xs
xsm
sm
md
lg

ตรวจสอบที่ป่าสงวนราชบุรี หลังชาวบ้านร้องทุนจีนเตรียมเช่าพื้นที่กว่า 11,000 ไร่แทน บ.วิริยะเกษตรฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ราชบุรี - เจ้าหน้าที่จากหลายหน่วยงานลงพื้นที่ตรวจสอบที่ป่าสงวนบริเวณ ต.รางบัว อ.จอมบึง ต่อเนื่อง ต.ทุ่งหลวง อ.ปากท่อ จ.ราชบุรี หลังชาวบ้านร้องมีนายทุนชาวจีนเตรียมเช่าพื้นที่กว่า 11,000 ไร่ แทนที่ บ.วิริยะเกษตรอุตสาหกรรม พบมีคนใช้ประโยชน์อ้างจ่ายเงินให้ บ.วิริยะฯ

วันนี้ (4 พ.ย.) ที่ศูนย์ป่าไม้จังหวัดราชบุรี สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 10 (ราชบุรี) เลขาธิการเครือข่ายประชาชนต่อต้านคอรัปชั่น ได้เข้าพบกับ นายพัฒนะ ศริมัย ผอ.ศูนย์ป่าไม้ราชบุรี และนายวัชระ ละอออ่อน หัวหน้าหน่วยป้องกันรักษาป่าที่ รบ.1 จอมบึง ขอให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงหลังมีประชาชนร้องเรียนมาว่ามีกลุ่มนายทุนชาวจีนเตรียมเข้ามาลงทุนในพื้นที่ ต.รางบัว คาบเกี่ยว ต.ทุ่งหลวง ใน จ.ราชบุรี เนื้อที่กว่า 11,564 ไร่ ซึ่งเดิมเป็นของบริษัท วิริยะเกษตรอุตสาหกรรม จำกัด และบริษัท วีพียูคาลิปชิปวู้ด จำกัด เข้าทำประโยชน์อยู่ และได้สิ้นสุดสัญญาเพื่อปี 2545-2546 ซึ่งภายหลังได้มีการยื่นคำขออนุญาตเข้าทำประโยชน์ แต่ทางกรมป่าไม้ไม่อนุญาตให้เข้าทำต่อ

เมื่อวันที่ 23 เม.ย.64 บริษัทวิริยะเกษตรอุตสาหกรรม จำกัด ได้มีหนังสือขอยกเลิกคำขออนุญาตเข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัย  ทำให้ในปัจจุบัน พื้นที่ทั้งหมดกลับมาเป็นพื้นที่ป่าสงวนโดยความดูแลของกรมป่าไม้ ซึ่งในปัจจุบันยังไม่มีการอนุญาตให้กลุ่มนายทุน เอกชน หรือบุคคลใดใช้ประโยชน์

ทั้งนี้ หลังจากที่ทางคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้มีการยกเลิกมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2533 และมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2535 เกี่ยวกับการอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์พื้นที่ป่าไม้เพื่อการปลูกสร้างสวนป่าภาคเอกชน ได้มีกลุ่มเอกชนประชาชนทั่วไป รัฐวิสาหกิจได้เข้ามาดูพื้นที่ที่ บ.วิริยะเกษตรอุตสาหกรรม เคยใช้ประโยชน์ โดยมีหน่วยงานของกรมป่าไม้เป็นผู้ให้ข้อมูล และพาลงพื้นที่ซึ่งเป็นการทำตามหน้าที่อยู่หลายครั้ง

ล่าสุด ได้มีผู้เชี่ยวชาญจากประเทศจีน เข้ามาดูพื้นที่ดังกล่าวเพื่อวางแผนในการก่อสร้างโรงผลิตไฟฟ้าด้วยแผงโซลาร์เซลล์ ซึ่งขัดต่อการชี้แจงว่า อยากให้มีการส่งเสริมการปลูกสร้างสวนป่าภาคเอกชนเพื่อเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ เพราะการสร้างโซลาร์เซลล์ จำเป็นที่จะต้องถางป่าในการติดตั้ง

ต่อมา ผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่ตรวจสอบพร้อมนายวีระ และเจ้าหน้าที่ป่าไม้ บริเวณพื้นที่ดังกล่าว พบว่า มีรถขับเข้าออกอยู่หลายคัน มีการบรรทุกไม้ออกจากไร่ไปถนนใหญ่ซึ่งไม่ทราบว่ามาจากพื้นที่ส่วนไหน หลังจากลงพื้นที่เห็นว่ามีการใช้รถไถ ไถหน้าดินเพื่อทำการเกษตร โดยพื้นที่ดังกล่าวอยู่บริเวณใกล้เคียงกับพื้นที่ที่ บ.วิริยะฯ ได้รับอนุญาต ซึ่งอยู่ในเชตป่าสงวนแห่งชาติ และเขตปฏิรูปที่ดินซึ่งไม่ได้อยู่ในพื้นที่บริษัทเดิมได้รับอนุญาต จึงได้มีการสอบถามว่าเข้ามาทำได้อย่างไร

นายทินกร เหิมใจหาญ ชาว อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี ได้บอกกับทีมข่าวว่า ตนได้เข้ามาทำได้ประมาณ 1 ปี พื้นที่ 80 ไร่ โดยจ่ายเงินให้ บ.วิริยะฯ เป็นจำนวนเงิน 141 บาทต่อไร่/เดือน หลังจากพบว่ามีบุคคลเข้ามาทำประโยชน์ในพื้นที่ปฏิรูปที่ดินกับพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาตินั้น จะให้สำนักงานปฏิรูปที่ดินเข้ามาตรวจสอบร่วมกับกรมป่าไม้ ว่า มีการออกเอกสารให้บุคคลดังกล่าวหรือบุคคลอื่นหรือไม่ หากพบว่าไม่มีการออกเอกสาร ทางป่าไม้จะดำเนินคดีตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป

สำหรับพื้นที่ที่บริษัทเคยได้รับอนุญาต ณ ขณะนี้กรมป่าไม้ กับองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ มีแผนงานส่งมอบให้องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ ปลูกสร้างสวนป่า และยังไม่ได้มีการอนุญาตให้บุคคล หน่วยงาน หรือบริษัทเข้ามาใช้ประโยชน์ในพื้นที่แต่อย่างใด


กำลังโหลดความคิดเห็น