กสม. ชี้ โครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ใกล้รัฐสภา กทม.กระทำการละเมิดสิทธิมนุษยชน แนะเปิดเผยข้อมูล-รับฟังความคิดเห็นอย่างรอบด้าน-เยียวยาค่าทดแทนอย่างเป็นธรรม
วันนี้ (10 พ.ย.) น.ส.ศยามล ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กล่าวว่า กรณี กสม. ได้รับเรื่องร้องเรียนเมื่อเดือน ธ.ค. 64 ว่า โครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณแยกเกียกกาย ของกรุงเทพมหานคร (กทม.) ซึ่งมีการสำรวจ ศึกษา ออกแบบ และประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมตามลำดับขั้นตอนมาตั้งแต่ปี 47 เป็นโครงการที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนที่อาศัยบริเวณชุมชนกำแพงเพชร 5 แขวงพญาไท เขตพญาไท ประมาณ 15-20 ครัวเรือน เนื่องจากต้องถูกเวนคืนที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง รวมทั้งส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การผังเมือง งบประมาณของแผ่นดิน และความปลอดภัยของอาคารรัฐสภา อีกทั้งการดำเนินโครงการไม่จัดให้มีการรับฟังความเห็นจากประชาชนและผู้เชี่ยวชาญเฉพาะอย่างเพียงพอ ประชาชนยังไม่ได้รับทราบรายละเอียดโครงการ และเมื่อประชาชนขอทราบข้อมูล กลับได้รับการปฏิเสธว่าไม่สามารถเปิดเผยได้ เนื่องจากเป็นข้อมูลที่ไม่ต้องเปิดเผยตามกฎหมายว่าด้วยข้อมูลข่าวสารของราชการนั้น กสม. ได้พิจารณาข้อเท็จจริงจากผู้ร้อง หน่วยงานผู้ถูกร้อง กฎหมายเกี่ยวข้องแล้ว เห็นว่า รัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 57 ซึ่งใช้บังคับขณะที่มีการเริ่มสำรวจและออกแบบโครงการได้ให้การรับรองสิทธิของบุคคลในการได้รับข้อมูล คำชี้แจง และเหตุผลจากหน่วยงานราชการ หน่วยงานของรัฐ ก่อนการอนุญาตหรือการดำเนินโครงการหรือกิจกรรมใดที่อาจมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของชุมชนท้องถิ่น โดยรัฐจะต้องจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างทั่วถึงก่อนดำเนินการ ประกอบกับรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 43 ได้ให้การรับรองสิทธิบุคคลและชุมชนในการมีส่วนร่วมในการจัดการบำรุงรักษา และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม รวมทั้งสามารถเสนอแนะต่อหน่วยงานของรัฐให้ดำเนินการหรืองดเว้นการดำเนินการใดอันจะกระทบต่อความเป็นอยู่อย่างสงบสุขของประชาชนหรือชุมชนได้ โดยมาตรา 58 รัฐมีหน้าที่ต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสีย ประชาชนและชุมชนที่เกี่ยวข้องก่อนดำเนินโครงการใดๆ ของรัฐที่อาจมีผลกระทบต่อชุมชนด้วย
จากการตรวจสอบข้อเท็จจริง ปรากฏว่า โครงการมีระยะทาง 5.9 กิโลเมตร ตั้งแต่ถนนเลียบทางรถไฟสายใต้ ผ่านถนนจรัญสนิทวงศ์ ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณแยกเกียกกาย มีทางยกระดับต่อไปบนถนนทหาร ข้ามแยกสะพานแดง แยกเทอดดำริห์ ข้ามทางรถไฟ เลี้ยวซ้ายตามถนนกำแพงเพชร 5 ผ่านแยกสะพานดำตามแนวถนนกำแพงเพชร ไปสิ้นสุดโครงการบริเวณถนนพหลโยธิน โดยวัตถุประสงค์ของโครงการเดิมถูกกำหนดเพื่อรองรับรัฐสภาแห่งใหม่และศูนย์คมนาคมพหลโยธิน แต่ปัจจุบันที่ดินบริเวณที่จะพัฒนาเป็นศูนย์คมนาคมพหลโยธินได้ถูกพัฒนาเป็นที่ตั้งของศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง และศูนย์ซ่อมบำรุงรถไฟแล้ว ประกอบกับสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ให้ข้อเท็จจริงสรุปว่า นับแต่ กทม. เริ่มดำเนินโครงการได้มีประเด็นคัดค้านและข้อโต้แย้งจากหลายภาคส่วน รวมทั้งรัฐสภาได้มีหนังสือคัดค้านมาต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2554 โดยเห็นว่าโครงการจะส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยบริเวณอาคารรัฐสภา จากการออกแบบแนวสะพานที่คร่อมถนนบริเวณด้านหน้าตัวอาคารในระดับสูงเทียบเท่าชั้น 3 ของอาคาร ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการก่อวินาศกรรมได้ง่าย อีกทั้งโครงการอาจส่งผลกระทบด้านอื่นๆ อีกหลายประการ จึงอาจไม่มีความเหมาะสมและไม่มีความจำเป็นในสถานการณ์ปัจจุบัน
