xs
xsm
sm
md
lg

“เด็กชวน” ร้อง “จุรินทร์” วิชามารโพลผู้สมัคร ส.ส.ปชป. ชี้ให้ความเป็นธรรมในพรรคไม่ได้ไม่ต้องคิดถึง ปชช.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เลขาฯ ปธ.สภา โวย โพลผู้สมัคร ปชป.เขต 4 ตรัง ปชป.ไม่เคลียร์ ทำหนังสือท้วง “จุรินทร์” แฉ คนในพรรคใช้ 1.8 แสน จ้างนักวิชาการอิสระทำ ถามเชิงชี้นำ ใช้วิชามารถ่ายสำเนาเพิ่มแบบสอบถาม ไม่ลงรันนิ่งนัมเบอร์ ไม่คุมผล ไม่แจงพื้นที่สำรวจ ไม่ให้ตรวจสอบ ซัดให้ความเป็นธรรมคนในพรรคไม่ได้ไม่ต้องคิดถึง ปชช.

วันนี้ (20 พ.ย.) นายสมบูรณ์ อุทัยเวียนกุล เลขานุการประธานสภา และอดีต ส.ส.ตรัง 4 สมัย พรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยว่า ในสัปดาห์หน้าตนจะทำหนังสือถึง นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรค เพื่อแจ้งให้ทราบถึงขั้นตอนความไม่ชอบมาพากลของการทำโพลสำรวจคะแนนนิยมของพรรคประชาธิปัตย์ ที่ทำในเขตเลือกตั้งที่ 4 จังหวัดตรัง กรณีสำรวจคะแนนนิยมของผู้ที่เสนอตัวจะลงสมัคร ส.ส.ในนามของพรรค ซึ่งที่ผ่านมาตนเป็น ส.ส. 4 สมัย คือปี 2544, 2548, 2550 และปี 2554 ติดต่อกัน แต่ในปี 2562 จังหวัดตรัง ถูกลดเหลือ 3 เขตเลือกตั้ง เพื่อลดความขัดแย้งในพรรค จึงให้ตนลงสมัครแบบบัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 35 โดย นายชวน หลีกภัย ประธานสภา ได้ตั้งตนให้เป็นเลขาฯ ครั้งนี้เมื่อ จ.ตรัง เพิ่มเป็น 4 เขต ตนได้แจ้งขอลงสมัครในเขต 4 เขตเดิม ซึ่งตามธรรมเนียมปฏิบัติของพรรคจะให้สิทธิ ส.ส.เจ้าของพื้นที่ หรือ อดีต ส.ส.เดิมก่อน แต่ปรากฎว่า มีความพยายามขัดขวางการสมัครของตน โดยอ้างว่า มีคนประสงค์จะลงสมัครมากกว่า 1 คน อ้างเหตุผลว่า ตนเป็นหลุมดำของพรรคใน จ.ตรัง ลงสมัครก็แพ้ ทั้งที่ข้อเท็จจริง ตนได้คะแนนในการเลือกตั้งปี 2554 มากที่สุดใน จ.ตรัง คือ 74,387 คะแนน พรรคจึงทำโพลสำรวจคะแนนนิยมจากชาวบ้านในเขตเลือกตั้งที่ 4 ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของผู้ใหญ่ในพรรค เช่น นายชวน หลีกภัย หลังการทำโพล ได้มีการเปิดเผยแค่ผลโพล ว่า ตนพ่ายแพ้คู่แข่งขัน แต่กลับไม่ยอมเปิดเผยรายละเอียด ทั้งยังประกาศผลว่าจะส่งผู้ที่ชนะโพลพรรคให้เป็นผู้สมัคร ส.ส.ตรัง เขต 4 ในนามพรรคประชาธิปัตย์

