“กัญชาทางการแพทย์” เป็นนโยบายที่สำคัญของกระทรวงสาธารณสุข โดยมีเป้าหมาย เพื่อให้นำพืชกัญชา ซึ่งเป็นสมุนไพรพื้นบ้าน มาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์และสุขภาพอย่างปลอดภัย แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีความกังวลของสังคม ถึงผลข้างเคียงและอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ไม่เหมาะสม
วันนี้ (10 พ.ย.) นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า “ปัจจุบันกระทรงสาธารณสุขได้กำหนดมาตรการ 5 ด้าน เพื่อสนับสนุนการใช้กัญชาอย่างปลอดภัย คือ 1. การส่งเสริมให้เกิดการใช้ที่เหมาะสม ผ่านการให้ความรู้ประชาชนทั้งเรื่องประโยชน์ เรื่องโทษ และการจัดทำแนวทางการใช้กัญชาทางการแพทย์ทั้งแผนปัจจุบันและแผนไทยที่ชัดเจน 2. การบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ 3. การเฝ้าระวังป้องกันการใช้ในทางที่ผิด โดยวางระบบรายงานเฝ้าระวังผลการใช้กัญชา ทั้งพิษจากกัญชาหรือปัญหาทางด้านจิตประสาท 4. การวางระบบการดูแลรักษาพยาบาลและบำบัดรักษา และ 5. การกำกับติดตามผลการขับเคลื่อนตามมาตรการที่กำหนด ในการติดตามและประเมินผลว่ามาตรการที่กระทรวงดำเนินการนั้น ทำให้เกิดผลลัพธ์สำคัญอะไรบ้าง กระทรวงสาธารณสุขได้ตั้งอนุกรรมการขับเคลื่อนนโยบายกัญชาทางการแพทย์ ที่มีบทบาทในการประสานความร่วมมือของหน่วยงานภายในกระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้เกิดการกำกับติดตามนโยบายอย่างเป็นระบบ และรายงานต่อคณะกรรมการขับเคลื่อนก้ญชาทางการแพทย์”
นพ.ศักดา อัลภาชน์ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะเลขาอนุกรรมการขับเคลื่อนนโยบายกัญชาทางการแพทย์ ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับระบบการกำกับติดตามนโยบาย ว่า “กระทรวงให้ความสำคัญกับการวางระบบการกำกับติดตามนโยบาย โดยสร้างสมดุลระหว่างการใช้อย่างเหมาะสม และความปลอดภัย ซึ่งในปีที่ผ่านมาในส่วนของการนำมาใช้ทางการแพทย์ สถาบันกัญชาทางการแพทย์ ร่วมกับกองบริหารการสาธารณสุข ขับเคลื่อนแผนพัฒนาระบบบริการสุขภาพ สาขากัญชาทางการแพทย์ โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงทั้งในส่วนสำนักงานปลัดกระทรวงและกรมวิชาการต่างๆ ได้ร่วมกันกำหนดตัวชี้วัด ซึ่งเป็นผลลัพธ์ที่เราอยากเห็นจากนโยบายกัญชาทางการแพทย์ คือ ผู้ป่วยได้ยาที่เหมาะสมกับความเจ็บป่วย โดยเฉพาะผู้ป่วยในระยะท้ายของชีวิต เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิต ลดภาระการดูแลของญาติ สร้างความเชื่อมั่นโดยงานวิจัยจากกรมวิชาการ ในส่วนการติดตามความปลอดภัย กองยุทธศาสตร์และแผนงานก็ช่วยกำหนดรหัสเพื่อให้เกิดการรายงานอาการไม่พึงประสงค์หรือความเป็นพิษ ของสถานพยาบาลในรูปแบบเดียวกัน ทั้งนี้เพื่อให้เกิดการนำข้อมูลไปใช้วางแผนและบริหารจัดการสถานการณ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศทางการแพทย์ ก็เข้ามาช่วยวางระบบการรายงานผลการดำเนินงานและสื่อสารผ่านเครือข่ายสารนิเทศของกระทรวง และทำความเข้าใจกับพื้นที่ในการทำงาน ตอนนี้เราจึงมีข้อมูลที่จะจัดการปัญหาได้อย่างเป็นระบบ ในส่วนของข้อห่วงใยทางสังคม เรามีระบบ social listening หรือ การรับฟังปัญหาของสังคมผ่านทางช่องทางสื่อวารต่างๆ ซึ่งตรงนี้เรามีระบบ แบบเรียลไทม์ ที่จะทำให้เราสามารถจัดการกับความเข้าใจ ข้อห่วงใยของสังคมได้อย่างทันท่วงที”
เลขาอนุกรรมการขับเคลื่อนฯ ยังกล่าวต่อว่า “เราทำงานกันแบบทีมฟุตบอล แบ่งหน้าที่เป็นกองหน้า กองหลัง กองกลาง ที่มีเป้าหมายตรงกัน คือให้คนไทยปลอดภัย ใช้กัญชาให้ถูก ให้เกิดประโยชน์ต่อสุขภาพ นอกจากนั้นแล้ว เรายังมองไปถึงระบบสนับสนุนอื่นๆ นอกเหนือจากระบบฐานข้อมูลที่กล่าวไปแล้ว เรายังมองเรื่องของการปรับปรุง ระเบียบของทางกระทรวง เช่น ระเบียบเงินบำรุง เพื่อส่งเสริมให้เกิดการนำกัญชามาใช้ประโยชน์ให้เท่าทันบริบทของสังคมและสุขภาพที่เปลี่ยนแปลงไปโดยกองกฎหมาย สำนักงานปลัดกระทรวงก็เข้ามาช่วย ทำงานควบคู่ไปกับกรม กองต่างๆ รวมถึงเรื่องของการเบิกจ่ายยากัญชา ที่ต้องไม่เป็นภาระกับประชาชน เพราะเป็นความจำเป็นทางด้านสุขภาพ โดยกองเศรษฐกิจสุขภาพและหลักประกันสุขภาพก็เข้ามาช่วยเชื่อมต่อ กับสำนางงานหนักประกันสุขภาพแห่งชาติ ให้เกิดการเบิกจ่ายยากัญชาได้ตามสิทธิการรักษาของผู้ป่วย” ทั้งนี้เลขานุการอนุกรรมการได้เน้นย้ำว่าไม่ว่าในปัจจุบันที่ยังมีข้อสงสัยของสังคมต่อความปลอดภัยของกัญชา ทางกระทรวงได้มีระบบการกำกับติดตาม จึงขอให้ประชาชนเกิดความมั่นใจ และติดตามข่าวสารจากกระทรวงสาธารณสุขต่อไป