทำร้ายมวลชน จนกระทั่งมีคนบาดเจ็บสาหัสถึงขั้นเสียดวงตา ไม่ควรเกิดขึ้นในสังคมที่เป็นประชาธิปไตยแบบนี้ และยังเป็นการใช้กำลังที่ไม่ได้สัดส่วนกับการกระทำของเรา” นายบารมี กล่าว

นายบารมี กล่าวต่อว่า ตัวแทนมวลชนจึงมาเรียกร้องให้คณะกรรมาธิการตรวจสอบข้อเท็จจริง พร้อมเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ทั้งหมดซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับการสลายการชุมนุม ตั้งแต่ผู้กำกับ สน.สำราญราษฎร์ ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบ.ชน.) รวมถึงนายกรัฐมนตรี ในฐานะที่เป็นประธานจัดการประชุมเอเปค เข้ามาชี้แจง

ด้าน นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ส.ส.กทม. พรรคก้าวไกล ในฐานะประธาน กมธ. เป็นตัวแทนรับหนังสือ โดยกล่าวว่า การชุมนุมของประชาชนย่อมเป็นสิ่งพึงกระทำได้ และประเทศไทยขณะนี้ไม่มี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แล้ว การชุมนุมสาธารณะก็เป็นเรื่องปกติในระบบประชาธิปไตย ยกเว้นผู้นำเผด็จการเท่านั้นที่รับไม่ได้กับประชาชนที่ออกมาแสดงความคิดเห็นต่างๆ

“ความรุนแรงจากเจ้าหน้าที่ถือว่าเกินอัตราส่วนจำนวนของประชาชนที่ออกมาเรียกร้อง ทั้งยังขาดมาตรการสลายการชุมนุมจากเบาไปหาหนัก เปรียบเหมือนไม่ได้มีการฝึกอบรมอะไรกันมาเลย “

อย่างไรก็ตาม วันที่ 24 พ.ย.นี้ คณะกรรมาธิการจะนำกรณีดังกล่าวบรรจุเข้าสู่วาระการประชุม พร้อมเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาสืบถามข้อเท็จจริงในประเด็นต่างๆ อีกทั้งเวลา 11:00 น. ก่อนการประชุม ก็จะมีกลุ่มสื่อมวลชนทั้งในและต่างประเทศ ที่ได้รับบาดเจ็บในการชุมนุมดังกล่าว มาส่งมอบพยานหลักฐานเอกสารต่างๆ ที่รัฐสภาด้วย

ด้าน น.ส.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย ในฐานะตัวแทนพรรคเพื่อไทย ร่วมกล่าวว่า รัฐบาลที่ดีต้องฟังเสียงประชาชน แต่สิ่งที่รัฐบาลโต้ตอบกลับมา คือ การผลักประชาชนให้เป็นศัตรู ถือว่าไม่ถูกต้อง และยังเป็นการเหยียบย่ำศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ประชาชนที่ออกมาเรียกร้องล้วนเป็นกำลังสำคัญที่ขับเคลื่อนประเทศชาติ ตนในฐานะตัวแทนของพรรคเพื่อไทยจะนำเรื่องเข้าสู่การตรวจสอบ


กำลังโหลดความคิดเห็น