“หลังจากผมทราบผลโพล ก็ได้ลงพื้นที่เพื่อเสาะหาข้อเท็จจริงทั้งจากชาวบ้านในพื้นที่เขตเลือกตั้งที่ 4 จ.ตรัง และตัวผู้รับผิดชอบการทำโพลนี้ ก็พบข้อเท็จจริงว่า มีเหตุน่าสงสัยหลายเรื่องที่ผมเคยทำหนังสือถามถึงหัวหน้าพรรคไปแล้ว คือ 1. สถาบันทำโพล คือ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ใช่หรือไม่ 2. มีการออกแบบสำรวจตามหลักวิชาการเที่ยงธรรมอย่างไร เพราะแบบสอบถามของคู่แข่งขัน มีการลงประวัติในลักษณะตั้งคำถามที่ใช้ชี้นำ เช่น นายสมบูรณ์ อุทัยเวียนกุล ตำแหน่ง ส.ส. 4 สมัย, ส.ท.กาญจน์ ตั้งปอง ลูกชาย นายวิศิษฐ์ ตั้งปอง อดีตนายอำเภอหลายพื้นที่ของจังหวัดตรัง 3. ที่น่าตกใจคือ แบบสอบถามครั้งแรกแจ้งว่าทำ 3,000 ชุด แต่ภายหลังพบว่า มีการถ่ายสำเนาแบบสอบถามเพิ่มอีก 3,300 ชุด รวมเป็น 6,300 ชุด 4. การกระจายตัวอย่างประชากรครอบคลุมพื้นที่หรือไม่ อย่างไร 5. ผู้ที่ออกใบสำรวจ คือใคร สำรวจพื้นที่ใดบ้าง เพราะผมสอบถามชาวบ้านในพื้นที่แทบจะไม่มีใครได้รับการสำรวจ 6. พบว่า มีการถ่ายเอกสารแบบฟอร์มการสำรวจนับ 1,000ชุด ที่ร้านชื่อ “แสนก็อปปี้” ที่หน้ามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง ซึ่งเป็นการถ่ายจากแบบสำรวจตัวจริง โดยไม่มีหมายเลขกำกับหรือตราประทับใดๆ ซึ่งผมเชื่อว่าแบบสำรวจที่ถ่ายสำเนาเพิ่มนี้ถูกใช้ทำโพลที่ไม่สุจริต และได้แจ้งความกับตำรวจไว้แล้ว
แต่ไม่ได้รับคำตอบใดๆ จากทางพรรค ผมจึงไปพบ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ และได้รายชื่อคณะผู้จัดทำโพลนี้ คือ 1) รศ. ชุมพล ชื่นจิตรศิริ รองอธิการบดีฝ่ายงานบริการและกฎหมาย มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ 2) ผช.ศ. ดร.นิเวศน์ อรุณเบิกฟ้า 3) ผช.ศ.ดร.อิศรัฐ ทุ่งไทสง โดยได้นัดพบคณะทำโพลที่หาดใหญ่เพื่อสอบถามข้อเท็จจริงที่สรุปได้ว่า คณะผู้ทำโพลไม่ทราบวัตถุประสงค์ของการทำโพล อ้างว่า เอาผลสำรวจไปประกอบการพิจารณา ไม่ใช่สำรวจเพื่อวัดคะแนนนิยมเพื่อคัดคนลงสมัคร ที่สำคัญ คณะทำโพลยอมรับว่า เป็นการรับจ้างทำโพลในฐานะนักวิชาการอิสระ ไม่ใช่ทำในนามมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ แต่อย่างใดและไม่รับรองผล คณะจัดทำโพลได้รับค่าจ้างในการทำโพล 180,000 บาท ส่วนคำถามในแบบสำรวจโพลที่มีลักษณะชี้นำ ก็รับข้อมูลมาจากพรรค พร้อมยอมรับว่า ได้ทำโพลเป็น 2 ช่วงเวลาซึ่งต่างจากการสำรวจโพลทั่วไป คือ ปลายเดือน ส.ค. และต้นเดือน ก.