เมื่อวันที่ 8 พ.ย.กรมป่าไม้แถลงเปิดพื้นที่ป่านันทนาการ ในเขตป่าสงวนแห่งชาติอีก 20 แห่ง ในปี พ.ศ. 2565 เพิ่มขึ้นจากปี พ.ศ. 2564 ที่ประกาศไปแล้ว 10 แห่ง โดยนายสุรชัย อจลบุญ อธิบดีกรมป่าไม้ เผยเป็นแหล่งเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ สร้างโอกาสทางเศรษฐกิจครบทุกมิติ เตรียมยกระดับการพัฒนาป่าชุมชน โดยจะนำร่องจัดเก็บค่าบริการสำหรับการเข้าใช้บริการป่านันทนาการที่มีความพร้อมให้บริการและอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน จำนวน 3 แห่ง เริ่มวันที่ 1 มกราคม 2565 โดยรายได้จะใช้ในการพัฒนาพื้นที่ป่านันทนาการให้เต็มศักยภาพ ต่อไป
นายสุรชัย อจลบุญ อธิบดีกรมป่าไม้ เปิดเผยว่า กรมป่าไม้พยายามยกระดับแนวทางการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์จากพื้นที่ป่าอย่างสมดุลและยั่งยืน เพื่อรักษาผืนป่าให้คงความอุดมสมบูรณ์ สร้างประโยชน์ให้กับประชาชนในพื้นที่ สร้างโอกาสและรายได้จากการท่องเที่ยว โดยนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2564 กรมป่าไม้ได้พัฒนาแนวทางการใช้ประโยชน์พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติในรูปแบบ “ป่านันทนาการ” กว่า 10 แห่ง ได้แก่ 1. ป่านันทนาการทะเลหมอกอัยเยอร์เวง จ.ยะลา 2. ป่านันทนาการหินสามวาฬ จ.บึงกาฬ 3. ป่านันทนาการน้ำตกเขาอีโต้ จ.ปราจีนบุรี 4. ป่านันทนาการบ่อสิบสอง จ.พะเยา 5. ป่านันทนาการน้ำพุร้อนโป่งปูเฟือง จ.เชียงราย 6. ป่านันทนาการดงรอยเท้าอาร์โคซอร์ จ.เพชรบูรณ์ 7. ป่านันทนาการภูผาหินบ้างมุง จ.พิษณุโลก 8. ป่านันทนาการถ้ำสิงห์ จ.อุดรธานี 9. ป่านันทนาการโบกลึก จ.อุบลราชธานี และ 10. ป่านันทนาการเกาะมุก จ.ตรัง โดยได้พัฒนาเป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจ และแหล่งเรียนรู้เรื่องราวธรรมชาติ รวมถึง เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศใน 10 จังหวัด ซึ่งได้รับการตอบรับจากชุมชนและนักท่องเที่ยวเป็นอย่างดี
อธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวต่อว่าสำหรับปี พ.ศ. 2565 กรมป่าไม้ ได้ดำเนินการประกาศ “ป่านันทนาการ” เพิ่มอีก 20 แห่ง ประกอบด้วย 1. ป่านันทนาการสวนป่ากิ่วทัพยั้ง จ.เชียงราย 2. ป่านันทนาการเขาส่องกระจกดอยแก้ว จ.ลำปาง 3. ป่านันทนาการม่อนคลุย จ.ตาก 4. ป่านันทนาการน้ำตกหินตั้ง จ.อุดรธานี 5. ป่านันทนาการเขาเสียดอ้า จ.นครราชสีมา 6. ป่านันทนาการภูผาสูง จ.นครราชสีมา 7. ป่านันทนาการน้ำตกวะภูแก้ว จ.นครราชสีมา 8. ป่านันทนาการภูแลนคาด้านทิศใต้ จ.ชัยภูมิ 9. ป่านันทนาการเนินช้างศึก จ.กาญจนบุรี 10. ป่านันทนาการเขาศูนย์ จ.นครศรีธรรมราช 11. ป่านันทนาการน้ำตกตาดม่าน จ.น่าน 12. ป่านันทนาการน้ำตกตาดหมอก น้ำตกวังเขียว และน้ำตกนางกวัก จ.น่าน 13. ป่านันทนาการน้ำตกผาร่มเย็น จ.อุทัยธานี 14. ป่านันทนาการห้วยทับเสลา จ.อุทัยธานี 15. ป่านันทนาการน้ำตกถ้ำพวง จ.อุบลราชธานี 16. ป่านันทนาการเขาแด่น จ.เพชรบุรี 17. ป่านันทนาการสวนป่าบางขนุน จ.ภูเก็ต 18. ป่านันทนาการเขาโต๊ะแซะ จ.ภูเก็ต 19. ป่านันทนาการเขาหว่าง-แหลมจมูกควาย จ.กระบี่ และ 20. ป่านันทนาการน้ำตกเฉลิมพระเกียรติฯ ร.9 จ.ยะลา ซึ่งคาดว่าจะสามารถรองรับนักท่องเที่ยว สร้างโอกาสและรายได้ให้กับชุมชนโดยรอบได้เป็นอย่างดี
“อย่างไรก็ตาม เพื่อการพัฒนาต่อยอดการดำเนินงานและพัฒนาพื้นที่ป่านันทนาการให้มีกิจกรรมที่หลากหลาย อีกทั้ง ดูแลพื้นที่ให้มีความสะอาดและสามารถยกระดับให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่โดดเด่นในพื้นที่ กรมป่าไม้ ได้กำหนดให้มีการจัดเก็บค่าบริการสำหรับการเข้าใช้บริการป่านันทนาการที่มีความพร้อมให้บริการและอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน จำนวน 3 แห่ง ได้แก่ 1. ป่านันทนาการหินสามวาฬ จ.บึงกาฬ 2. ป่านันทนาการน้ำตกเขาอีโต้ จ.ปราจีนบุรี และ 3. ป่านันทนาการทะเลหมอกอัยเยอร์เวง จ.ยะลา โดยจะเริ่มจัดเก็บค่าบริการในวันที่ 1 ม.ค.2566 เป็นต้นไป ซึ่งรายได้ทั้งหมดจะใช้ในการพัฒนาพื้นที่ป่านันทนาการ ต่อไป”นายสุรชัย กล่าวทิ้งท้าย