“ธนกร” สวน “พิธา” หยุดวิจารณ์ BCG Model ถ้าไม่รู้จริง อัดอย่าเอาทุกเรื่องมาปนกันจนประชาชนสับสน แจงปัญหา PM 2.5 นายกฯ สั่งหน่วยงานเกี่ยวข้องแก้ไขมาอย่างต่อเนื่อง เหน็บไม่พูดเรื่องที่ไม่รู้จริงสักเรื่อง ก็ไม่มีใครหาว่าเป็นใบ้ โว BCG Model จะเป็นฐานเศรษฐกิจหลักของประเทศ ที่สร้างมูลค่ากว่า 4.4 ล้านล้านบาท ใน 5 ปีข้างหน้า
นายธนกร วังบุญคงชนะ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ กล่าวถึงกรณีที่ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ระบุว่า รัฐบาลฝันที่จะใช้การประชุมเอเปกสร้างเศรษฐกิจสีเขียว แต่แค่ PM 2.5 ฝุ่นข้ามชาติ ยังไร้ภาวะผู้นำที่จะแก้ไข ว่า ถ้านายพิธาไม่รู้จะพูดเรื่องอะไร เพื่อให้ตัวเองได้คะแนนนิยม การไม่วิจารณ์เรื่องการประชุมเอเปกแบบมั่วๆ ด้วยชุดข้อมูลผิดๆ สักเรื่องก็คงไม่มีใครหาว่านายพิธาเป็นใบ้ เพราะนายพิธาไม่ควรเอาทุกเรื่องมาโยงเป็นเรื่องเดียวกัน จนทำให้ประชาชนสับสน ทั้งนี้ เรื่อง BCG Model เป็นเรื่องหลักที่รัฐบาลจะนำไปหารือในการประชุมเอเปคครั้งนี้ ซึ่งเป็นจุดแข็งในภาคเกษตรของไทย มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรชีวภาพเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ลดขยะ และเน้นการใช้กระบวนการที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม รวมถึงในอนาคตการประกอบธุรกิจภายใต้แนวคิด BCG อาจจะได้ประโยชน์ทางด้านภาษีเมื่อทำการค้าระหว่างประเทศด้วย สอดคล้องกับเทรนด์ของโลกเรื่องสิ่งแวดล้อม ถือเป็นหนึ่งทางออกที่ครอบคลุมให้ทุกการพัฒนาไม่มุ่งเน้นเพียงการพัฒนาเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ต้องพัฒนาคู่ไปกับสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลด้วย ส่วนเรื่องปัญหา PM 2.5 นั้น รัฐบาลโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และรมว.กลาโหม ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไขมาอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว ดังนั้น หากนายพิธาไม่รู้ก็ควรจะหาข้อมูลให้ได้ข้อเท็จจริงก่อน ไม่ใช่วิพากษ์วิจารณ์แบบตีหัวแล้วเข้าบ้าน ซึ่งไม่น่าจะใช่แนวทางของนักการเมืองรุ่นใหม่อย่างที่พรรคนายพิธามักจะกล่าวอ้างอยู่บ่อยๆ
นายธนกร กล่าวอีกว่า BCG Model ดำเนินการภายใต้นโยบายของรัฐบาลไทยตามแผนการปฏิบัติด้านการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG พ.ศ. 2564-2570 สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) อย่างน้อย 5 เป้าหมาย ได้แก่ การผลิตและบริโภคที่ยั่งยืน การรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การอนุรักษ์ความหลากหลาย ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน การลดความเหลื่อมล้ำ อีกทั้งยังสอดรับกับปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงซึ่งเป็นหลักสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย ทั้งนี้ สอวช.รายงานว่า มูลค่าเศรษฐกิจ BCG เพิ่มขึ้นจาก 3.4 ล้านล้านบาท ในปี 2562 เป็น 4.4 ล้านล้านบาท ในปี 2565 สร้าง Value creation ให้กับประเทศอย่างมีเสถียรภาพ ขยายโอกาสทางการค้าในเวทีโลก ดังนั้น BCG Model จะเป็นฐานเศรษฐกิจหลักของประเทศที่สร้างมูลค่ากว่า 4.4 ล้านล้านบาท GDP เพิ่มขึ้นถึง 24% ใน 5 ปีข้างหน้า สร้างงานใหม่หลายล้านตำแหน่ง เกิดการจ้างงาน 16.5 ล้านคน และเพิ่มระดับรายได้ของแรงงานในอุตสาหกรรม BCG เพิ่มรายได้แก่ชุมชนผ่านการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนสามารถดึงเอาศักยภาพพื้นที่ออกมาได้อย่างเต็มที่ อีกทั้งเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากร ลดปริมาณของเสียจากระบบ เพื่อรักษาฐานทรัพยากรของประเทศและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
“ไทยจะได้ประโยชน์จากการนำแนวคิดเศรษฐกิจ BCG ไปแลกเปลี่ยนในที่ประชุมเอเปกอย่างแน่นอน เพื่อขับเคลื่อนทิศทางการพัฒนาที่สมดุลและยั่งยืนในภูมิภาค โดยเฉพาะการที่ประเทศไทยจะได้เรียนรู้ประสบการณ์โดยตรงจากเพื่อนสมาชิก การยกระดับมูลค่าของห่วงโซ่การผลิตให้เกิดการก้าวกระโดด ส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นเจ้าของสินค้าและบริการมูลค่าสูง เกิดการกระจายรายได้และโอกาสแบบทั่วถึง รวมถึงการรักษาสมดุลเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพ มีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งประเด็นเหล่านี้ จะสร้างการพัฒนาที่ดีในระยะยาว รวมถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทยอีกด้วย” นายธนกร กล่าว