ย. รวม 6,300 ชุด โดยอ้างว่า ใช้เครือข่ายเยาวชนในพื้นที่ไปสอบถาม และยอมรับว่า ได้ให้เงินให้คนไปจัดทำใบสำรวจเอาเอง โดยไม่มีการลงหมายเลขรันนิ่งนัมเบอร์ในแบบสอบถาม ที่น่าตกใจคือ กลุ่มอาจารย์ที่รับจ้างทำโพลยอมรับว่า ไม่ได้ติดตามควบคุมผู้ลงพื้นที่ไปสำรวจแบบสอบถามเพียงแต่ รอให้ฝ่ายลงพื้นที่ส่งเอกสารกลับมาให้ตามจำนวนเท่านั่นแล้วสรุปผล ซึ่งพออนุมานได้ว่า นี่คือการได้ข้อมูลเท็จมาเป็นผลโพล เมื่อผมขอดูรายละเอียด คณะผู้ทำโพลนี้บ่ายเบี่ยงว่า ส่งให้ทางพรรคไปหมดแล้ว ผมจึงสรุปว่าในการทำโพลครั้งนี้ ไม่โปร่งใส และข้อมูลที่ได้จึงไม่ได้มาจากประชาชนในพื้นที่ที่แท้จริง” นายสมบูรณ์ กล่าว
นายสมบูรณ์ กล่าวต่อว่า ตนเชื่อว่า พรรคไม่ได้ใช้หลักการในการพิจารณาสรรหาผู้สมัครที่ต้องใช้การพิจารณาที่ครบถ้วน รอบด้าน แต่กลับอาศัยผลโพลที่ไม่สุจริต มาตัดสินถือเป็นการตัดสินที่ไม่ยุติธรรม ไม่มีการควบคุมติดตาม การเดินสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่เขตเลือกตั้งที่4 จ.ตรัง ว่าไปสำรวจใครที่ไหนเมื่อไหร่ เพราะมอบให้ผู้ใด หรือไปสำรวจกันเอง ขอเพียงมาส่งแบบสำรวจตามจำนวนเท่านั้น ทั้งนี้ ตนเคยเป็นนักกีฬา เป็นครู และมาเป็นนักการเมืองด้วยความสุจริต รู้จักคำว่า รู้แพ้ รู้ชนะ ยอมรับการแข่งขันที่สุจริต และการทำหนังสือครั้งนี้ไม่ใช่เรายกร้องให้พรรคประชาธิปัตย์กลับการพิจารณาผู้สมัครส.ส.ในนามพรรคมาเป็นชื่อตน แต่อยากให้ผู้บริหารพรรคบริหารจัดการด้วยความโปร่งใส และให้คำตอบต่อสังคม ต่อประชาชนได้เห็นหลักธรรมาภิบาล การสรรหาผู้สมัครที่ยึดหลักคุณธรรม เพราะเชื่อว่าสถาบันทางการเมืองต้องมีหลักธรรมาภิบาล แต่เมื่อพรรคไม่สามารถให้ความโปร่งใส ยุติธรรมกับตน ที่เป็นหนึ่งในคณะกรรมการบริหารพรรค และเป็นสมาชิกพรรคที่ดี ได้แล้ว พรรคจะไปให้ความยุติธรรมกับประชาชนทั่วไปได้อย่างไร เพราะพรรคต้องไม่ทิ้งหลักการว่าพรรคเป็นของประชาชน ไม่มีใครเป็นเจ้าของพรรค และเชื่อว่าผู้ที่ได้มาด้วยความไม่ชอบธรรม ไม่สามารถเป็นตัวแทนประชาชนได้อย่างมีเกียรติ เงยหน้าไม่กล้ามองฟ้า ก้มหน้าไม่อาจมองดิน ส่วนสาเหตุที่ต้องทำหนังสือนี้ให้หัวหน้าพรรคทราบ เพราะเป็นผู้นำสูงสุดขององค์กร จำเป็นที่ต้องรู้ว่า ผู้มีอำนาจในพรรคบางส่วนทำกันแบบนี้ และเพื่อไม่ให้เกิดผิดพลาดซ้ำอีก ควรใช้ธรรมเนียมปฏิบัติของพรรคแต่เดิมที่ไม่สร้างปัญหาเพิ่มให้พรรคและไม่โปร่งใส ไม่ถูกหลักธรรมาภิบาล ตรวจสอบไม่ได้


กำลังโหลดความคิดเห็น