สำหรับประเด็นการมีส่วนร่วมของประชาชนนั้น แม้ที่ผ่านมา โครงการได้มีการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment: EIA) หรือรายงาน EIA เมื่อช่วงปี 2553-2558 โดยจัดให้มีการประชาสัมพันธ์และกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนแล้ว แต่การดำเนินการดังกล่าวผ่านมาแล้วเป็นระยะเวลายาวนาน ส่งผลให้สภาพการจราจรและโครงข่ายคมนาคมขนส่งเปลี่ยนแปลงไป ประกอบกับรายงาน EIA ดังกล่าวยังไม่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) ด้วยเหตุผลเรื่องกระบวนการมีส่วนร่วม สอดคล้องกับผลการลงพื้นที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่สำนักงาน กสม. เมื่อเดือน ม.ค. 65 ที่พบว่า ผู้มีส่วนได้เสียซึ่งเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงในพื้นที่ชุมชนกำแพงเพชร 5 และในพื้นที่ฝั่งธนบุรีหลายรายไม่ได้รับทราบข้อมูลข่าวสารหรือเข้าร่วมในกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนมาตั้งแต่เริ่มต้น การดำเนินโครงการนี้ จึงถือว่ายังขาดการประชาสัมพันธ์และการจัดกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างทั่วถึงและครอบคลุมผู้มีส่วนได้เสียตั้งแต่กระบวนการรับฟังความคิดเห็นในชั้นต้นจนถึงชั้นการโต้แย้งทบทวนความเหมาะสมของโครงการ ทั้งประชาชนยังมีอุปสรรคในการเข้าถึงข้อมูลที่อยู่ในความครอบครองของหน่วยงานรัฐ ซึ่งไม่เป็นไปตามหลักการมีส่วนร่วมที่กฎหมายและพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นภาคีให้การรับรองไว้ จึงเป็นการกระทำหรือการละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน
ส่วนประเด็นการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ในชั้นนี้ยังไม่ปรากฏว่า กทม. มีกระทำหรือการละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดแต่อย่างใด
จากเหตุดังกล่าวที่ประชุม กสม. เมื่อวันที่ 7 พ.ย. 65 จึงมีข้อเสนอแนะต่อ กทม. 1. ข้อเสนอแนะในการป้องกันแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชนให้ กทม. จัดให้มีการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับโครงการ และการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนก่อนเริ่มดำเนินโครงการใหม่ โดยให้ผู้มีส่วนได้เสียและประชาชนทั่วไปได้รับรู้รับทราบและมีความเข้าใจเกี่ยวกับโครงการ สามารถแสดงความคิดเห็น เสนอแนะ แจ้งข้อห่วงกังวล ผลกระทบและความเดือดร้อนหรือเสียหายได้อย่างมีอิสระและครบถ้วนตามหลักการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริง โดยเมื่อได้รับฟังความคิดเห็นของประชาชน แล้วปรากฏว่า การดำเนินโครงการก่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนมากกว่าที่เผยแพร่ข้อมูลไว้ ให้พิจารณาทบทวนถึงความเหมาะสมและความจำเป็นในการดำเนินโครงการ หากจำเป็นต้องดำเนินโครงการต่อไป ต้องจัดทำมาตรการป้องกัน แก้ไข หรือเยียวยาความเดือดร้อนหรือเสียหายให้แก่ประชาชนหรือชุมชนที่ได้รับผลกระทบอย่างเป็นธรรมและได้สัดส่วนกับความเดือดร้อนหรือเสียหายที่เกิดขึ้น รวมทั้งต้องกำหนดให้มีมาตรการติดตามตรวจสอบและเฝ้าระวังผลกระทบในการปฏิบัติงานทั้งในระยะก่อสร้างและระยะเปิดใช้แนวเส้นทางโครงการอย่างเคร่งครัด นอกจากนี้ให้เปิดเผยข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับโครงการ และต้องจัดให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลหรือข่าวสารดังกล่าวได้โดยสะดวก ทั้งนี้ ให้ดำเนินการภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งรายงานฉบับนี้
2. ข้อเสนอแนะในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ให้ กทม. ให้ข้อมูลและอธิบายขั้นตอนการใช้สิทธิต่างๆ โดยละเอียดเป็นรายบุคคลแก่บุคคลที่ได้รับผลกระทบจากการเวนคืน พร้อมทั้งให้คำแนะนำอย่างเพียงพอต่อการพิจารณาตัดสินใจ อาทิ กระบวนการอุทธรณ์ค่าทดแทนตามขั้นตอนของกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ รวมทั้งเปิดโอกาสให้ผู้ถูกเวนคืนสามารถหยิบยกราคาประเมินที่ดินและอสังหาริมทรัพย์โดยวิธีอื่นๆ ที่เหมาะสมกับลักษณะทรัพย์สินที่ซื้อขายกันจริงตามท้องตลาด เพื่อพิจารณาชดเชยเยียวยาค่าทดแทนที่เป็นธรรม และให้คิดคำนวณเงินค่าทดแทนที่เป็นธรรมและเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นให้แก่ผู้ถูกเวนคืนให้ครอบคลุมถึงมาตรฐานที่เพียงพอต่อการครองชีพในปัจจุบัน รวมทั้งวิถีชีวิตและการประกอบอาชีพที่ต้องเปลี่ยนแปลงไปโดยคุณค่าหรือประโยชน์ที่ได้รับนั้นต้องไม่น้อยกว่าเดิมก่อนที่จะถูกเวนคืนด้วย